สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผู้ล่วงลับ ทรงขึ้นครองราชย์ในวันที่ 2 มิถุนายน ปีค.ศ. 1953 และเมื่ออ้างอิงจากองค์กรที่ดูแลเกี่ยวกับทรัพย์สินของราชวงศ์ (Royal Collection Trust) ก็พบว่า ชุดของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ที่ทรงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นถูกยกให้เป็นหนึ่งในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนถึงงานออกแบบของศตวรรษที่ 20 ที่สำคัญที่สุด
ด้วยกำหนดการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ที่ใกล้เข้ามาทุกที (พระราชพิธีบรมราชาภิเษกถูกกำหนดให้จัดขึ้นวันที่ 6 พฤษภาคม ปีค.ศ. 2023) หลายคนที่ติดตามราชวงศ์อังกฤษย่อมนึกถึงความยิ่งใหญ่เอิกเกริกและขบวนริ้วมากมายที่จะเกิดขึ้น เราเลยขอพาทุกคนนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไปยังหนึ่งในช่วงเวลาที่อลังการและตื่นตาตื่นใจที่สุดของประวัติศาสตร์อังกฤษกัน

เรื่องราวเบื้องหลัง ชุดของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในวันขึ้นครองราชย์
อาจพูดได้ว่า ฉลองพระองค์ที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น เกิดจากความทุ่มเทและอุตสาหะมหาศาลของ ‘นอร์แมน ฮาร์ทเนล’ (Norman Hartnell) แฟชั่นดีไซเนอร์ชาวอังกฤษที่ได้รับมอบหมายในเดือนตุลาคม ปีค.ศ. 1952 ให้ดูแลและออกแบบฉลองพระองค์สำหรับพิธีสำคัญนี้
“บ่ายวันหนึ่งของเดือนตุลาคม ปี 1952 สมเด็จพระราชินีนาถมีรับสั่งให้ฉันออกแบบและตัดฉลองพระองค์สำหรับทรงในวันขึ้นครองราชย์” นอร์แมนเขียนเล่าไว้ในอัตชีวประวัติของตัวเอง
“ฉันจำได้ลางๆ ว่าฉันพึมพำตอบไปด้วยความอึ้ง และยังจดจำพระสุรเสียงเรียบง่ายของสมเด็จพระราชินีนาถขณะที่มีรับสั่งได้อยู่เลย สมเด็จพระราชินีนาถทรงมีพระประสงค์ให้ฉลองพระองค์วันขึ้นครองราชย์มีความสอดคล้องไปกับฉลองพระองค์วันแต่งงาน และผ้าที่ใช้จะต้องเป็นผ้าซาตินสีขาว ซึ่งตอนนั้นก็เป็นเวลาเกือบ 5 ปีพอดีที่ฉันได้ออกแบบและตัดเย็บฉลองพระองค์ถวายสำหรับพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับดยุคแห่งเอดินบะระ”
“เมื่อความตื่นเต้นหายไป ฉันก็เริ่มศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจังเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และขนบธรรมเนียมประเพณีของ ‘ฉลองพระองค์ในวันขึ้นครองราชย์’ (Coronation Dress) ฉันได้แวะไปพิพิธภัณฑ์แห่งชาติและหอสมุดแห่งชาติเพื่อค้นคว้าอยู่บ่อยครั้ง”
หลังจากที่ศึกษาค้นคว้าอยู่พักใหญ่ นอร์แมนก็ได้คัดเลือกแบบของชุดออกมาบางส่วนเพื่อถวายให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เลือก และในที่สุดสมเด็จพระราชินีนาถก็ทรงตกลงที่จะใช้ดีไซน์ของฉลองพระองค์เวอร์ชั่นที่ 8
ในเวอร์ชั่นที่ 8 นี้ สมเด็จพระราชินีนาถทรงแนะนำเพิ่มเติมถึงการใช้เทคนิคปักลวดลายที่มีสีสันเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความแตกต่างจากฉลองพระองค์ที่ทรงในพระราชพิธีอภิเษกสมรส ทำให้นอร์แมนเลือกออกแบบลายปักเป็นสัญลักษณ์ของเกาะบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ อย่างกุหลาบพันธุ์ทิวดอร์ (Tudor Rose) ดอกไม้ประจำชาติของอังกฤษ, ดอกทิสเติล (Thistle) ดอกไม้ประจำชาติของสกอตแลนด์, ต้นแชมร็อค (Shamrock) ต้นไม้ประจำชาติของไอร์แลนด์ และ กระเทียมต้น (Leek) สัญลักษณ์ของเวลส์


ชุดของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ตัดเย็บขึ้นจากวัสดุอะไรบ้าง ?
ฉลองพระองค์สำหรับโอกาสสำคัญเช่นนี้ ย่อมต้องตัดเย็บขึ้นจากวัสดุชั้นเลิศที่สุด ตัวชุดราตรีใช้ผ้าดัชเชสซาตินสีขาวที่ดีที่สุด (Duchess Satin) ตัดเย็บซ้อนด้วยผ้าไหมมันวาวที่ปักลวดลายประณีตงดงามตลอดทั้งชุดด้วยไหมสีทอง สีเงิน และเฉดสีพาสเทลอ่อนหวาน พร้อมเพิ่มความหรูหราสง่างามด้วยการปักประดับคริสตัล เลื่อม และไข่มุก
สำหรับผ้าไหมมันวาวที่เลือกใช้เป็นผ้าชั้นนอก มีแหล่งผลิตตัวไหมมาจากฟาร์มไหม Lady Hart Dyke ซึ่งตั้งอยู่ที่คฤหาสน์ลัลลิงสโตน (Lullingstone Castle) ณ เมืองเคนท์ และถักทอขึ้นเป็นชิ้นผ้าอันงดงามโดย Warner & Sons บริษัทผู้ผลิตสิ่งทอที่เชี่ยวชาญด้านผ้าไหมโดยเฉพาะในมณฑลเอสเซ็กส์
ปัจจุบันชุดถูกเก็บอยู่ที่ไหน ?
ใครที่อยากชมความประณีตงดงามของฉลองพระองค์ดังกล่าว ต้องขอแสดงความเสียใจด้วยต้องบอกว่าไม่มีการเปิดเผยว่าฉลองพระองค์ชุดสำคัญนี้ถูกเก็บรักษาอยู่ที่ไหน แต่บางครั้งในโอกาสพิเศษก็จะมีการนำมาจัดแสดง อย่างเมื่อปีที่ผ่านมาในช่วงฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี (Platinum Jubilee) ก็ได้มีการนำฉลองพระองค์ดังกล่าวมาจัดแสดง ณ พระราชวังวินด์เซอร์ พร้อมด้วยเสื้อคลุมที่ถูกจัดแสดงในโรงละครเซนต์จอร์จ


ควีนเอลิซาเบธที่ 2 เคยใส่ชุดนี้อีกไหม ?
อ้างอิงจากข้อมูลในเว็บไซต์ของราชสำนักอังกฤษ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงฉลองพระองค์ดังกล่าวทั้งสิ้น 6 ครั้งด้วยกันหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อย่างเช่นเมื่อครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมพิธีเปิดประชุมสภา ณ นิวซีแลนด์และออสเตรเลีย ในปีค.ศ. 1954
ชุดของควีนเอลิซาเบธที่ 2 หนักไหม ?
แน่นอนว่าชุดที่ประณีตและสวยงามขนาดนี้ ย่อมมาพร้อมน้ำหนักที่น่าตกใจเสมอ และแม้ตัวเลขน้ำหนักของฉลองพระองค์สำหรับวันขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะไม่มีการเปิดเผยที่แน่ชัด แต่ก็มีการคาดคะเนว่าแค่วัสดุที่ใช้ปักประดับตลอดทั้งชุดก็ค่อนข้างหนักพอสมควรแล้ว
ยังไม่รวมถึงฉลองพระองค์เสื้อคลุมที่ต้องทรงทับอีกชั้น ซึ่งเสื้อคลุมดังกล่าวมีน้ำหนักถึง 15 ปอนด์ (ประมาณ 6.8 กิโลกรัม) ทั้งยังต้องใช้ช่างตัดเย็บถึง 12 คนจากโรงเรียนเย็บปักถักร้อย Royal School of Needlework มาร่วมกันตัดเย็บ โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 3,500 ชั่วโมงจึงเสร็จ

ใครคือ นอร์แมน ฮาร์ทเนล ?
นอร์แมน ฮาร์ทเนล (Norman Hartnell) ถือเป็นนักออกแบบเสื้อผ้าหรือกูตูริเยร์ (Couturière) คนแรกที่ได้รับพระราชทานยศให้เป็นอัศวินในปีค.ศ. 1977 ซึ่งเป็นช่วงที่ตรงกับพระราชพิธีรัชดาภิเษก (Silver Jubilee) หรือฉลองสิริราชสมบัติครบ 25 ปีนั่นเอง
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่นอร์แมนทำงานถวายสมเด็จพระราชินีนาถและราชวงศ์อังกฤษอย่างใกล้ชิด เขาไม่เพียงแต่เป็นผู้ออกแบบและตัดเย็บฉลองพระองค์สำหรับพระราชพิธีราชาภิเษกเท่านั้น แต่ยังเคยออกแบบตัดเย็บฉลองพระองค์สำหรับพระราชพิธีอภิเษกสมรสอีกด้วย