ถือเป็นอีกตัวอย่างของการสร้างความสำเร็จด้วย ‘ตัวเอง’ ตามแบบฉบับคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง จากเชฟที่ไม่ได้ผ่านการเรียนกับสถาบันชื่อดังใดๆ สู่การเป็นผู้เปิดตำนานเชฟเทเบิลของหวานสไตล์ โอมากาเสะในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ Kyo Roll En, Teraoka Gyoza หรือ Kyo Bar ต่างเป็นที่ยอมรับในหมู่คนรักของหวานและมีสาขารวมกันถึง 50 แห่งในปัจจุบัน ‘คุณเดช คิ้วคชา’ ที่พ่วงทั้งตำแหน่ง Executive Chef และรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท คชา บราเธอร์ส จำกัด ได้เผยว่า ความสำเร็จในปัจจุบันมีจุดเริ่มต้นมาจากที่เขาเลือกจะเป็น ‘Self-Taught Chef’ ตั้งแต่อายุ 23 ปี

“ถึงวันนี้ภูมิใจที่เราได้เรียนรู้และฝึกฝนด้วยตัวเองมากว่า 15 ปี เวลาลูกค้าชมขนมที่เราทำ นั่นคือความภาคภูมิใจสูงสุดของเชฟคนหนึ่ง ถึงแม้แบรนด์เราจะเคยได้รางวัลจากงาน Bangkok’s Best Restaurant Award 2019 ‘The Best Dessert Cafe’ แต่ที่ภูมิใจกว่าคือการได้เป็นเชฟขนมไทยคนเดียวที่ถูกเชิญไปร่วมงาน Cook Japan Project ณ กรุงโตเกียว เมื่อปี 2019 เป็นการรวมเชฟระดับโลกกว่า 40 คน รวมแล้วกว่า 100 ดาวมิชลิน ถือเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่ามาก”
ไม่เพียงหลงใหลในของหวานของญี่ปุ่น คุณเดชยังนำปรัชญาการบริหารงานแบบคนญี่ปุ่นมาใช้ขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง “ผมใช้ทฤษฎี Kaizen ที่ได้ซึมซับจากวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่น ทำให้ไม่หยุดที่จะพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบริหารงานหรือพัฒนาสินค้า เช่น บางเมนูถึงแม้ขายมาแล้ว 10 ปี แต่เราก็จะพยายามพัฒนาให้ดีขึ้นอีก”
อีกส่วนที่ถือเป็นแรงผลักดันให้ธุรกิจในเครือเติบโตอย่างต่อเนื่องคือพนักงาน ซึ่งผู้บริหารมากความสามารถเลือกจะใช้ ‘ใจ’ ในการดูแลทีมงาน ผลลัพธ์ที่ดีจึงเกิดขึ้นได้
“ทุกอย่างอยู่ที่ใจของทีมงาน มันไม่ใช่แค่รสชาติของตัวขนม แต่ต้องเติมรอยยิ้มของพนักงานเข้าไป บทบาทเราจึงเป็นการบริการลูกน้อง หมายถึงช่วยเหลือ แก้ปัญหา และดูแลเพื่อให้เขาบริการลูกค้าให้ดีที่สุด”

และแน่นอนว่าการปล่อยให้ใครรั้งท้ายอยู่ข้างหลัง เป็นสิ่งที่จะไม่เกิดในเครือบริษัทนี้ “You are only as good as weakest link. คือเราจะเก่งเท่ากับคนที่อ่อนที่สุดในทีม เช่น พนักงาน 9 คนให้บริการดี แต่มีคนหนึ่งที่บริการไม่ดี แล้วบังเอิญลูกค้ามาเจอคนนั้นเข้า ก็จะบอกว่าร้านเราบริการไม่ดี ดังนั้นต้องดีเสมอต้นเสมอปลาย” นอกเหนือจากเวลาชีวิตที่ทุ่มเทให้กับการทำงาน เขาแบ่งเวลาอีกส่วนหนึ่งให้กับการคืนสิ่งดีกลับคืนให้กับสังคม
“ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ Chef เข้า Cook เพื่อสร้างกำลังใจและให้โอกาสผู้ต้องขังได้เรียนรู้และฝึกทักษะก่อนพ้นโทษ โดยสอนผู้ต้องขังทำขนมสูตรลับไว้ขายในร้าน Cook & Coff ที่เรือนจำกลางราชบุรี หรือในส่วนของการทำงาน ก็ได้นำแนวคิดการทำเพื่อสังคมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งด้วย อย่างตอนนี้ผมกำลังศึกษาวิธีทำขนมไทยแนวใหม่ๆ รวมถึงการค้นหาและทดลองใช้วัตถุดิบท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมเกษตรกรในบ้านเรา เช่น ช็อกโกแลต เดิมทีที่นำเข้าจากฝรั่งเศส ก็เลือกใช้ช็อกโกแลต ออร์แกนิกจากเชียงใหม่แทน”

ด้วยการบริหารเวลาที่มีคุณภาพตามแบบฉบับของผู้บริหารยุคใหม่ เมื่อพูดถึงคำว่า ‘เวลา’ คุณเดชมองว่าตนเองเป็นคนหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับสิ่งนี้เป็นอย่างมาก “ถ้ามองเรื่องนี้ผ่านการอบขนม เวลา 1 นาที กับ 1 นาที 5 วินาที จะได้ผลออกมาแตกต่างกันมาก ผมจึงเป็นคนที่ซีเรียสเรื่องเวลา ใส่นาฬิกาอยู่ตลอด และชอบสะสมนาฬิกาด้วย
ต้องบอกว่าผมซึมซับวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาตั้งแต่เด็ก จึงคุ้นเคยกับแบรนด์ GRAND SEIKO และชอบในปรัชญาของ GRAND SEIKO คือ คำว่า Shokunin ที่หมายถึง ‘ช่างฝีมือ’ ที่พยายามทำทุกอย่างให้เพอร์เฟกต์ที่สุด เหมือนกับเชฟที่ต้องฝึกฝนและลงมือทำ และเพราะทำเองด้วย ‘มือ’ งานแต่ละชิ้นจึงเรียกว่า ‘งานฝีมือ’ อย่างแท้จริง”