ดีเทลเปี่ยมความหมายในชุดขึ้นครองราชย์ของ ‘คิงชาร์ลส์ที่ 3’ ตั้งแต่เสื้อคลุม เข็มขัด จนถึงถุงมือ
การผลัดเปลี่ยนบัลลังก์ของสหราชอาณาจักรจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สู่พระโอรส สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ถือเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่จะถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์อย่างแน่นอน ทุกรายละเอียดและดีเทลของงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้จึงถูกหยิบยกมาพูดถึง และหนึ่งในนั้นก็คือ ชุดขึ้นครองราชย์ของ คิงชาร์ลส์ที่ 3 ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่ามีที่มาจากไหน และเคยมีพระราชวงศ์คนสำคัญองค์ใดเคยทรงมาแล้วบ้าง วันนี้ HELLO! จะพาไปหาคำตอบกัน
ฉลองพระองค์ที่สืบทอดกันมาในราชวงศ์วินด์เซอร์
สำนักพระราชวังวินด์เซอร์ได้ออกมาเปิดเผยแล้วว่า สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงฉลองพระองค์เสื้อคลุมที่สืบทอดกันมาในราชวงศ์อังกฤษ ตั้งแต่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 เมื่อปีค.ศ. 1821 , สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 เมื่อปีค.ศ. 1911 , สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 เมื่อปีค.ศ. 1937 และพระมารดาในพระองค์ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อปีค.ศ. 1953
นอกจากฉลองพระองค์เสื้อคลุมตัวนอกแล้ว สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะยังทรงฉลองพระองค์เครื่องต้นอื่นๆ ที่สืบทอดกันมาในราชวงศ์ด้วยเช่นกัน ได้แก่ เครื่องราชกกุธภัณฑ์สหราชอาณาจักร, เสื้อคลุม เดอะ ซูเปอร์ตูนิกา (The Supertunica), เสื้อคลุมจักรพรรดิ (The Imperial Mantle), พระปั้นเหน่ง (Coronation Sword Belt) และถุงพระหัตถ์ (Coronation Glove)

เสื้อคลุม เดอะ ซูเปอร์ตูนิกา
ชุดขึ้นครองราชย์ของ คิงชาร์ลส์ที่ 3 ชิ้นแรกที่เราจะพาไปดูกันก็คือ เสื้อคลุม เดอะ ซูเปอร์ตูนิกา (The Supertunica) ฉลองพระองค์เสื้อคลุมตัวยาวสีทองอร่าม เป็นเสื้อคลุมที่พระมหากษัตริย์จะทรงไว้ชั้นในสุด ก่อนคาดทับด้วยพระปั้นเหน่ง (Coronation Sword Belt)
ถึงแม้ว่าเสื้อคลุม เดอะ ซูเปอร์ตูนิกา จะสืบทอดกันมาในราชวงศ์อังกฤษตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 20 แต่รูปทรงและดีไซน์ได้ถูกปรับเปลี่ยนเล็กน้อยไปจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในยุคกลาง โดยดีไซน์ของเสื้อคลุม เดอะ ซูเปอร์ตูนิกา นี้ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากชุดคลุมของนักบวชในศาสนาคริสต์
เสื้อคลุม เดอะ ซูเปอร์ตูนิกา ชิ้นนี้ ออกแบบและตัดเย็บขึ้นโดยร้านตัดเย็บเสื้อคลุมเทเลอร์-เมด Wilkinson and Son สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 22 มิถุนายน 1911 หลังจากนั้นเสื้อคลุมตัวนี้ถูกหยิบมาใช้อีกครั้งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ในวันที่ 12 พฤษภาคม 1937 และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในวันที่ 2 มิถุนายน 1953 ตามลำดับ
หากสังเกตให้ดีจะพบว่าแต่ละด้านของเสื้อคลุม เดอะ ซูเปอร์ตูนิกา มีการปักเย็บลวดลายอ่อนช้อยงดงามคล้ายกับกิ่งก้านใบไม้เกี่ยวพันกัน ซึ่งงานปักเย็บนี้เป็นฝีมือของสมาคมแรงงานหญิงที่ใช้ทองคำจริงในการสร้างความงดงามบนเสื้อคลุม นอกจากเทคนิคนี้จะสร้างความประณีตงดงามสำหรับทุกศตวรรษแล้ว ลวดลายในการปักเย็บยังอิงมาจากชุดคลุมของนักบวชในยุคกลางอีกด้วย



เสื้อคลุมจักรพรรดิ
ฉลองพระองค์องค์ถัดมาที่พระมหากษัตริย์จะทรงทับเสื้อคลุม เดอะ ซูเปอร์ตูนิกา ก็คือ เสื้อคลุมจักรพรรดิ (The Imperial Mantle) ซึ่งดีไซน์จะแตกต่างจากเสื้อคลุม เดอะ ซูเปอร์ตูนิกา อย่างเห็นได้ชัด โดยเสื้อคลุมจักรพรรดิจะดูคล้ายเสื้อครุยตัวยาว
สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เป็นพระราชวงศ์ลำดับที่ 4 ที่จะได้ทรงเสื้อคลุมจักรพรรดิตัวนี้ โดยก่อนหน้าพระองค์นั้น สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2, สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6, สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 และสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 เคยทรงมาก่อนแล้วทั้งสิ้น
นอกจากนี้ เสื้อคลุมจักรพรรดิถือเป็นฉลองพระองค์ที่มีอายุยาวนานเก่าแก่ที่สุดในบรรดาฉลองพระองค์ทุกชิ้นสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของราชวงศ์อังกฤษ
เสื้อคลุมจักรพรรดิตัดเย็บขึ้นจากทองคำ เงิน ผ้าทอง ด้ายเงิน ผ้าไหม ดิ้นทอง และเข็มกลัดทองคำ โดยผ้าทองได้รับการถักทอขึ้นเป็นลวดลายงดงาม ทั้งดอกกุหลาบ พืชไม้มีหนาม ดอกแชมร็อกประจำชาติไอร์แลนด์ มงกุฎ นกอินทรี และเฟลอร์เดอลี (Fluer-de-lis) หรือสัญลักษณ์ดอกลิลลี่
ฉลองพระองค์เสื้อคลุมองค์นี้ได้รับการออกแบบและตัดเย็บโดยช่างเสื้อ จอห์น เมเยอร์ ในปีค.ศ. 1821 ร่วมกับช่างทองของวังหลวง เพื่อถวายแด่สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4


พระปั้นเหน่ง
เข็มขัดที่จะใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกย่อมมีความพิเศษเหนือเข็มขัดทั่วไป และพระปั้นเหน่งที่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ก็คือ Coronation Sword Belt อันได้รับการรังสรรค์ขึ้นจากผ้าทอง ปักเย็บด้วยด้ายทองคำเป็นลวดลายอะราเบสก์ (Arabesque) ตัดขอบเดินเส้นด้วยผ้าไหมสีแดงเลือดนก พร้อมประดับหัวเข็มขัดด้วยทองคำ พิมพ์ประทับสัญลักษณ์ของสหราชอาณาจักรอย่าง ดอกกุหลาบ พืชไม้มีหนาม (Thistles) และดอกแชมร็อก (Shamrock) ปิดท้ายด้วยตัวยึดทองคำที่มาทำให้พระปั้นเหน่งองค์นี้เสร็จสมบูรณ์
พระปั้นเหน่งจะถูกนำมาใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยนำมาคาดทับเสื้อคลุม เดอะ ซูเปอร์ตูนิกา พร้อมสะพายดาบไว้ที่เอว ท่านอาร์คบิชอปจะนำดาบมาถวายแด่พระมหากษัตริย์ พร้อมกล่าวว่าดาบเล่มนี้จะต้องใช้ปกป้องคุณความดีและลงโทษความชั่วร้าย หลังจากนั้นตัวดาบจะถูกถอดออกจากพระปั้นเหน่งและนำไปวางยังแท่นพิธี ก่อนพระมหากษัตรย์จะทรงเสื้อคลุมจักรพรรดิ

ถุงพระหัตถ์
มาถึงของชิ้นสุดท้ายใน ชุดขึ้นครองราชย์ของ คิงชาร์ลส์ที่ 3 อย่าง ถุงพระหัตถ์ (Coronation Glove) ซึ่งออกแบบและตัดเย็บขึ้นสำหรับ พระหัตถ์ข้างขวา ของพระมหากษัตริย์ โดยสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงตัดสินพระราชหฤทัยที่จะนำถุงพระหัตถ์ของพระอัยกา สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 กลับมาใช้อีกครั้ง
ถุงพระหัตถ์องค์นี้มีจุดประสงค์เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงถือเครื่องราชกกุธภัณฑ์ระหว่างที่กำลังสวมมงกุฎ และจะถอดถุงพระหัตถ์ออกก่อนขึ้นนั่งบนพระราชบัลลังก์ และในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ ถุงพระหัตถ์องค์ดังกล่าวจะถูกนำมาถวายให้แก่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ในพระราชพิธีโดย ลอร์ดอินดาร์จิต ซิงห์ สมาชิกสภาขุนนางแห่งสหราชอาณาจักร
เมื่อสังเกตใกล้ๆ จะเห็นว่าถุงพระหัตถ์ตัดเย็บขึ้นจากหนังสีขาว และที่บริเวณรอบข้อมือถูกปักประดับเป็นสัญลักษณ์ของสหราชอาณาจักรไว้ด้วยเหล็กเคลือบทอง ด้าย และโลหะแวววาว ไม่ว่าจะเป็นรูปดอกกุหลาบทิวดอร์, พืชมีหนามทิสเติล, ดอกแชมร็อก, ใบโอ๊ค และลูกโอ๊ค ส่วนบริเวณด้านบนของถุงพระหัตถ์ หรือเมื่อสวมแล้วจะอยู่ตำแหน่งหลังมือ มีการปักลวดลายพระเกี้ยวคู่ในเฉดสีแดงกำมะหยี่

ข้อมูลและรูปภาพ : Courtesy of The Royal Family