Home > Education > ‘แหวนแหวน – ปวริศา เพ็ญชาติ’ กับบทบาทอาจารย์ยุคโควิด

ปฏิเสธไม่ได่ว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่านั้นสร้างความเปลี่ยนแปลงไปในทุกวงการจริงๆ โดยเฉพาะในวงการการศึกษาที่ได้รับผลกระทบอยู่ไม่น้อยกับรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ ที่ทั้งครูอาจารย์และนักเรียนต่างต้องร่วมมือกันเป็นพิเศษ 

ซึ่งคุณแหวนแหวน-ปวริศา เพ็ญชาติ สาวสวยเซเลบริตี้คนดังในฐานะอาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ และบริหารธุรกิจ และวิชา Introduction to Business ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หลักสูตรอินเตอร์ ต่างก็ต้องปรับตัวเพื่อให้ประสิทธิภาพการสอนยังคงอยู่เช่นกัน 

อาจารย์แหวนสอนวิชาอะไรบ้าง?

“สอนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพหลักสูตรอินเตอร์ค่ะ ซึ่งปีหน้าจะสอนมาครบ 11 ปีแล้ว หลักๆสอนจะวิชา Economics ค่ะ แต่บางเทอมก็สอน Management กับ Marketing ด้วยค่ะ”

จุดเริ่มต้นของบทบาทการเป็นอาจารย์ 

“เห็นคุณแม่เป็นอาจารย์ตั้งแต่เด็กค่ะ ตอนเด็กๆเลิกเรียนแล้วบางทีก็ไปหาคุณแม่ที่มหาวิทยาลัย จะเห็นว่าคุณแม่เป็นอาจารย์ที่สวย และเป็นขวัญใจเด็กๆมาก (คุณแม่สอนที่ ม.กรุงเทพเหมือนกัน) เลยก็มีความฝันว่าโตขึ้นอยากเป็นอาจารย์บ้าง ประกอบกับการที่เราจบปริญญาตรีและปริญญาโทที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ดันมาทำงานสายบันเทิง คุณพ่อคุณแม่กลัวจะลืมวิชา พอจบปริญญาโทปุ๊บเลยมาสมัครเป็นอาจารย์ที่นี่เลยค่ะ”

แบ่งเวลาอย่างไรกับบทบาทอาจารย์และความรับผิดชอบอื่นๆ 

“แหวนจะมีวันสอนแบบประจำ 1 วันต่ออาทิตย์ค่ะ และจะทุ่มเทเวลาให้การสอนเต็มๆ วันเดียวเลยวันนั้น เพื่อจะได้ไม่กระทบกับตารางงานอื่นๆ แต่ช่วงสอบและช่วงส่งเกรดก็จะเหนื่อยหน่อย เพราะแหวนชอบให้ข้อสอบเป็นข้อเขียนเพราะอยากทดสอบว่าเข้าใจบทเรียนแค่ไหน ทำให้ตอนตรวจบางทีไม่ได้นอน 3 คืนเลยก็มี เพราะต้องนั่งอ่านข้อสอบทั้งหมด บางทีต้องยกข้อสอบกลับมาตรวจเป็นลังเลยค่ะ”

เคยแจกเกรด F นักศึกษาบ้างมั้ย

“แหวนนี่อาจารย์สายโหดนะคะ ไม่มีการอะลุ่มอล่วย ตกคือตก เราต้องรักษามาตรฐานคุณภาพของการสอน และยุติธรรมต่อนักศึกษาทุกคนโดยเฉพาะคนที่ตั้งใจเรียน แหวนเคยให้  F คลาสเดียวเกือบ 30 คน (จากนักศึกษา 80 คน) จนโดนอธิการบดีเรียกเข้าพบเลยว่าเกิดอะไรขึ้น”

อุปสรรคการสอนในช่วงโควิด  

“อุปสรรคหนักมากค่ะ New Normal Classroom ช่วงแรกๆจะแบ่งนักศึกษาให้เรียนทางออนไลน์ครึ่งหนึ่ง และเรียนในห้องเรียนอีกครึ่งหนึ่ง เพื่อให้เข้ากับช่วง Social Distancing ต้องสอนแบบมองนักเรียนในห้องไป และมองนักเรียนในหน้าจอคอมพิวเตอร์ไปด้วย ก็พยายามปรับที่ตัวเราให้ได้มากที่สุด 

แต่พอสถานการณ์ระบาดรุนแรงขึ้นเราก็ต้องเปลี่ยนเป็นออนไลน์ทั้งหมด ทำให้ classroom vibe ทุกอย่างหายไปหมดเลย ไม่มี interaction ในคลาส และการวัดผลทำได้ยากมากๆ ต่อให้ข้อสอบเป็นข้อเขียนมีจับเวลา แต่นักศึกษาไม่ได้มานั่งอยู่ในห้อง แม้จะเปิดกล้องแต่หากเขาแอบเปิดมือถือใต้โต๊ะหรือให้ใครส่งคำตอบมาให้เราก็ไม่สามารถรู้ได้ บางทีเจอนักศึกษาอ้างสัญญานไม่ดี อ้างว่ามีปัญหาตื่นมาเรียนไม่ไหวเพราะ time zone แตกต่างกันและอีกมากมาย (เพราะนักศึกษาแหวนเกินครึ่งห้องเป็นต่างนักศึกษาชาติ) การประเมินผลก็ต้องทำเป็น assignment base หมด ซึ่งแหวนก็ต้องพิจารณาหนักกว่าเดิมเพราะต้องนั่งตรวจ assignment เทอมหนึ่งเป็นพันๆหน้า”

อาจารย์แหวนคิดว่าทักษะแบบไหนสำคัญกับเด็กยุคใหม่ที่สุด ?

“ทักษะในการอัปเดตและปรับตัวได้เร็ว รวมทั้งการมี creativity นั้นสำคัญมากค่ะ ทุกวันนี้โลกหมุนไปเร็วมาก เราต้องคอยสังเกตสิ่งรอบตัวเรา หาข้อมูลใหม่ๆตลอดเวลาและต้องคิดให้นอกกรอบ สร้างความแตกต่าง ไม่เช่นนั้นเราก็จะไม่สามารถสร้างจุดยืนที่โดดเด่นกับคู่ต่อสู้ได้ โดยเฉพาะทุกวันนี้ในช่วงที่เศรษฐกิจฝืดเคืองทำให้การแข่งขันสูงมากๆ ตั้งแต่การสมัครหางานไปจนถึงการทำธุรกิจ ถ้าเราไม่มีจุดยืนและจุดเด่นที่ชัดเจนก็จะอยู่รอดได้ยากมากๆ”

เรียกได้ว่าเป็นยุคที่ท้าทายบทบาทการเป็นอาจารย์เป็นอย่างมาก แต่คุณแหวนแหวนก็ได้ใช้ประสบการณ์กว่า 11 ปี และจิตวิญญาณความเป็นอาจารย์พยายามพัฒนาการสอนให้เข้าถึงนักศึกษาได้เป็นอย่างดี นับว่าเป็นยุคที่ทุกคนต่างก็ต้องปรับตัวอย่างแท้จริง 

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.