เป็นความตั้งใจของคุณพ่อคุณแม่ ที่อยากให้ลูกสามารถพูดได้มากกว่าหนึ่งภาษา แต่รู้ไหมว่าการพูดได้สองภาษา (Bilingual) กับการคล่องภาษา (Fluent) นั้นต่างกัน การพูดภาษาที่สองได้อย่างคล่องแคล่วก็เหมือนกับการท่องสูตรคูณ เพราะจะต้องมีการคิดก่อนพูด ไม่เหมือนเด็กที่พูดสองภาษาที่สามารถพูดภาษาที่สองได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยไม่ต้องคิดเลย
หลักการเรียนรู้ภาษาของสมอง
ในช่วงเดือนแรกของทารก ทารกแรกเกิดจะพัฒนาการเชื่อมต่อของจุดประสานประสาทได้เร็วถึง 3 พันล้านครั้งต่อวินาที ทุกอย่างที่ทารกได้ยิน มองเห็น สัมผัส ลิ้มรส และรู้สึกจะถูกสมองซึมซับไว้ตลอด
ในช่วงหนึ่งถึงหกเดือนแรกของทารก ทารกจะสามารถทำเสียงที่ใข้ในทุกภาษาที่มีในโลก และสามารถออกเสียงตามคำพูดที่ได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นภาษาอะไรก็ตาม

ในช่วงหกถึงแปดเดือนแรกของทารก สมองของเด็กวัยนี้จะมีการเชื่อมต่อของจุดประสานประสาทมากถึง 1,000 ล้านล้านครั้ง แล้วจากนั้นก็จะค่อยๆลดลง ในช่วงวัยนี้สมองจะค่อยๆลดการเชื่อมต่อในส่วนที่ไม่ได้ใช้งานให้อ่อนแอลง และเพิ่มจำนวนครั้งของการเช่ือมต่อในส่วนที่ใช้งานบ่อยทำให้สมองส่วนนั้นแข็งแรงขึ้น
วัยสิบขวบ ช่วงนี้สมองจะลดการเชื่อมต่อของจุดประสานประสาทลงครึ่งหนึ่ง ทำให้ประสิทธิภาพของสมองลดลง จนเหลือเท่ากับความสามารถของสมองผู้ใหญ่โดยเฉลี่ย ซึ่งจะมีการเชื่อมต่อของจุดประสานประสาท 500 ล้านล้านครั้ง
วัยสิบสองขวบ ก่อนหน้านี้สมองเด็กก็เหมือนฟองน้ำที่คอยซึมซับภาษา เป็นช่วงที่สมองสร้างรากฐานสำหรับการคิด ภาษา สายตา ทัศนคติ ความถนัด และบุคลิกลักษณะอื่นๆ สมองจะหยุดพัฒนาเมื่อถึงวัยนี้ เพราะฉะนั้นการเรียนสองภาษาหรือสามภาษา จึงควรเริ่มต้นได้เร็วเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น
เริ่มต้นที่สามขวบ
ผลการวิจัยของ Harvard University ตอกย้ำว่า เด็กที่เรียนภาษาที่สองตั้งแต่ยังเล็ก จะช่วยเพิ่มทักษะทางความคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ และความยืดหยุ่นของสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเรียนก่อนสามขวบ ที่เชื่อว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญยิ่งสำหรับชีวิตเด็ก ซึ่งถ้าเด็กเข้าเรียนในช่วงวัยนี้ก็จะเป็นการเรียนรู้ผ่านการเล่น อันเป็นวิธีการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติ เหมาะกับการเรียนแบบสองภาษา หรือสามภาษาเลยก็ได้ โดยไม่ใช่การพยายามยัดเยียดความรู้ให้แก่เด็กมากจนเกินไป

ทำอย่างไรถ้าภาษาที่สองกลับมาแทนที่ภาษาแม่
ในกรณีที่เด็กยังไม่พัฒนาทักษะภาษาแม่ได้แข็งแรงพอ แล้วถูกยัดเยียดให้เรียนภาษาที่สอง ตรงนี้ผู้ปกครองจึงควรระมัดระวัง เพราะว่าเด็กอาจจะลดหรือแม้กระทั่งตัดการเรียนรู้ทักษะภาษาแม่บางอย่างออกไป เพื่อจะได้มีเวลามากพอที่จะเรียนรู้ภาษาที่สอง เพราะฉะนั้นการเรียนภาษาที่สองเมื่อตอนวัยรุ่น ซึ่งมีทักษะภาษาแม่ที่เพียงพอแล้ว ก็ใช่ว่าจะสายเกินไปที่จะได้สำเนียงการพูดแบบเจ้าของภาษา
การวิจัยในปี 1987 และ 1991 พบว่า เด็กที่จมจ่อมอยู่กับการเรียนภาษาที่สองเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นในเนิร์สเซอรีส์หรือเตรียมอนุบาล จะไม่สามารถเรียนภาษาแม่ได้ดีเท่าที่ควร ผู้ปกครองกลัวลูกจะไม่เก่งภาษาที่สอง ก็เลยจัดเต็มพูดแต่ภาษาที่สองกับลูกที่บ้านตลอดเวลา จนลืมภาษาแม่ ซึ่งทำให้เด็กสับสนและเสียความมั่นใจยามพูดภาษาแม่ไปเลย
การสอนทักษะสองภาษาจึงควรทำควบคู่กัน ไม่เทไปด้านใดด้านหนึ่ง สังเกตจากลูกครึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต่างภาษากัน ก็ควรจะพูดคุยกับลูกด้วยภาษาแม่ของตนเอง การทำเช่นนี้เด็กจะเรียนรู้ภาษาได้อย่างเป็นธรรมชาติ
ที่มา : brainscape.com; parent.com; britishcouncil.vn