Home > Education > Universities > International > ชีวิตรันทดของนักศึกษาในสหรัฐอเมริกา ที่ประสบปัญหาขาดแคลนที่พัก

จากสถานการณ์การขาดแคลนที่อยู่อาศัยทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อ นักศึกษาในสหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องแย่งชิงบ้านและหอพักของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน ทำให้  University of Utah เผยว่าทางมหาวิทยาลัยยินดีจ่ายค่าเช่าให้ศิษย์เก่าที่แบ่งห้องให้นักศึกษาใหม่เช่า เทอมละ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากมีเด็กเข้าคิวรอท่ีพักมากถึง 3,500 ราย 

ทางมหาวิทยาลัยพบทางแก้ปัญหานี้ ด้วยการขอความร่วมมือจากศิษย์เก่าที่อาศัยอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัย และวางแผนที่จะจับคู่ศิษย์เก่ากับศิษย์ใหม่ที่มีความสนใจเหมือนๆกัน อยู่ร่วมบ้านกัน โดยจ่ายเงินให้แก่ศิษย์เก่าที่เป็นเจ้าของบ้าน เทอมละ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในชื่อโครงการ ‘Home Away from Home’ ซึ่งจัดให้ นักศึกษาในสหรัฐอเมริกา ในปัจจุบันทั้งปี 2 ถึงปี 4 พักอาศัยในบ้านที่ร่วมโครงการนี้ 

เบธานี ฮาร์ดวิก เจ้าหน้าที่ประสานงานศิษย์เก่าของ University of Utah บอกว่า เธอหวังว่าโครงการนี้จะช่วยเตรียมความพร้อมแก่ นักศึกษาในสหรัฐอเมริกา อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งขณะนี้มีศิษย์เก่าจำนวน 130 คนที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการในปีการศึกษาที่จะถึงนี้ เทอม Fall ปีที่แล้ว มีนักศึกษาเข้าเรียนใน University of Utah  ราว 34,000 คน และในเทอม Spring ปีนี้มี นักศึกษาในสหรัฐอเมริกา ลงชื่อในโครงการนี้กว่า 3,000 คนแล้ว 

นักศึกษาของ University of Utah เป็นหนึ่งในนักศึกษามหาวิทยาลัยจำนวนมากในสหรัฐอเมริกา ที่เจอวิกฤติขาดแคลนที่อยู่ และต่างต้องหาทางออกต่อปัญหานี้มากมายหลายอย่าง 

house shortage affect students in usa
Munger Hall Photo: University of California, Santa Barbara

University of California, Santa Barbara ก็เพิ่งจะถูกโจมตี เมื่อทางมหาวิทยาลัยวางแผนก่อสร้างหอพักที่มีหน้าต่างน้อยเกินไป เพื่อรองรับนักศึกษา 4,000 คน ตามเจตจำนงค์ของมหาเศรษฐีชาร์ลี มังเกอร์ อดีตมือขวาของวอร์เรน บัฟเฟต์ ซึ่งเป็นผู้บริจาค และให้เงื่อนไขในการออกแบบอาคารที่ไม่มีหน้าต่าง จนกลายเป็นประเด็นที่ทำให้สถาปนิกตัดสินใจลาออกจากโครงการกลางครัน เพราะรับไม่ได้ที่ต้องออกแบบหอพักที่ไม่ต่างอะไรกับคุก เนื่องจากแทบไม่มีหน้าต่างเอาเสียเลย  

Long Beach City College ก็แก้ปัญหาด้วยการจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย มาดูแลนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่ใช้ลานจอดรถเป็นหอพักกำมะลอ 

Demand > Supply = Chaos

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่ของนักศึกษา University of Utah ในขณะนี้ยิ่งฟังดูน่ากลัวมากขึ้นอีก เมื่อเทย์เลอร์ แรนดอลล์ ประธานมหาวิทยาลัยกล่าวว่า ในอนาคตอันใกล้ เขาวางแผนว่า จะเพิ่มอัตราการรับนักศึกษาเข้าเรียนเป็น 4 หมื่นกว่าคน 

ด้วยเหตุที่ปัจจุบันมีดีมานด์มากกว่าซัพพลาย ทำให้ค่าเช่าพุ่งสูงขึ้น นักศึกษาบางรายจึงเลือกพักในโมเต็ล หรือไม่ก็ขับรถไปกลับเป็นระยะทางไกล ไม่ก็อาศัยนอนในรถเอา 

house shortage affect students in usa
Photo: Unversity of California, Berkeley

เทอม Fall ปีที่แล้ว มหาวิทยาลัยในแคลิฟอร์เนียเรื่อยไปจนถึงฟลอริดา ต่างก็ปฏิเสธคำขอของนักศึกษาที่จะเข้าพักในหอพักของมหาวิทยาลัย ทำให้พวกเขาต้องอยู่กับบ้าน พักในโมเต็ล หรือไม่ก็นอนในรถ เนื่องจากค่าเช่าที่สูงลิบลิ่ว และหอพักที่มีจำนวนน้อยกว่านักศึกษา 

ปัญหานี้สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งลึกๆ ระหว่างมหาวิทยาลัยกับบรรดาชาวเมืองที่ไม่ต้องการให้มีการสร้างบ้านใหม่ เพื่อรองรับนักศึกษาที่พวกเขาบอกว่าทำให้แออัดและส่งเสียงดังรบกวน 

เดือนมีนาคมปีนี้ University of California, Berkeley มีความจำเป็นที่จะต้องจำกัดจำนวนการรับนักศึกษาใหม่ เนื่องจากมีเพื่อนบ้านร้องเรียนว่า ได้รับความเดือดร้อนจากการขยายตัวของมหาวิทยาลัย แต่มาเทอม Fall ปีนี้ ทางภาครัฐกลับอนุญาตให้มหาวิทยาลัยรับนักศึกษาใหม่เพิ่มมากขึ้นได้ แต่ไม่ได้อนุญาตให้สร้างหอพักเพิ่ม 

ค่าเช่าสุดโหด

นับตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2020 เป็นต้นมา ค่าเช่าบ้านทั่วสหรัฐอเมริกาเพิ่มสูงขึ้นถึง 17% แต่สำหรับเมืองมหาวิทยาลัยอย่างชาเปล ฮิลล์ และนอร์ทแคโรไลนา ค่าเช่าถีบตัวสูงขึ้นถึง 24% และในเทมเป้ อะริโซนา เพิ่มสูงถึง 31%

house shortage affect students in usa
ไอเดียการตกแต่งห้องใน University of California, Berkeley Photo: SOCIETY19

จากปีที่แล้ว ค่าเช่าบ้านในฟลอริดาซิตี้ก็พุ่งสูงถึง 30% ส่วนค่าเช่าในน็อกซ์วิลล์ ก็ทะลุ 36% ตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2020 เป็นต้นมา และจะยิ่งสูงขึ้นอีกหลังจาก University of Tennessee ประกาศใช้ระบบล็อตเตอรี่ในการจองหอพัก เพราะต้องการเก็บบ้านไว้ให้นักศึกษาน้องใหม่ซึ่งมีจำนวนมากกว่าเสียก่อน

ด้วยเหตุนี้ University of Tampa จึงเสนอทางเลือกให้นักศึกษาใหม่พักการจ่ายค่าเล่าเรียนก่อนได้ ถ้าพวกเขาเลื่อนการเรียนจากเทอม Fall ปี 2021 เพื่อมาเริ่มเรียนในเทอม Fall ปี 2022 แทน        

วิกฤตินี้ยังส่งผลกระทบแม้กระทั่งวิทยาลัยชุมชนหลักสูตร 2 ปี ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาไม่เคยต้องจัดเตรียมหอพัก ก็ต้องมานั่งทบทวนปัญหานี้ เพื่อจะสนองความต้องการของนักศึกษา เนื่องจากค่าเช่าบ้านที่เพิ่มสูงขึ้น 

ตุลาคมปีที่แล้ว Long Beach City College เปิดโครงการนำร่องด้วยการให้นักศึกษา 15 คนที่ไม่มีบ้านอยู่ สามารถจอดรถนอนในโรงรถของวิทยาลัย และใช้ห้องน้ำกับห้องอาบน้ำของวิทยาลัย และใช้ไฟกับสัญญาณอินเทอร์เน็ตระหว่างเรียนกับอาจารย์ ในช่วงที่พวกเขายังหาที่อยู่เป็นหลักแหล่งไม่ได้ 

สงครามที่พัก

แคลิฟอร์เนียมีความภาคภูมิใจกับ ระบบการศึกษาชั้นอุดมศึกษาอันแข็งแกร่งของตนเป็นอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญปัญหาการขาดแคลนที่พัก Berkeley เป็นแห่งหนึ่งที่ต้องเจอความยุ่งยากนี้ นักศึกษาต้องแย่งชิงที่พักที่ราคาพอจ่ายไหวและอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยในระยะทางเดินถึงอย่างดุเดือด  

house shortage affect students in usa
Photo: University of California, Bekeley

ยกตัวอย่างเช่น นักศึกษาวิชาเอก Urban Study ปีสุดท้ายของ UC Berkeley จากแอลเอ ซึ่งเป็นคนแรกของครอบครัวที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัย บอกว่า “ฉันไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจที่จะต้องเครียดกับการหาบ้านอยู่ทุกปีๆ” 

นักศึกษาสาวรายนี้วาดภาพไว้ว่าจะได้ใช้ชีวิตในหอพักมหาวิทยาลัยตลอดระยะเวลา 4 ปี แต่กลับพบตัวเองต้องมานั่งแย่งชิงที่นอนที่ปลอดภัยและพอจ่ายไหวแทน มาวันนี้เธอต้องอาศัยอยู่ในห้องใต้หลังคารวมกับเพื่อนอีกสามคน โดยที่คนหนึ่งต้องนอนในห้องกินข้าว 

โดยจ่ายค่าเช่าเดือนละ 3,700 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนับว่าแพงกว่าค่าเช่าในเมืองอื่นมาก แต่เธอก็รู้สึกขอบคุณที่ยังมีที่ให้พอซุกหัวนอน “ถ้าฉันไม่รู้จักที่นี่ ก็คงหนีไม่พ้นต้องต้องไปอาศัยอยู่ในห้องใต้ดิน หรือในอพาร์ตเมนท์ที่สาวๆ จะต้องรำคาญใจกับรอยรั่วและเชื้อรา” 

Basic Needs Center ของ UC Berkeley ซึ่งดูแลสวัสดิการของนักศึกษาและอาจารย์ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็น และพบว่านักศึกษา 1ใน 4 พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขา ‘ขาดที่นอนและที่พักที่ปลอดภัยเพียงพอ’

“เป็นปัญหาใหญ่สำหรับนักศึกษารุ่นนี้ ที่จะต้องประคองตัวผ่านมรสุมค่าครองชีพที่แพงลิบลิ่ว โดยขาดแรงสนับสนุนทางการเงินแม้สักกระผีก” รูเบน คาเนโอ ประธานร่วมคณะกรรมการของศูนย์กล่าว  

house shortage affect students in usa
Photo: University of California, Berkeley

ทอมป์สัน นักศึกษาวิชาเอกบริหารธุรกิจ มองหาอพาร์ตเมนท์ตั้งแต่พฤษภาคมปีที่แล้ว หลังจากเรียนออนไลน์ตอนปี 1 ที่บ้านเพื่อจะประหยัดค่าใช้จ่าย เขารู้ตัวอย่างรวดเร็วว่างบค่าเช่าบ้านจำนวน 750 ดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เขาตั้งไว้นั้นไม่เพียงพออีกต่อไป และพอขึ้นปี 2 ก็หมดสิทธิ์เข้าพักในหอพักของมหาวิทยาลัยได้อีก 

ปลายเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ทอมป์สันเริ่มเป็นกังวล เขาพยายามขับรถจากบ้านที่ซาคราเมนโต้ตั้งแต่ก่อนหกโมงเช้า เพื่อขับรถเป็นระยะทาง 130 กม.ไปเรียนที่ Berkeley  และขับรถกลับถึงบ้านตอนเที่ยงคืน เพื่อเลี่ยงรถติด 

แต่วงจรชีวิตแบบนี้โหดร้ายรันทดกับตัวเองจนเกินไป เขาจึงตัดสินใจนอนในรถ ช่วงแรกๆ เขาเลือกจอดรถในจุดที่ไม่มีป้ายจำกัดเวลาจอด จากนั้นก็ย้ายมาจอดตรงกลางระหว่างหอพักนักศึกษา 2 ตึก ซึ่งใกล้มหาวิทยาลัยขึ้นมาหน่อย และมีเสียงเพลงในงานปาร์ตี้ที่ทำให้เขาตื่นทั้งคืน 

ทอมป์สันนอนในรถอยู่นานเกือบสองสัปดาห์ จนกระทั่งเจ้าของบ้านรายหนึ่งเห็นใจทอมป์สัน เพราะเขาเองก็โตมาในครอบครัวฐานะยากจนเหมือนกัน ยอมปล่อยเช่าห้องสตูดิโอซึ่งใกล้มหาวิทยาลัยในระยะเดินถึง ในราคาเดือนละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งทอมป์สันหวังว่าจะได้อยู่ไปจนกระทั่งเรียนจบ

house shortage affect students in usa
Photo: Unsplash

ปัจจุบันยังมีนักศึกษาจำนวนมากท่ีไม่ทราบว่า สถานการณ์ที่พักรอบๆ UC Berkeley เป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่จะแจ้งให้นักศึกษารู้ตัวเสียก่อน และช่วยหาที่พักให้ 

นักศึกษาเอกรัฐศาสตร์คนหนึ่ง รู้สึกตื่นเต้นที่จะย้ายจากหอพัก ไปอยู่ในอพาร์ตเมนท์ขนาดสองห้องนอนกับเพื่อนอีกสามคน แม้จะเป็นอพาร์ตเมนท์เก่าแต่ราคาดี (เดือนละ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยที่เพื่อนร่วมบ้านของเธอเตรียมที่จะจ่ายค่าเช่าเดือนละ 5,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับสถานที่ปลอดภัยใกล้มหาวิทยาลัยอยู่แล้ว เมื่อมาได้ที่พักนี้จึงเหมือนส้มหล่น 

นักศึกษาผู้นี้ยังบอกอีกว่า ตอนนี้ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ไปเต็มๆก็คือเจ้าของบ้าน “พวกเขาอยากตั้งราคาเท่าไรก็ได้ตามใจชอบ เพราะรู้ว่ายังไงเราก็ต้องหาเงินมาจ่ายให้อยู่ดี เพราะพวกเราไม่มีทางเลือก นอกจากจะเลือกกินนอนและใช้ชีวิตในรถ”

ที่มา : businessinsider.com; latimes.com    

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.