ในโลกนี้ยังมีสถาบันการศึกษาคู่แข่งอยู่บ้าง ซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะได้ยินเรื่องเกี่ยวกับ Oxford และ Cambridge นอกจากจะแข่งขันทางด้านกีฬาแล้ว ยังแข่งการเรื่องการศึกษาสาขาต่าง ๆ อีกด้วย ยกตัวอย่างในบ้านเราก็คือจุฬา-ธรรมศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีการแกล้งกันเล่น ๆ แบบจริงจัง ทำให้แวดวงการศึกษาของโลกมีสีสันขึ้นมาก
Oxford และ Cambridge
สถาบันวิชาการอย่าง University of Oxford และ University of Cambridge นั้นนับเป็นสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศอังกฤษ โดยตั้งขึ้นเมื่อ 800 ปีที่แล้ว ผลิตนักวิทยาศาสตร์ นักเขียนและนักการเมือง รวมทั้งคนดังในหลายแขนง
โดยที่ University of Oxford เกิดก่อน ต่อมานักปราชญ์ราชบัณฑิตของ University of Oxford จำนวนหนึ่งหลบหนีภัยคุกคามจากผู้มีอำนาจในอ็อกซฟอร์ด มาก่อตั้ง University of Cambridge ในภายหลัง
ทั้งสองสถาบันจึงแข่งขันกันกลาย ๆ เรื่อยมา จนคนรุ่นหลังเรียกรวมสองสถาบันนี้ว่า Oxbridge และเป็นที่เข้าใจกันเรื่อยมาว่า University of Oxford ดังทางด้านมนุษย์ศาสตร์ ส่วน University of Cambridge ดังทางด้านวิทยาศาสตร์

เหตุที่ University of Oxford โด่งดังทางด้านการเมืองและวรรณคดีได้ ก็เพราะบรรดาลูกศิษย์ทั้งเก่าใหม่ต่างก็ใกล้ชิดกับชนชั้นนำของอังกฤษ ทำให้เป็นที่ดึงดูดเหล่านักเขียนและนักการเมืองให้มาเรียนที่นี่เป็นจำนวนมาก
มีคนนับเล่น ๆ ว่า นายกรัฐมนตรีอังกฤษ 11 คนนับจากโทนี่ แบลร์ จบ University of Oxford เป็นจำนวนถึง 8 คน ไม่มีใครจบ University of Cambridge เลย แต่ทว่าผู้ชนะรางวัลโนเบลจบจาก University of Cambridge เป็นจำนวนมากถึง 90 คน มากกว่า University of Oxford ถึง 30 คน แถมศิษย์เก่าของ University of Cambridge ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์นามอุโฆษยังมีอีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น ชาร์ลส์ ดาร์วิน, ไอแซค นิวตัน และสตีเฟน ฮอว์กกิ้ง
สำหรับประเพณีการแข่งเรือระหว่างสองสถาบันนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปีค.ศ.1829 เป็นการพายเรือบนแม่น้ำเทมส์ เป็นระยะทาง 6 กม. ครั้งแรก University of Oxford ชนะ แต่ต่อมา University of Cambridge ชนะถึง 85 ครั้ง ขณะที่ University of Oxford ชนะเพียง 80 ครั้ง นอกจากนี้ทั้งสองสถาบันยังมีการแข่งรักบี้กันอีกด้วย แต่ไม่เป็นที่รู้จักมากเท่าไร
Caltech VS MIT
California Institute of Technology หรือเรียกสั้นๆว่า Caltech กับ Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT มีประวัติศาสตร์แผลงๆร่วมกันมานาน แม้จะอยู่ห่างกันคนละฟากฝั่งของประเทศสหรัฐอเมริกา
Caltech นั้นอยู่ฝั่งเวสต์โคสต์ ในพาซาดีนา แคลิฟอร์เนีย ก่อตั้งเมื่อปีค.ศ.1891 ผลิตบัณฑิตปีละ 1,000 คน และมหาบัณฑิต 1,200 คน มีศิษย๋เก่าที่ได้รางวัลโนเบล 31 คน และได้รางวัล National Medal of Science or Technology 66 คน
ส่วน MIT ก่อตั้งเมื่อปีค.ศ. 1861 อยู่ที่เคมบริดจ์ แมสซาชูเซทท์ ฝั่งอีสต์โคสต์ สอนบัณฑิตปีละมากถึง 4,512 คน มหาบัณฑิตอีกปีละ 6,807 คน มีศิษย์เก่าที่ได้รางวัลโนเบลมากถึง 85 คน และได้รางวัล National Medal of Science or Technology 28 คน
แม้จะอยู่ห่างไกลกันถึง 3,000 ไมล์ แต่สองสถาบันนี้ก็จะแกล้งกันไปมา โดยไม่มีการแข่งขันทางด้านวิชาการหรือกีฬาต่างๆเหมือน Oxbridge แต่อย่างใด ไม่มีบันทึกว่าการกลั่นแกล้งกันเริ่มต้นขึ้นจากตรงไหน

แต่ครั้งที่เด่น ๆ เกิดขึ้นเมื่อนักเรียน MIT ปลอมตัวเป็นช่างก่อสร้าง บอกยามที่ Caltech ว่าได้รับคำสั่งให้มาย้ายปืนใหญ่อายุ 130 ปีหนัก 1.7 ตัน ซึ่งทาง Caltech จะยิงปืนใหญ่นี้ทุกวันสิ้นเทอม Ditch Day โดยนำไปตั้งหน้า Green Building ของ MIT และเล็งปลายกระบอกปืนไปทางพาซาดีนาซึ่งเป็นที่ตั้งของ Caltech แถมยังให้นักเรียนหญิงใส่ชุดบิกินี่มาถ่ายรูปกับปืนใหญ่อีกด้วย
Caltech จึงแก้มือด้วยการทำหนังสือพิมพ์ประจำมหาวิทยาลัย ลงข่าวปลอมเกี่ยวกับ MIT และไปแจกที่ MIT ส่วน MIT ก็แกล้งนำตู้ TARDIS ที่หน้าตาเหมือนตู้โทรศัพท์สาธารณะ ซึ่งทำเลียนแบบพร็อพไทม์แมชชีนในหนังไซไฟหลายเรื่องไปไว้บนหลังคา Baxter Hall ของ Caltech
การเล่นแผลง ๆ แบบนี้ นอกจากจะใช้แรงกาย ความขี้เล่น และกำลังเงิน ซึ่งอย่างหลังมากโขอยู่แล้ว ยังถูกมองว่าเป็นการระบายความเครียดอย่างหนึ่ง จากการคร่ำเคร่งเรียนหนังสือ โดยมีข้อแม้ว่า จะต้องเป็นการเล่นตลกที่สามารถแก้ให้เหมือนเดิมได้ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างถาวร มีความคิดสร้างสรรค์ และมาจากไอเดียของนักเรียนเอง
ซึ่งภายหลังธรรมเนียมนี้เริ่มเป็นที่ลืมเลือนแล้ว แม้ว่าทั้งสองสถาบันจะไม่ห้ามปรามการเล่นแผลง ๆ แบบนี้แต่อย่างใด
Wharton VS Columbia
Wharton School of the University of Pennsylvania เปิดสอนเมื่อปีค.ศ.1921 ส่วน Columbia Business School เริ่มสอนเมื่อปีค.ศ.1916 ตั้งอยู่ในเมืองนิวยอร์ค และมี Partnership Program กับ London Business School และ University of Hong Kong
นักเรียนของ Columbia มักจะเลือกพักในบรูคลิน ควีนส์ หรือไม่ก็อัพเปอร์เวสต์ไซด์ จึงคึกคักกว่า Wharton ซึ่งตั้งอยู่ในเขต Rittenhouse ของฟิลาเดลเฟีย ทำให้นักเรียนของ Wharton สนิทสนมกันมาก และตื่นตาตื่นใจไปกับความมีชีวิตชีวาของเมืองในระยะเดินถึง และค่าครองชีพก็ถูกกว่านิวยอร์ค

คนมักเข้าใจว่า 2 โรงเรียนนี้ เป็นโรงเรียนการเงิน แต่จริง ๆ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นโรงเรียนธุรกิจ Wharton อ้างว่ามีวิชาให้เลือกเรียนมากกว่าโรงเรียนธุรกิจแห่งอื่นในโลก ประมาณ 200 วิชาใน 11 ภาควิชา ไม่รวมวิชาเลือกของ University of Pennsylvania อีกมาก
ส่วน Columbia มีวิชาเลือกมากกว่า 130 วิชา และมีคอร์สให้เลือกมากกว่า 30 คอร์ส นอกจากนี้ Columbia ยังมีความได้เปรียบตรงที่ตั้งอยู่ในใจกลางแหล่งธุรกิจระดับโลก จึงสามารถเชื้อเชิญมืออาชีพในวงการหุ้นนอกตลาดและนักวาณิชธนากรมาบรรยายให้นักเรียนฟังได้
นักเรียนของ Wharton นั้นอายุเฉลี่ย 37 ปี มีประสบการณ์เฉลี่ย 13 ปี ส่วนใหญ่จบปริญญาโทแล้ว ส่วน Columbia อายุเฉลี่ย 34 ปี มีประสบการณ์เฉลี่ย 10 ปี และจบโทราว 8% และทั้งสองแห่งมีความเป็นนานาชาติสูง
ศิษย์ Columbia มักจะได้งานในแวดวงการเงินและที่ปรึกษาที่นิวยอร์ค ส่วน Wharton อยู่ในแวดวงเทค เป็นนักวิเคราะห์ข้อมูล หรือเป็นผู้ประกอบการ และกระจายไปตามหลายแหล่งของอเมริกาและทั่วโลก
ในแต่ละปี Columbia รับนักเรียนจำนวน 1,300 คน ส่วน Wharton รับนักเรียน 1,674 คน
จุฬา VS ธรรมศาสตร์
งานแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ เริ่มต้นเมื่อปี 2477 จากไอเดียของศิษย์เก่าที่เคยเป็นนักกีฬาฟุตบอลโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นำโดยพล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค บุศย์ สิมะเสถียร ซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองในสมัยนั้น ส่วนปถม ชาญสรรค์ ประสงค์ ชัยพรรค และประยุทธ สวัสดิสิงห์ ซึ่งเป็นนิสิตจุฬาฯ ก็เห็นดีด้วย
พวกเขาได้แรงบันดาลใจจากประเพณีแข่งเรือของชาว Oxford และ Cambridge หรือ Oxbridge จึงนำเรื่องนี้เสนอต่อศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผ่าน ศ.ดร.เดือน บุนนาค ซึ่งเป็นผู้ประศาสน์การ และเลขาธิการม.ธ.ในขณะนั้น และทางจุฬาฯ ก็เสนอเรื่องต่ออธิการบดี ฝ่ายสโมสรนิสิต ศ.ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล

โดยการแข่งขันครั้งแรกเกิดขึ้นที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2477 เก็บค่าผ่านประตูคนละ 1 บาท และนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายไปบริจาคให้องค์กรการกุศล ซึ่งได้ทำเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบันนี้ ตอนแรกคนดูมีจำนวนไม่มากเท่าไร ไม่มีอัฒจรรย์ ได้แต่ยืนเชียร์อยู่ริมสนามเป็นกลุ่มๆ
การแข่งขันครั้งที่ 5 ในปี 2481 จึงได้เริ่มมีขบวนพาเหรด และย้ายไปแข่งขันที่สนามกีฬาแห่งชาติ มีการแต่งตัวล้อการเมือง ซึ่งกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในเวลาต่อมา มีดรัมเมเยอร์ ซึ่งภายหลังยกเลิกไป มีเชียร์ลีดเดอร์ มีการแปรอักษร
การแข่งขันนี้เป็นการแข่งขันเพื่อกระชับสัมพันธ์ สร้างความสามัคคีระหว่างสถาบัน ไม่ได้มุ่งหวังชัยชนะแต่อย่างใด สมดังเจตนารมณ์ของเจ้าของไอเดีย
จะเห็นได้ว่า Oxford และ Cambridge ที่เป็นคู่แข่งทางวิชาการนั้น จริง ๆ แล้วก็แข่งกันฉันท์มิตร เช่นเดียวกันกับสถาบันอื่น ๆ หากคุณกำลังจะเลือกเรียนสถาบันไหนก็ควรเลือกตามความชอบ และสาขาที่จะเรียนจะดีที่สุด ซึ่งสถาบันดีๆ มีให้เลือกมากมาย ทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ
ที่มา : The Financial Times; Fortune; Wikipedia; cuaa.chula.ac.th; longtunman.com