Home > Education > Universities > คุยกับนักการตลาดคนเก่ง ผศ.ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ

หนังสือหนึ่งตั้งย่อมๆ ที่ล้วนเป็นหนังสือเกี่ยวกับการตลาดแบบญี่ปุ่น ของผู้ใช้นามปากกาว่า ‘เกตุวดี Marumura’ หรือ ผศ. ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ อาจารย์เกดแห่งภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้เขียน

ด้วยความหลงใหลในวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นความงดงามของชุดกิโมโน อาหาร ภาษา เพลง เฮลโล คิตตี้ โดราเอมอน ตลอดจนถึงแนวคิดเรื่องวาบิซาบิ ซึ่งล้วนทำให้ ผศ.ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ ดีใจที่สามารถสอบชิงทุนรัฐบาลญี่ปุ่นได้ ทั้งที่เธอสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงได้ด้วยเช่นกัน ผศ. ดร. กฤตินี พงษ์ธนเลิศ จึงเลือกที่จะเรียนต่อในแดนซากุระ เพราะอยากรู้จักความเป็นญี่ปุ่นให้ลึกซึ้งขึ้น 

ที่ 1 แห่งสายศิลป์-คำนวณ 

ผศ. ดร. กฤตินี พงษ์ธนเลิศ สอบเข้าเรียนเตรียมอุดมศึกษา ด้วยคะแนนอันดับ 1 ของสายศิลป์-คำนวณ แม้ว่าจะมีใจรักทางด้านภาษา แต่กลับตัดสินใจเอาดีทางศิลป์-คำนวณ เพราะไม่รู้ว่าถ้าเรียนศิลป์-ภาษาแล้ว จะทำงานด้านใดต่อ 

“ตอนอยู่ ม.ต้น รุ่นพี่บอกว่า ตรีโกณมิติเป็นวิชาที่ยากมาก ทำให้รู้สึกกลัววิชานี้มาโดยตลอด แต่เมื่อได้เรียนรู้แล้วก็รู้สึกว่าไม่ยากอย่างที่คิด เลยรู้สึกว่า ถ้าเราตั้งใจจริงก็มีทางไปเองแหละ”

krittinee pongthanalert
ผศ.ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ กับเวที TED Talk

หลังจบม.6 ผศ. ดร. กฤตินี พงษ์ธนเลิศ สอบได้ทั้งทุนเล่าเรียนหลวง และทุนรัฐบาลญี่ปุ่น แต่ด้วยความที่ชื่นชอบประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่เด็ก เธอจึงเลือกไปญี่ปุ่น 

“พอดีคุณพ่อคุณแม่เกดทำงานบริษัทญี่ปุ่น จะได้รับของฝากจากญี่ปุ่นค่อนข้างมาก และเจอเจ้านายของพวกท่านค่อนข้างบ่อย พอโตขึ้นก็ชอบอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น บวกกับตอนเรียนวิชาสังคม รู้สึกว่าทำไมญี่ปุ่นเจ๋งจังเลย เป็นเอเชีย แต่สามารถเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกได้ แม้ว่าจะแพ้สงคราม ทำให้เกดอยากรู้ว่าเขาทำได้ยังไง”

สำหรับการสอบชิงทุนรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อ 20 กว่าปีก่อนนั้น ผศ. ดร. กฤตินี พงษ์ธนเลิศ จะต้องผ่านการสอบอันโหดหิน

“ในจำนวนผู้สมัคร 800 คน จะมีแค่ 4 คนที่ได้ไป สำหรับสายศิลป์จะต้องสอบเลข ภาษาอังกฤษ และประวัติศาสตร์โลก ซึ่งปัจจุบันไม่ต้องสอบวิชาประวัติศาสตร์โลกอีกต่อไปแล้ว เพราะเป็นวิชาที่กว้างมาก แต่เกดตั้งใจมาก เข้าห้องสมุดไปอ่านเอ็นไซโคพีเดียเล่มหนาๆ ตั้งแต่อารยธรรมอียิปต์จนถึงสงครามโลกครั้งที่สองเลย เพราะไม่รู้ว่าเขาจะออกข้อสอบอะไร 

“สำหรับคนที่ได้ทุนนี้ จะต้องเรียนภาษาญี่ปุ่นที่เมืองไทยก่อน 3 เดือน และที่ญี่ปุ่นอีก 1 ปี ช่วงที่เรียนภาษาญี่ปุ่นเกดเครียดมาก เพราะไม่ใช่แค่ความยากของภาษา แต่เราต้องแข่งกับนักเรียนทุนจากประเทศอื่นด้วย และรัฐบาลญี่ปุ่นจะนำคะแนนภาษาของนักเรียนทุนจากทุกชาติไปเทียบดูว่า เราเข้ามหาวิทยาลัยไหนได้ 

อาจารย์เกดในชุดกิโมโนครบเครื่อง

“แปลว่าถ้าภาษาญี่ปุ่นคุณไม่ดี ก็จะได้เรียนมหาวิทยาลัยรองลงมา ซึ่งแข่งขันสูงมาก ก็เลยกดดัน ลองนึกภาพว่าจากคนที่ไม่รู้ภาษาเลย แต่มีเวลาแค่หนึ่งปีในการเรียนภาษา เพื่อให้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้ อาทิตย์หนึ่งเราต้องจำคำศัพท์ใหม่ให้ได้ 50 คำ”

เสียใจที่ได้เรียนในมหาวิทยาลัยอันดับ 2 แต่กลับได้ดีผิดคาด

อาจารย์ กฤตินี ได้เข้าเรียนใน Kobe University ซึ่งเธอเลือกเป็นอันดับ 2 ทั้งที่อยากเข้า Kyoto University ด้วยความชอบวัฒนธรรมโบราณ แต่แม้จะรู้สึกเสียใจที่ที่ผ่านมาซึ่งเคยได้ที่ 1 มาตลอด พอได้อันดับ 2 จึงรู้สึกผิดหวัง แต่ว่าเอาเข้าจริงเมื่อเธอได้เรียนแล้ว กลับผิดคาด เพราะเธอได้เรียนรู้สิ่งท่ีอยู่นอกตำรามากมาย

“ปีแรกช็อคมากกับห้องเลคเชอร์ซึ่งใหญ่มาก มีเด็กเข้าเรียนทีละ 500 คน มีกระดานเลื่อนได้อยู่ 6 แผ่น (หัวเราะ) ซึ่งเราไม่เคยเรียนคลาสใหญ่ขนาดนี้มาก่อนเลย และที่แตกต่างอีกอย่างคือ เขามีระบบที่เรียกว่า สัมมนา ที่เราสามารถเลือกอาจารย์ได้ เราจะเรียนวิชาดังกล่าวกับอาจารย์คนเดียวกันเป็นเวลา 2 ปี 

“ความสนุกอยู่ที่อาจารย์ไม่สอน แต่จะให้แต่ละคนอ่านหนังสือไม่ซ้ำกันเลย แล้วจะต้องมาเล่าเรื่องหนังสือให้คนอื่นฟัง และเขียนว่าเราได้เรียนรู้อะไรบ้าง ทำให้เกดเจอหนังสือที่เปลี่ยนชีวิตเกด นั่นคือเรื่อง สร้างโลกไร้จน ของมูฮัมหมัด ยูนุส ประธานธนาคารกรามีน เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ เกดได้รู้จักคำว่า Social Enterprise จากเล่มนี้” 

นอกจากนี้อาจารย์ กฤตินี ยังได้เรียนวิชาสัมมนา Business Strategy กับอาจารย์ที่เคยสอนที่ Harvard Business School ซึ่งเก่งกาจในเรื่องกลยุทธ์ และเคยสั่งให้นักศึกษาพล็อตกราฟยอดขายตลอด 20 ปีที่ผ่านมาของบริษัท 2 แห่งที่เป็นคู่แข่งกัน 

อาจารย์การตลาดคนเก่งแห่งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เธอต้องเข้าห้องสมุดไปนั่งไล่ดู Annual Report ย้อนหลัง เพื่อจะให้อาจารย์ตั้งคำถามว่าเพราะอะไรยอดขายปีนี้ปีนั้นถึงไม่เหมือนเดิม เธอก็ต้องกลับไปหาข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้นในปีนั้นๆ มีแบรนด์ไหนออกสินค้าใหม่ เขามีวิธีปรับกลยุทธ์อย่างไร 

“เป็นการเรียนที่สนุกมากค่ะ เพราะอาจารย์ปล่อยให้เราหาคำตอบด้วยตัวเอง ตอนอยู่ปี 1 เกดได้เกรดครบทุกระดับเลย ทั้ง A, B. C (หัวเราะ) เพราะเกดแปลความหมายโจทย์ของข้อสอบบางวิชาผิด เลยได้ C แต่เกดก็ฮึดสู้มาเรื่อย จนสุดท้ายได้เกรดเฉลี่ย 3.87”

 เลือกเรียนการตลาดในช่วงโค้งสุดท้าย 

ก่อนจะเรียนต่อปริญญาเอก อาจารย์ กฤตินี ซึ่งเรียนเศรษฐศาสตร์ทั้งปริญญาตรีและโท ค้นพบตัวเองว่าไม่ได้ชอบเศรษฐศาสตร์มากเท่ากับการตลาด ซึ่งเธอชอบมาตั้งแต่เด็ก 

“เกดมีญาติ 2 คน คนหนึ่งทำงานอยู่ยูนิลีเวอร์ อีกคนอยู่ฟิชโช เวลาออกแคมเปญใหม่ๆออกมา เขาจะมาคุยกับเรา หรือเอานิตยสาร Marketeer กับ Brandage ที่พี่เขาอ่านแล้วมาให้อ่านต่อ เราอ่านแล้วสนุก แต่การตลาดทำให้คนมีกิเลสเยอะ 

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้จุดประกายการตลาดแบบญี่ปุ่นขึ้นในไทย

“ตอนเรียนตรีกับโท เราอยากเป็นนักเศรษฐศาสตร์การเมือง อยากช่วยเหลือประเทศชาติ ก็เลยทิ้งความชอบเรื่องการตลาดไป พอจะเรียนอีก ก็เลยคิดว่าฉันคงเป็นนักการเมืองไม่ได้ สู้ทำอะไรที่ตัวเองชอบดีกว่า ก็เลยเลือกเรียนการตลาด”

การเรียนวิชามาร์เก็ตติ้งที่ญี่ปุ่น ไม่เหมือนที่อาจารย์ กฤตินี เขียนในหนังสือของเธอเลยสักนิดเดียว เพราะอาจารย์ให้เธอเรียนจากตำราของตะวันตก เพียงแต่ใช้ตัวอย่างเป็นเคสของคนญี่ปุ่นเท่านั้นเอง 

แม้ว่าที่ผ่านมาอาจารย์เกดของลูกศิษย์ที่จุฬาฯ จะประสบความสำเร็จในชีวิตการเรียนมาโดยตลอด แต่กลับมาสะดุดตอนเรียนปริญญาเอก อาจารย์ กฤตินี จึงตัดสินใจพักการเรียนเป็นเวลานาน 1 ปี เพราะไม่มีความสุขกับการทำวิจัย 

“เกดเห็นรุ่นพี่ในคณะบางคน ที่เรียนปริญญาเอกแล้วเกิดอาการจิตตก ก็เลยคิดว่าการเรียนเอกคงยากมาก ฉันไม่อยากเป็นอย่างนั้น พอทำวิจัยแล้วไม่สนุก ก็เลยอยากเลิก เลยทำเรื่องพักการเรียน แต่พอได้สอนหนังสือที่จุฬาฯ ยังไงก็ต้องเรียนปริญญาเอก 

“เลยกลับไปฮึดเรียนต่อ เลยได้ค้นพบว่า เราเก็บ data เสร็จตั้งแต่ตอนเรียนปริญญาโทแล้ว เหลือแต่วิเคราะห์ข้อมูลและเขียนวิทยานิพนธ์ รู้งี้ไม่หยุดเรียนดีกว่า” เจ้าตัวพูดพลางหัวเราะขำอดีตที่ผ่านมาของตัวเอง   

ติดตามประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียนของอาจารย์ กฤตินี ต่อไปได้อย่างสนุกสนาน ในนิตยสาร HELLO! Education ปี 2021     

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.