Home > Fashion > Celebrity Style > วิภู ศรีวิลาศ ศิลปินเซรามิกระดับโลก

จากเครื่องประดับดินญี่ปุ่น งานฝีมือที่ประสบความสำเร็จด้านยอดขายอย่างสูงเมื่อครั้งยังศึกษาที่วิทยาลัยช่างศิลป สร้างแรงผลักดันให้คุณวิภู ศรีวิลาศ เลือกศึกษาต่อด้านงานปั้นเซรามิกอย่างจริงจัง

ศิลปินต้นแบบ

“อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต เป็นตัวอย่างในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการทำงานอย่างละเอียดอาจารย์เป็นคนที่ทำงานน้อย แต่ทำงานอย่างประณีตและทำอย่างดีที่สุด เขียนพอร์เทรตได้เป็นที่หนึ่ง จนใครๆต้องนึกถึงหากเป็นรูปแนวนี้ โดยที่อาจารย์ไม่ได้หวั่นไหวว่าจะต้องเปลี่ยนไปสร้างศิลปะแนวอื่นตามกระแสนิยมไม่เคยเปลี่ยนฝีแปรงไปเขียนรูปแนวคิวบิสม์หรือโมเดิร์นคอนเทมโพรารี ท่านยืนยันในตัวเองว่าจะสร้างงานในลักษณะนี้ จนประสบความสำเร็จในแนวทางของตัวเองได้ในที่สุด เป็นตัวอย่างในฐานะศิลปินว่าถ้าทำงานในแบบของตัวเอง ก็ไม่ต้องหวั่นไหวไปตามเสียงติชมรอบข้างเพราะในการทำงาน จะให้ถูกใจทุกคนคงเป็นไปไม่ได้ต้องมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ อาจารย์เป็นศิลปินที่เห็นรูปแบบการสร้างงานแล้วรู้สึกว่าอยากทำให้ได้อย่างนี้บ้างครับ”

เครือข่ายชุมชนศิลปะ

“การเป็นศิลปินต้องอาศัยองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้ฝีมือ ก็คือเครือข่ายหรือเน็ตเวิร์ก ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากศิลปินเซรามิกชาวออสเตรเลียแจเน็ต แมนส์ฟิลด์ ที่นอกจากจะสร้างงานของตัวเองแล้วยังมีแกลเลอรี่และมีนิตยสารของตัวเอง จึงรู้จักผู้คนหลากหลายสาขา ซึ่งแจเน็ตมักจัดงานให้คนในวงการต่างๆ ได้มาพบปะแลกเปลี่ยนความคิดและคอนเน็กชั่นกัน สร้างชุมชนศิลปะใหม่ๆ ขึ้นมา”

“จึงนำแนวคิดของแจเน็ตมาต่อยอดเป็นโครงการศิลปินแลกเปลี่ยน จัดให้ศิลปินเซรามิกจากประเทศต่างๆ มาสร้างงานร่วมกัน เช่นศิลปินออสเตรเลียกับศิลปินไทย หรือศิลปินเกาหลีเพราะเราเห็นว่าศิลปินรุ่นใหม่ๆ สิ่งที่ยังขาดคือโอกาสโครงการนี้มีศิลปินรุ่นใหญ่ 3 คน แต่ละคนจะเลือกศิลปินออสเตรเลียและเกาหลีอย่างละคนมาทำงานด้วยกัน 5 สัปดาห์ ระหว่างทำงานเกิดการเรียนรู้และได้เครือข่ายซึ่งปกติจะไม่ได้มาเจอศิลปินใหญ่ๆ แบบนี้ได้ง่ายๆ โอกาสที่จะก้าวกระโดดในอาชีพจะมีสูงขึ้น เป็นสิ่งที่ได้แรงบันดาลใจจากแจเน็ตเต็มๆ ทุกครั้งที่งานเสร็จสิ้น ได้เจอคนที่ได้ประโยชน์จริงๆ เดินมาบอกว่างานนี้เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิต ฟังแล้วเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงยอมเหนื่อยจัดงานมาเกือบสิบปีแล้ว”

เมืองอาริตะ ประเทศญี่ปุ่น

“เมืองอาริตะที่ญี่ปุ่น เป็นเมืองผลิตกระเบื้องพอร์ซเลนส่งออกมานานถึง 200 – 300 ปี ส่วนใหญ่ผลิตแต่งานรูปแบบดั้งเดิม ทำให้คนซื้อน้อยลงชาวเมืองก็หาทางว่าจะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมนี้ยังอยู่ได้ ไม่อย่างนั้นเมืองจะตายไปด้วย เพื่อนชาวญี่ปุ่นจึงมาชวนกันทำโครงการ ศิลปินพำนักที่เมืองอาริตะให้ศิลปินไปพักที่โรงงานเซรามิก ทำให้คนเห็นดีไซน์ใหม่ๆ เกิดการแลกเปลี่ยน เมื่อศิลปินมามากๆ เข้า ก็เกิดที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ใหม่ๆ ขึ้นมา เกิดการจ้างงาน อีกอย่าง

ตัวเมืองอาริตะเป็นเมืองเล็กๆ น่าอยู่มากผู้คนอัธยาศัยดี อาหารอร่อย และมีถนนสายยาวที่ตลอดสองข้างทางเป็นเรือนไม้แบบเก่าแต่ละบ้านจะมีพอร์ซเลนขาย และถึงจะเป็นเมืองทำเซรามิกซึ่งใช้น้ำเยอะ แต่คูน้ำในเมืองใสสะอาดจนเห็นปลาคาร์พว่ายน้ำเพราะว่าชาวเมืองช่วยกันดูแลรักษา รู้สึกดีที่ได้ไปสร้างอะไรใหม่ๆ แล้วเห็นการเติบโตทีละเล็กละน้อย สิ่งที่ทำเหมือนจะเล็กๆ แต่ไปได้ใหญ่และไกล”

.

อุปกรณ์ทำงาน

“ของที่ต้องพกติดตัวไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหนคืออุปกรณ์ทำงานหลักๆ จะมีพู่กันพิเศษจากจีนปลายเล็กละเอียดมาก ฉะนั้นจะใช้เขียนเส้นบางๆ ได้ดี ออกแบบเฉพาะสำหรับเซรามิกพิกเมนต์ด้วย ต่อมาคือไม้ปั้นจากเมืองจีนเช่นกัน ใช้ตีให้ดินเกาะแน่นขึ้นและแผ่นปาด Mudtools Sherrill สำหรับปาดให้ดินเรียบ มี 4 สี เนื้อของแผ่นโพลีเมอร์จะแตกต่างกันไป ชื่อ Sherrill เป็นชื่อศิลปินเซรามิกที่ไม่พอใจในอุปกรณ์ที่ใช้เลยคิดทำเองขึ้นมา ปรากฏว่าใช้งานได้ดี คนชื่นชอบกันมาก จึงพัฒนาเป็นแบรนด์อุปกรณ์ศิลปะคุณภาพดีและประสบความสำเร็จมาก”

พิพิธภัณฑ์ศิลปะยุคเก่าและใหม่ (Museum of Old and New Art-MONA) เกาะแทสมาเนียประเทศออสเตรเลีย

“MONA เป็น 1 ใน 3 พิพิธภัณฑ์ที่ไปแล้วประทับใจที่สุด พิพิธภัณฑ์ส่วนมากจัดแสดงแต่ผลงานศิลปินดังๆและมักจะจัดแบ่งประเภทของศิลปะ แต่ที่นี่คอนเซปต์แปลกใหม่มาก จัดศิลปะใหม่และเก่าอยู่ด้วยกัน เช่นมัมมี่อียิปต์อายุ 5,000 ปีกับงานศิลปะโมเดิร์นอย่างเดเมียน เฮิร์สต์ ซึ่งทุกอย่างไปด้วยกันได้ด้วยวิธีการจัดแสดง พอไปเห็นแล้วทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ ตามมามากมาย แค่วิธีการเดินทางไปก็น่าตื่นตาตื่นใจแล้ว ต้องนั่งเรือเข้าไปพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ใต้ดินด้านหน้ามีกระจกบานใหญ่ ด้านตรงข้ามคือสนามเทนนิส ซึ่งแท้จริงคืองานศิลปะชิ้นหนึ่งถ้าไปยืนในตำแหน่งที่ถูกต้อง สนามเทนนิสจะสะท้อนภาพบนกระจก แต่ถ้าไปยืนไม่ถูกจุดก็จะเห็นเป็นแค่สนามเทนนิสกับกระจกธรรมดา เป็นการเล่นกับวิธีสะท้อนแสง”

“และที่นี่จะจัดเทศกาลประจำฤดูโมนาซัมเมอร์ในธีมอาฟเตอร์ดาร์ก เล่นเกี่ยวกับแสง และโมนาวินเทอร์ในธีมดนตรี เทศกาลทั้งสองนี้โด่งดังมาก ต้องจองล่วงหน้า และเพราะพิพิธภัณฑ์นี้แห่งเดียว ช่วยให้ทั้งเกาะเจริญมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ตามมามากมาย นี่คือพลังของศิลปะ”

 

งานศิลปะสะสม

“Ramesh Mario Nithiyendran เป็นชาวศรีลังกาที่ย้ายมาอยู่ออสเตรเลีย เป็นศิลปินเซรามิกเหมือนกัน แต่งานคนละสไตล์กับเราเลย งานของราเมชผสมผสานศาสนาฮินดูกับคริสต์และเรื่องราวของชนกลุ่มน้อย แต่ทำออกมาได้ไร้เดียงสา บางครั้งคนเห็นแค่รูปอาจจะพูดว่าฉันก็ทำได้ แต่พอมาเห็นงานจริงๆ แล้วจะตกใจ เพราะงานชิ้นใหญ่มากๆ ตรงนี้เป็นเรื่องที่อธิบายยาก การเห็นแล้วไปทำนั้นง่าย แต่การคิดขึ้นมาเพื่อจะไปลงมือทำนั้นยากกว่า และถึงจะเห็นแล้ว บอกว่าทำได้แต่ให้ไปทำจริงๆ ก็ทำไม่ได้ เพราะงานชิ้นหนึ่งต้องผ่านกระบวนการคิดของศิลปิน ว่าจะลงสีนี้แล้วตวัดแบบนี้บวกกับสิ่งที่เกิดขึ้นเอง ณ ขณะสร้างงานรวมเข้ามาอีกซึ่งการจะทำแบบนี้ได้ต้องผ่านประสบการณ์ พอได้ไปนั่งคุยกับเขา จะรู้ว่างานเขาไม่ได้ทำง่ายๆ เลย ทุกอย่างผ่านการคิด เป็นศิลปินที่น่าชื่นชมมากคนหนึ่ง

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.