กลายเป็นคำถามว่า เราต้องทำอย่างไรเพื่อจัดการปัญหาลูกทะเลาะกัน ดร.เรย์มอนด์ ราด บอกว่า การที่ลูกทะเลาะกันช่วยให้เด็กเรียนรู้วิธีรับมือความขัดแย้ง และทำให้พวกเขาเข้าใจวิธีการตอบโต้กับเด็กอื่น สำหรับบางคนแล้วการทะเลาะกันในวัยเด็ก จะกลายเป็นเรื่องตลกที่เล่าสู่กันฟังเมื่อโตขึ้น
ต้นตอของการที่เด็กทะเลาะกัน ก็เพราะเด็กยังไม่สามารถคิดทบทวนว่า อะไรทำให้พวกเขาโมโห หรือยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ ก็เลยลงท้ายด้วยการตีกันเป็นธรรมดา
การถูกเปรียบเทียบก็เป็นอีกสาเหตุของความขัดแย้ง เพราะลูกที่ยิ่งอายุไล่เรี่ยกันมากเท่าไร ก็จะยิ่งทะเลาะกันมากขึ้นเท่านั้น เพราะพวกเขาเติบโตมาใต้หลังคาเดียวกัน อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเดียวกัน ได้รับการเลี้ยงดูมาไม่ต่างกัน ทำให้ถูกเปรียบเทียบเสมอ ทั้งในเรื่องผลการเรียน และทักษะด้านกีฬา หรือแม้กระทั่งแย่งกันเป็น ‘ลูกคนโปรด’ ของคุณพ่อคุณแม่

วิธีจัดการเวลาลูกๆทะเลาะกัน
- เราควรปฏิบัติกับลูกๆด้วยความยุติธรรม โดยไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะปฏิบัติกับลูกวัยแปดขวบ เหมือนกับลูกวัยสี่ขวบ คุณพ่อคุณแม่โดยมากมักจะให้อภิสิทธิ์แก่น้องมากกว่าพี่ ถ้าคุณพ่อคุณแม่บอกลูกคนโตว่าหนูจะต้องเข้านอนก่อนสี่ทุ่มนะ แล้วคนน้องก็จะได้อภิสิทธิ์ตามผู้เป็นพี่ไปโดยปริยาย เพราะคุณพ่อคุณแม่ไม่อยากมีปัญหา ก็อาจทำให้ลูกคนโตรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม กลายเป็นจุดเริ่มของรอยร้าวระหว่างพี่น้อง
- หลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบลูกในแง่ลบ อย่างการพูดว่า ‘ทำไมหนูถึงไม่รู้มากกว่าน้อง ทั้งที่หนูโตกว่าน้อง’ หรือ ‘หนูเป็นตัวสร้างปัญหา’ อาจทำให้เด็กรู้สึกเจ็บปวดหรือโกรธ
- หาสาเหตุที่ทำให้ลูกทะเลาะกัน เพราะจะช่วยให้คุณยื่นมือเข้าไปยุติเหตุการณ์ได้อย่างพอดิบพอดี ถ้าหากลูกคนหนึ่งผลักอีกคนหนึ่งและแย่งของเล่นไป คุณต้องเข้าไปช่วย ถ้าไม่ช่วย ลูกจะคิดว่าการที่พวกเขาใช้กำลังแก้ปัญหาช่วยให้ได้ในสิ่งท่ีตัวเองต้องการ

- ตั้งกฏบ้านเพื่อให้ลูกรู้ว่าควรทำอย่างไร คุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติตามกฏนี้อย่างเคร่งครัดด้วยเช่นกัน
- มีแผนการ คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้วิธีรับมือกับการท่ีลูกทะเลาะกันด้วยเรื่องเล็กๆน้อยๆ ได้ดีพอๆกับการทะเลาะครั้งใหญ่ หรือการทะเลาะที่ทำให้เลือดตกยางออก
- คุณพ่อคุณแม่ควรนับ 1 ถึง 10 แล้วจึงค่อยห้ามลูก เพื่อป้องกันการใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง ถ้าไม่ไหว ก็ควรให้ผู้ใหญ่คนอื่นช่วย ส่วนคุณหลบไปสงบสติอารมณ์เสียก่อน
- บางทีอาจเป็นไปได้ว่าลูกเป็น ADHD (สมาธิสั้น) ซึ่งทำให้ควบคุมพฤติกรรมได้ยาก คุณพ่อคุณแม่ควรหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ
ที่มา : bbc.com, raisingchildren.net.au