Home > Fashion > Royal Fashion > ทำไมเหล่าพระราชวงศ์อังกฤษถึงทรงฉลองพระองค์ “สีเขียว” ร่วมพิธีรำลึกถึงเจ้าชายฟิลิป?

เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา เหล่าพระราชวงศ์อังกฤษทุกพระองค์ได้เสด็จไปทรงเข้าร่วม พิธีรำลึกเจ้าชายฟิลิป ที่จัดขึ้น ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ โดย ดัชเชสคามิลล่า แห่งคอร์นวอลล์, เจ้าหญิงแอนน์ และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ล้วนทรงฉลองพระองค์สีเขียวสำหรับวันสำคัญเช่นนี้

ถึงแม้ว่าโดยธรรมเนียมปฏิบัติแล้วเหล่าพระราชวงศ์จะทรงฉลองพระองค์สีดำเข้าร่วมพิธีรำลึกทางศาสนา แต่ดูเหมือนว่าบางพระองค์ตั้งใจที่จะสดุดีถึงการจากไปของดยุคแห่งเอดินบะระ ผู้ที่ทรงมีสีประจำพระองค์เป็น สีเขียวเอดินบะระ นั่นเอง

พิธีรำลึกเจ้าชายฟิลิป
เหล่าพระราชวงศ์อังกฤษทรงฉลองพระองค์สีเขียวร่วม พิธีรำลึกเจ้าชายฟิลิป

นอกจากการเลือกทรงฉลองพระองค์สีเขียวจะเป็นการรำลึกถึงพระสวามีแล้ว สมเด็จพระราชินีนาถยังทรงเลือกใช้สีเขียวเดียวกันนี้กับสิ่งของและรายละเอียดต่างๆ ตลอดทั้งปีที่ผ่านมาอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นสีเครื่องแบบของทหาร สีรถม้านำขบวนพระศพ ไปจนถึงสีรถยนตร์พระที่นั่งของพระองค์เองด้วยเช่นกัน

สีเขียวนี้ไม่เพียงแต่เป็นสัญลักษณ์ของการรำลึกถึงความสูญเสียเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการเฉลิมฉลองให้กับการดำรงพระยศ จอมพลกองทหารปืนไรเฟิล อันยาวนานของเจ้าชายฟิลิป ที่ต้องทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบสีเขียวอีกด้วย โดยพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งจอมพลมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2007 จวบจนกระทั่งปี 2020 ก่อนจะทรงลดบทบาทลงเนื่องด้วยทรงพระประชวร ก่อนจะให้พระสุณิสา ดัชเชสคามิลล่า แห่งคอร์นวอลล์ ทรงก้าวขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่นี้แทน

พิธีรำลึกเจ้าชายฟิลิป
ดัชเชสคามิลล่า แห่งคอร์นวอลล์ ปัจจุบันทรงดำรงพระยศจอมพลกองทหารปืนไรเฟิลต่อจากดยุคแห่งเอดินบะระ

เราจึงไม่แปลกใจเลยที่ได้เห็นดัชเชสแห่งคอร์นเวลล์สดุดีและรำลึกถึงเจ้าชายฟิลิปด้วยการทรงฉลองพระองค์โค้ทเดรสสีเขียวประดับกระดุมรูปแตรเดี่ยว รวมทั้งยังทรง พระเข็มกลัดรูปแตรเดี่ยวสีเงิน ที่เคยทรงไปร่วมพิธีพระศพเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ซึ่งเหล่าทหารในสังกัดกองปืนไรเฟิลทุกคนเองก็ล้วนติดเข็มกลัดรูปเตรเดี่ยวบนหมวกเพื่อสดุดีต่อดยุคแห่งเอดินบะระด้วยเช่นกัน

ส่วนสมเด็จพระราชินีนาถเองนั้นก็ทรงตั้งพระทัยเลือก พระเข็มกลัด ที่จะติดพระอุระในวันสำคัญอย่างถี่ถ้วนเพื่อเสด็จฯ ไปทรงร่วม พิธีรำลึกเจ้าชายฟิลิป พระสวามีผู้ทรงอยู่เคียงข้างพระองค์มากว่า 70 ปี โดยสมเด็จพระราชินีนาถทรงพระเข็มกลัดเยลโลว์โกลด์รูปแมลงปีกแข็งประดับทับทิมและเพชรอย่างงดงาม ฝีมือการออกแบบดีไซน์โดย Andrew Grima ซึ่งพระเข็มกลัดองค์นี้เป็นของขวัญที่เจ้าชายฟิลิปทรงมอบให้ในปี 1966

พิธีรำลึกเจ้าชายฟิลิป
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงพระเข็มกลัดรูปแมลงปีกแข็งที่พระสวามีทรงมอบให้เป็นของขวัญ

นอกจากพระเข็มกลัดแล้ว ยังมีผู้จับภาพได้ว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์ในนาทีสุดท้ายก่อนเสด็จฯ ลงจากรถยนต์พระที่นั่งเพื่อเข้าร่วมพิธีรำลึกอีกด้วย โดยตอนแรกพระองค์ทรงฉลองพระเนตรขณะประทับอยู่บนรถยนต์พระที่นั่งเคียงคู่เจ้าชายแอนดรูว์ หลังจากนั้นไม่นานพระองค์ทรงถอดฉลองพระเนตรออก และเปลี่ยนมาทรงพระมาลาปักแคบสีเขียวแก่เข้ากับฉลองพระองค์แทน

ภายในพิธีรำลึกยังมีผู้คนอีกมากมายที่สดุดีให้แก่ดยุคแห่งเอดินบะระ ซึ่งนั่นรวมไปถึง Doyin Sonibare เด็กสาวผิวสีผู้ได้รับรางวัล Duke of Edinburgh Gold Award รางวัลแห่งความสำเร็จของเยาวชนชั้นนำระดับโลก โดยเธอได้กล่าวสุนทรพจน์ถึงการได้รับรางวัลจากดยุคแห่งเอดินบะระนั้นส่งผลให้ชีวิตเธอเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน

อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าพระราชวงศ์ทุกพระองค์จะทรงฉลองพระองค์สีเขียว เพราะตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้วจะนิยมสวมใส่เสื้อผ้าสีเข้มเสียมากกว่า อย่างเช่น ซาร่า ทินดอลล์ ที่ดูสวยสง่างามในโททัลลุคสีกรมท่าเคร่งขรึม ทางด้าน เจ้าหญิงยูจินี เองก็ทรงฉลองพระองค์เดรสผ้าพลีทพิมพ์ลายดอกไม้งดงาม ทั้งยังทรงที่คาดพระเศียรปักประดับลูกปัดสุดงดงาม

เจ้าหญิงยูจินี ในฉลองพระองค์เดรสผ้าพลีทพิมพ์ลายดอกไม้ พร้อมที่คาดพระเศียรปักประดับลูกปัด

อีกหนึ่งพระองค์ที่เป็นที่จับตามองเสมอในทุกการปรากฏพระวรกายนั่นก็คือ ดัชเชสแคเธอรีน แห่งเคมบริดจ์ โดยพระองค์ยังทรงพระสิริโฉมงดงามเช่นเคยในฉลองพระองค์ชุดกระโปรงผ้าไหมเครปพิมพ์ลายโพลกาดอตจาก Alessandra Rich ก่อนจะคอมพลีตลุคนี้ด้วยพระมาลาสานสีดำปีกกว้างประดับขนนก

ดัชเชสแคเธอรีน แห่งเคมบริดจ์ ทรงฉลองพระองค์ชุดกระโปรงลายจุด พร้อมด้วยพระมาลาสานปีกกว้างประดับขนนก

หรืออย่าง เจ้าหญิงเบียทริซ เองก็ทรงแหวกขนบธรรมเนียมดั้งเดิมด้วยการทรงที่คาดพระเศียรสีแดงเบอร์กันดี ประดับดอกไม้หลายเลเยอร์สุดงดงาม ขณะเดียวกันพระองค์ก็คงปฏิบัติตามธรรมเนียมด้วยการทรงตาข่ายบังพระพักตร์อันเป็นสิ่งที่พระราชวงศ์มักทรงเพื่อไปร่วมงานพิธีพระศพ

ตาข่ายบังพระพักตร์ นับเป็นสัญลักษณ์ของการแสดงความเคารพต่อผู้ที่จากไปแล้ว โดยธรรมเนียมปฏิบัตินี้เริ่มต้นขึ้นในยุควิคตอเรียที่เหล่าพระราชวงศ์จะทรงตาข่ายสีดำเพื่อบังพระพักตร์ขณะเสด็จไปทรงร่วมพิธีพระศพ เห็นได้จากพระราชพิธีพระศพของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 เมื่อปี 1952 ในครั้งนั้นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 , พระมารดาในพระองค์ , เจ้าหญิงแมรี่ และเจ้าหญิงมาร์กาเร็ตเองล้วนทรงตาข่ายบังพระพักตร์เหมือนกันทั้งสิ้น

เจ้าหญิงเบียทริซ ทรงที่คาดพระเศียรสีแดงเบอร์กันดี พร้อมตาข่ายบังพระพักตร์ตามธรรมเนียม

ใน พิธีรำลึกเจ้าชายฟิลิป เมื่อวันอังคารที่ผ่านมานั้น เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ของอังกฤษต่างเสด็จเดินทางมาทรงร่วมพิธีกันอย่างล้นหลาม นอกจากที่เอ่ยชื่อไปข้างต้นแล้วยังมี เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ , เคาน์เตสโซฟี แห่งเวสเซ็กส์ และรวมไปถึงพระประมุขจากประเทศอื่นๆ ในยุโรปเองด้วยเช่นกัน อาทิ สมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิปเป้ที่ 6 และสมเด็จพระราชินีเลติเซีย แห่งสเปน

เจ้าหญิงแอนน์และทิโมธี ลอว์เรนซ์ พระสวามี, ปีเตอร์ ฟิลลิปส์ พระโอรสองค์โตในเจ้าหญิงแอนน์กับมาร์ค ฟิลลิปส์ อดีตพระสวามี เดินทางมาร่วมพิธีกับลูกสาว อิสล่าและซาวานน่าห์ พร้อมด้วย เลดี้หลุยส์ วินด์เซอร์ และเจมส์ อเล็กซานเดอร์ พระธิดาและพระโอรส

เจ้าหญิงแอนน์ และทิโมธี ลอว์เรนซ์ พระสวามี

นอกจากนี้ พิธีรำลึกทางศาสนาครั้งนี้ยังถือเป็นครั้งแรกที่เหล่าราชนิกุลพระองค์น้อยได้เสด็จมาทรงร่วมพิธี ไม่ว่าจะเป็น เจ้าชายจอร์จและเจ้าหญิงชาร์ล็อตต์ พระโอรสพระธิดาในดยุคและดัชเชสแห่งเคมบริดจ์

รวมทั้งสิ้นมีผู้เข้าร่วมพิธีรำลึกถึงดยุคแห่งเอดินบะระราว 1,800 คน เรียกได้ว่าแน่นขนัดเต็มมหาวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ภาพที่ออกมานั้นแตกต่างจากพิธีพระศพของเจ้าชายฟิลิปอย่างสิ้นเชิง เนื่องด้วยเดือนเมษายนปีที่แล้วนั้นสถานการณ์โควิด-19 มีความรุนแรงกว่า ทำให้ทางสำนักพระราชวังต้องจำกัดให้ในพิธีพระศพเหลือเพียง 30 คนซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพระราชวงศ์ที่ทรงใกล้ชิดกับดยุคแห่งเอดินบะระเท่านั้น

ภาพจาก BBC เสนอข่าวพิธีรำลึกถึงดยุคแห่งเอดินบะระ

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีส่วนร่วมอย่างมากในการจัดพิธีรำลึกถึงเจ้าชายฟิลิปครั้งนี้ โดยเฉพาะรายละเอียดต่างๆ ที่ไม่สามารถจัดในพิธีฝังพระศพของพระสวามีในเดือนเมษายนปีที่แล้ว ซึ่งรวมถึงการเชิญบรรดาผู้ที่ได้รับรางวัล Gold Duke of Edinburgh และเยาวชนที่เป็นสมาชิกของสมาคม UK Cadet Force มาร่วมพิธีครั้งนี้ ตลอดจนการร่วมร้องเพลง Guide Me, O Thou Great Redeemer ตามพระประสงค์ของเจ้าชายฟิลิป โดยระหว่างพิธีเจ้าหญิงเบียทริซ ทรงหลั่งน้ำพระเนตรด้วยความอาลัยยิ่งต่อทูลกระหม่อมปู่

ข้อมูลและรูปภาพ : Courtesy of HELLO! Magazine UK

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.