Home > Fashion > Fashion Updates > WISHARAWISH แบรนด์แฟชั่นที่ยกระดับผ้าไทยร่วมสมัยไปสู่สากล

ในวงการแฟชั่นคงไม่มีใครไม่รู้จัก คุณอู๋-วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH (วิชระวิชญ์) แบรนด์ที่อยู่ในวงการแฟชั่นไทยมากว่า 16 ปี แต่ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมานั้น กลับย้อนมาให้ความสนใจต่อผ้าไทยที่อยู่ใกล้ตัวมาตั้งแต่เกิดมากขึ้น WISHARAWISH

คุณอู๋หนุ่มชาวบุรีรัมย์ที่สารภาพกับเราตรงๆ ว่า “เห็นกี่ทอผ้ามาตั้งแต่เด็ก แต่เป็นสิ่งที่มองข้ามมาตลอด”  ให้คำนิยาม WISHARAWISH ใหม่ว่าเป็นแบรนด์ที่ทำงานร่วมกับศิลปหัตถกรรมหรืองานที่เล่นกับผ้าท้องถิ่น และทำให้ดูเป็นปัจจุบันและโมเดิร์นมากขึ้น 

WISHARAWISH

และแล้วเราก็ได้เห็นเสื้อผ้าไทยในดีไซน์ทันสมัย เมื่อนางแบบนายแบบต่างเดินออกมาโชว์สิ่งที่คุณอู๋สร้างสรรค์ใหม่โดยไม่ทิ้งดีเอ็นเอของผ้าแต่ละแห่งได้อย่างมีเสน่ห์ 

‘กี่’ ทอผ้า ที่มาของจุดเริ่มต้น

เห็นเสื้อผ้าดีไซน์โมเดิร์นแบบนี้ แต่จริงๆ แล้วคุณอู๋คลุกคลีผ้าไทยมาตั้งแต่เกิด คุณแม่ของเขาก็ใส่ผ้าไทยมาตลอด แถมใต้ถุนบ้านยังมีกี่ทอผ้าอยู่ด้วย แต่เขากลับมองข้ามไป พอวันหนึ่งมาเป็นนักออกแบบ กี่ก็กลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการดีไซน์แบรนด์ของตัวเอง

WISHARAWISH

“จริงๆ แล้วทำงานแฟชั่นมา 15-16 ปี แต่ว่าช่วงหลังๆ เมื่อสัก 5-6 ปีที่ผ่านมา รู้สึกว่าเราควรจะกลับมาหาอะไรที่เป็นของใกล้ตัวเ อู๋เป็นคนบุรีรัมย์ครับ ใต้ถุนบ้านมีกี่ทอผ้า ก็พยายามที่จะดึงของใกล้ตัวที่เคยมองข้ามกลับมา เรารู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของเรา ทำไมไม่เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้น พอสั่งสมความรู้และลองผิดลองถูก แล้วก็เริ่มพยายามศึกษาคนที่ทำงานเรื่องผ้า จึงเริ่มสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อให้เข้ากับตลาดสากลหรือมุมกว้างได้”

การออกแบบผ้าเหมือนการทำอาหาร

เวลาที่พยายามออกแบบผ้าไทย พยายามจะทำอะไรที่ให้คนกินได้ง่าย เข้าใจได้ง่าย ชีวิตนี้มันวุ่นวายมากพอแล้ว เราควรจะลองทำอะไรที่เบสิก แต่ว่ามีเสน่ห์ มีเอกลักษณ์อยู่ในนั้น นั่นคือไอเดียเวลาที่ทำงานผ้าไทย 

WISHARAWISH

ในขณะที่คุณอู๋พูดเปรียบเทียบถึงการทำออกแบบผ้าไทยเหมือนการปรุงอาหาร วัตถุดิบดีไม่ต้องปรุงเยอะ เพราะผ้าแต่ละผืนนั้นมีเอกลักษณ์อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องอาศัยการออกแบบที่ดูร่วมสมัยขึ้นให้เข้ากับยุคปัจจุบัน

‘ผ้าไทย’ วัสดุหลักที่ไม่มีในท้องตลาด

“มันเป็นโอกาสที่เรามี สมมุติว่าเราตัดตัวตนของเราออกไป นักออกแบบน้อยคนนักที่จะได้ใช้วัสดุอะไรอย่างนี้มาใช้เป็นงานคราฟต์ งานกูตูร์ งานฝีมือ มันไม่มีในท้องตลาดนะ ถ้าเกิดไม่ใช่คนในพื้นที่ แต่เราโชคดีที่เราเป็นคนไทย มีโอกาสได้เห็น มีโอกาสได้เข้าไปชมงานกับกลุ่มชนต่างๆ อยู่แล้ว ก็เลยเอาตรงนั้นกลายมาเป็นจุดเด่นของตัวเอง ที่คนทั่วไปไม่สามารถเข้าไปถึงตรงนั้นได้

ลวดลายและสีสันที่ดูทันสมัยนี้แถมเนื้อผ้าที่ดูแตกต่างกัน คุณอู๋ไปหาลวดลายและผ้าหลากหลายแบบมาก “แรกๆ เลยอู๋จะใช้ของค่อนข้างเยอะ แต่มาทางนี้อู๋จะใช้ผ้าเยอะอยู่เหมือนกัน ใช้หมดเลย ผสมกันไปหมด แล้วเดี๋ยวโชว์วันที่ 21 พฤษภาคม จะได้เห็นการผสมผ้า ผ้าฝ้ายจากทางเหนือ ผ้าฝ้ายจากทางอีสานก็ต่างกัน ผ้าไหมมาเจอกับผ้าบาติก ผ้าบาติกมาเจอผ้าขาวม้า ผมพยายามจะครอสซิ่งหลายๆ อย่างมาผสมปนเปกันไปหมด”

การออกแบบลายผ้าที่ไม่สูญเสียดีเอ็นเอของแต่ละผืน

“ผมจะค่อนข้างเคารพดีเอ็นเอและเอกลักษณ์ของแต่ละที่อยู่แล้ว เราพบกันครึ่งทาง ผมจะไม่เข้าไปดึงอัตลักษณ์ของเขา ที่เขาเคยทำอยู่แล้ว แต่ว่าไปปรับปรุงหรือดึงไอเดียจากเขานิดๆ หน่อยๆ เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา ไม่ได้สูญเสียความเป็นตัวตนของเขาไป”

ทิ้งท้ายความภูมิใจที่มีต่อผ้าไทย

นอกจากภูมิใจแล้ว เรารู้สึกว่าสนุกกับการได้ทำงานผ้าไทย แล้วก็อยากให้คนไทยหันมาใช้ผ้าไทยไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าขาวม้า ผ้าบาติกก็ตาม อะไรก็ได้นิดเดียวก็ยังดี ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า แอ็กเซสเซอรี่ส์ กระเป๋า รองเท้า หรือเครื่องประดับ เพราะท้ายสุดแล้ว สิ่งที่มันย้อนกลับไป มันไปถึงชุมชน ถ้าเกิดว่ารากฐานเราไม่มีแล้ว ต่อไปมันก็ลำบากในการย้อนกลับมา สู้เราคนละนิดคนละหน่อยวันนี้ ในระยะยาวมันจะได้อยู่ต่อไป และเติบโตต่อไป

เราเองก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะได้เห็นคนไทยใส่ผ้าไทยไปไหนมาไหนกันมากขึ้นเช่นกันนะคะ

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.