Home > Fashion > Celebrity Style > บรรเจิด เหล็กคง ผู้ให้ชีวิต ‘เศษเหล็ก’ ได้โลดแล่นไกลถึงนิวยอร์ก

ผู้ชายคนนี้สานฝันงานประติมากรรมจากเหล็กกล้าในวันที่ชีวิตเขาประสบวิกฤตครั้งใหญ่ เมื่องานรับออกแบบสถานบันเทิงในอาชีพสถาปนิกหดหายไปพร้อมกับการจัดระเบียบสังคมในยุคสมัยหนึ่ง รายได้ที่เคยเฟื่องฟู ชีวิตที่เคยฟู่ฟ่า อยู่บ้านหลังโต มีรถยนต์เรียงราย เริ่มกลายเป็นการชักหน้าไม่ถึงหลัง หนักเข้าถึงกับต้องยอมขายรถบีเอ็มดับเบิลยูซีรีส์ 5 คันโปรด แล้วใช้รถมอเตอร์ไซค์คันเก่าๆ ของน้องแทน

พ.ศ. 2546 ประติมากรรมเหล็กชิ้นแรกในแบรนด์ “เหล็กคง” ซึ่งตั้งจากนามสกุลของคุณบรรเจิด เขาสร้างสรรค์องค์พระพิฆเณศ ถือเป็นการบวงสรวงและคารวะเทพแห่งศิลปะ เรียกขวัญและกำลังใจตัวเองให้ลุกขึ้นสู้อีกครั้ง เดิมทีเขาตั้งใจผลิตประติมากรรมเหล็กชิ้นใหญ่เชิงอุตสาหกรรม แต่เมื่อได้เริ่มลงมือทำจริง องค์พระพิฆเณศสูงประมาณ  40 เซนติเมตรวัดจากยอดสูงสุด ก็ทำให้เขาต้องเปลี่ยนความคิด

“แค่เริ่มทำส่วนพระพักตร์และดัดงวง ผมก็ล้มเลิกความคิดที่จะผลิตเป็นอุตสาหกรรมทันที เพราะไม่มีใครมัวนั่งประดิดประดอย ดัดเหล็กทีละชิ้น แก้แล้วแก้อีกเพื่อให้งานสวยสมใจ และคงไม่มีใครทำได้ถูกใจเท่าผมลงมือเอง เลยต้องเปลี่ยนมาสร้างสรรค์ในเชิงศิลปะแทน”             

ทำไมวัสดุต้องเป็นเหล็ก คุณบรรเจิดอมยิ้มก่อนตอบว่า “บ้านผมจะเป็นอู่ซ่อมรถครับ” ความคุ้นเคยกับรูปทรงของอะไหล่รถยนต์กลายเป็นไอเดียการผลิต ‘งานเหล็กแบบไทยๆ’ เมื่อได้ทักษะด้านงานเหล็ก รวมถึงความชำนาญในการใช้เครื่องมือเกี่ยวกับเหล็กจากการเป็นลูกมือช่วยคุณพ่อในอู่ซ่อมรถมาตั้งแต่เด็ก

คุณบรรเจิดใช้เวลา 3 วันในการสร้างองค์พระพิฆเณศ (เศษ) เหล็ก ผลงานชิ้นแรกขึ้นมา จากนั้นเขาเดินหน้าผลิตผลงานเซ็ตปฐมฤกษ์ทั้งหมดให้ครบ 5 ชิ้น ประกอบด้วย เศียรหนุมาน ทศกัณฐ์ มวยไทย และพระรามขณะรบกับทศกัณฐ์ เมื่อความสามารถพิเศษเฉพาะตัวที่เขาสั่งสมประสบการณ์มา ผนวกกับไอเดียที่ไม่ซ้ำแบบใคร คุณบรรเจิดจึงมั่นใจว่าเขาคือหนึ่งเดียวในยุทธจักรประติมากรรมเหล็กสไตล์ไทย เขายื่นเรื่องขอกู้เงินจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธนาคารเอสเอ็มอี) แต่ธนาคารไม่สามารถอนุมัติเงินกู้ให้ได้ ด้วยเหตุผลว่าเขาเป็นคนเดียวที่สามารถทำงานนี้ได้ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงสูงสำหรับผู้ให้กู้ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับการขอจดลิขสิทธิ์ จะด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจในโชคชะตา หรือความผิดหวังในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่ตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาก็ตาม ความรู้สึกเหล่านั้นทำให้คุณบรรเจิดตั้งปณิธานว่า “ผมจะขายงานเป็นดอลลาร์ คนที่จะมาชมงานผม ต้องใส่สูทผูกไท” นั่นหมายถึงความฝันเขาได้คิดไกลไปถึงต่างประเทศแล้ว

แต่กว่าจะถึงฝั่งฝัน เขาจะทำอย่างไรกับเงินที่ทั้งเนื้อทั้งตัวเหลือแค่ 20 บาท ประตูแห่งโชคบานแรกเปิดรับเขา เมื่อคุณต๋อย ไตรภพ ลิมปพัทธ์ พิธีกรคนดังขอซื้อผลงานเซ็ตปฐมฤกษ์ทั้งหมด คุณบรรเจิดที่แม้จะขัดสนแต่ด้วยหัวใจศิลปิน เขาไม่ยอมขายด้วยเหตุผลว่าน่าจะทำผลงานได้ประณีตกว่านี้ จึงตั้งราคา 250,000 บาทสำหรับประติมากรรมเศษเหล็กที่ไม่เคยมีใครเห็นค่า เพื่อให้คนอยากซื้อล่าถอยไปเอง แต่ทันทีที่ได้ยินราคา คุณไตรภพเซ็นเช็คเงินสดยื่นให้เขาทันที นั่นจึงเป็นเงินทุนก้อนแรกกับงานเหล็กที่ช่วยให้เขาพลิกฟื้นชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง

ดูเหมือนสถานการณ์ต่างๆ จะคลี่คลายไปในทางที่ดี  ผลงานคุณบรรเจิดเป็นที่รู้จักมากขึ้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาเข้าใจผลงานของเขาจึงรับจดลิขสิทธิ์ จากนั้น พ.ศ.2549 สองผลงานของเขาคือพญาครุฑกับหนุมานสู้รบกับวิรุณจัมบังเป็นตัวแทนศูนย์ศิลปาชีพพิเศษบางไทร ในนามประเทศไทยเข้าประกวดงานศิลปหัตถกรรมระดับโลก ครั้งนั้นองค์การยูเนสโกมีจดหมายชื่นชมกลับมาว่าผลงานของเขามีความโดดเด่นและน่าสนใจมาก ทว่าไม่สามารถจะให้รางวัลได้เนื่องจากไม่มีผลงานใดมาเปรียบเทียบได้ แม้จะไม่ถือเป็นรางวัล แต่ก็เป็นคำชมอันทรงเกียรติแก่เขา

แล้ววันหนึ่งความฝันที่หวังพาผลงานเหล็กไปไกลถึงต่างแดนก็ใกล้ความจริงขึ้น เมื่อ พ.ศ.2558 Agora Gallery 1 ใน 5 แกลเลอรีระดับโลกแห่งมหานครนิวยอร์ก ตอบรับให้คุณบรรเจิดนำผลงานเหล็กไปจัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวภายใต้คอนเซปต์ Metamorphosis ที่สหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 20 พ.ค.-9 มิ.ย. ศกนี้ คุณบรรเจิดบากหน้าหอบโปรไฟล์งานทั้งหมดเพื่อเสนอขอทุนสนับสนุนการจัดนิทรรศการครั้งนี้จากหน่วยงานและองค์กรทั่วฟ้าเมืองไทย จนเจ้าตัวถอดใจว่าคงไม่ทันกำหนดการที่ทางแกลเลอรี่กำหนดเส้นตายวันตอบรับไว้ แต่แล้วเขาก็ได้เจอคุณสันติ ภิรมย์ภักดีอย่างไม่คิดฝัน

“ผมตั้งใจไปบริษัทบุญรอดฯ ขอพบคุณสันติเพื่อขอรับเอกสารคืนทั้งที่ไม่ได้นัดหมายล่วงหน้า แต่โชคเข้าข้างเมื่อผมได้เข้าพบท่านพร้อมกับคณะผู้บริหารอีกหลายท่าน ผมเล่าเส้นทางเดินชีวิต อธิบายงานเหล็กที่ผมทำให้ทุกคนในห้องประชุมฟัง สุดท้ายคุณสันติถามผมคำถามหนึ่งว่า ‘ถ้าคุณไปนิวยอร์กแล้วจะเกิดประโยชน์อะไรกับประเทศชาติบ้าง’ ผมตอบว่า “ถ้าผมเป็นนักวิ่งเก่งระดับอำเภอ ผมต้องไปแข่งระดับจังหวัด ถ้าผมเก่งระดับจังหวัด ก็ต้องขวนขวายที่จะแข่งระดับประเทศ แต่เมื่อผมอยู่ระดับประเทศแล้ว ผมต้องไประดับโลกเท่านั้น เพื่อให้ลูกหลานคนไทยได้ร่วมภูมิใจ” คำตอบของคุณบรรเจิดคงโดนใจซีอีโอผู้นี้ที่ช่วงหนึ่งของชีวิตเคยเป็นนิวยอร์กเกอร์อยู่ เขาจึงหันไปบอกทีมงานว่า “ให้เขาไปเป็นศิลปินระดับโลกอย่างที่เขาต้องการ”

สุดท้ายคุณบรรเจิดย้ำว่าที่เขามาถึงจุดนี้ได้อาศัยความตั้งมั่นและความมุมานะ ทุกก้าวของฝันเป็นไปอย่างระมัดระวัง “ผมโชคดีที่เป็นตัวของตัวเอง ผมไม่ได้วิ่งตามความต้องการของตลาด ผมอยากให้คนที่สนับสนุนผมและคนไทยได้ร่วมภูมิใจไปกับผม ทุกคนท้อได้ แต่ขอแค่อย่าถอย ที่สำคัญอย่าคิดไปเอง เพราะถ้าผมถามใครว่าจะเข้าพบคุณสันติ ภิรมย์ภักดีได้ยังไง ก็คงมีแต่คนบอกเป็นไปไม่ได้ แต่เพราะผมไม่คิดแทนใคร ผมเลยมีวันนี้ได้”

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.