Home > Hello Lists > เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์

เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์

90.อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์-2

“สุนทรียภาพเท่ากับความคิดสร้างสรรค์ ความคิดสร้างสรรค์เท่ากับจินตนาการ การพัฒนาคนที่ดีที่สุดคือการพัฒนาที่ความคิดสร้างสรรค์” ปณิธานในการพัฒนาและอนุรักษ์ศิลปะที่ ‘อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์’ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2554 ได้ฝากไว้หลังจากที่ตัวเขาเองได้สร้างผลงานศิลปะจารึกไว้บนแผ่นดินไทยมากมาย  ซึ่งหากให้พูดถึงผลงานของ อ.เฉลิมชัย ร้อยหน้ากระดาษก็คงไม่หมด เพราะผลงานที่ปรากฏนั้นมากมายเหลือเกิน แต่ที่
โดดเด่นที่สุดคงจะเป็นผลงานรังสรรค์วัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย ที่นักเดินทางจากทั่วโลกต้องมาชื่นชมก่อนตาย

สร้างสรรค์ สืบสาน สนับสนุน จารึกไว้เพื่อแผ่นดิน

ซึ่งนอกจากเรื่องของงานอนุรักษ์ศิลปะแล้ว ด้านงานสืบสาน สนับสนุน อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ก็มีจิตอาสาช่วยเหลือการกุศลหลายโครงการ บางโครงการเราเองก็ไม่เคยทราบมาก่อนเพราะท่านช่วยเหลืออยู่แบบเงียบๆ อย่างการจัดตั้ง ‘ชมรมจิตอาสาเพื่อสังคม’ โดยมีเป้าหมายที่จะมอบความช่วยเหลือ ความอนุเคราะห์แก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม โดย อ.เฉลิมชัยได้มอบเงินส่วนตัวตั้งเป็นกองทุนให้แก่ชมรมฯ โดยไม่ขอรับเงินบริจาคใดๆ แต่ก็มีลูกศิษย์ลูกหาร่วมสมทบทุนเพื่อใช้ในงานของชมรม

“เมื่อเรามีความสำเร็จในชีวิตก็อยากช่วยคนอื่น ก็เลยตั้งชมรมขึ้นมาชื่อ ‘ชมรมจิตอาสาเพื่อสังคม’ เงินมาจากของผมส่วนหนึ่ง และมีของลูกศิษย์ลูกหาที่ร่วมกันบริจาคเข้ามา หรือเอาผลงานของผมไปประมูลบ้างเพื่อหาเงินเข้าชมรม ด้านการช่วยเหลือเรามีการกระจายความช่วยเหลือทั้ง 4 ภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก แต่ละภาคจะมีหัวหน้าคอยดูว่ามีใครที่ต้องการความช่วยเหลือ

“ส่วนเกณฑ์ในการพิจารณาเราก็ดูตามความเหมาะสม ต้องมีการประชุมกัน จะเน้นเคสที่เราไปพบเห็นว่าลำบากจริงๆ หรือสนับสนุนให้ชุมชนอย่างทำห้องน้ำโรงเรียน หรือถ้าเกิดเห็นใครบ้านไฟไหม้ น้ำท่วม ใครทุกข์ยากลำบากก็ช่วย โดยให้หัวหน้าภาคนำทีมไปมอบเงินช่วยเหลือ อาจจะไม่ได้เป็นชมรมโด่งดังแต่เราอยากช่วยคนอื่น”

ไม่ใช่แค่เรื่องบำบัดทุกข์เท่านั้น แต่ในด้านศิลปวัฒนธรรม ในฐานะอาจารย์ที่มีความเป็นห่วงลูกศิษย์ จึงอยากให้มีพื้นที่สำหรับศิลปินได้แสดงผลงาน โดยอาจารย์ได้ประกาศสร้าง ‘หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย’ โดยใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวและการบริจาคของลูกศิษย์ลูกหามูลค่ารวมกว่า 35 ล้านบาท พร้อมประกาศว่าหอศิลป์แห่งนี้จะเป็นโปรเจกต์สุดท้ายในชีวิตที่จะทำ โดยหลังจากนี้ขอพักผ่อน ใช้ชีวิตแบบมีความสุขของตัวเองแล้ว

“อยากให้เมืองเชียงรายมีหอศิลป์ดีๆ เพราะเชียงรายเป็นเมืองศิลปะ มีศิลปินอยู่เยอะ บางครั้งเขาไม่มีที่แสดงผลงาน เราอยากให้ลูกหลานศิลปินได้มีที่แสดงผลงาน เป็นที่เชิดหน้าชูตาของจังหวัดบ้านเกิดเรา อยากให้เป็นหอศิลป์ที่ยิ่งใหญ่อันนึงที่ทั้งคนไทยและต่างชาติต้องมาเยือน ซึ่งตอนนี้เราหยุดสร้างวัดร่องขุ่นแล้ว แต่กำลังสร้างหอศิลป์ให้กับเมืองเชียงราย คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จประมาณปีหน้า (2566) ประกาศเลยว่า หอศิลป์เชียงรายจะเป็นโปรเจกต์สุดท้ายของชีวิต ตอนนี้อายุ 68 แล้ว หลังจากนี้ขอพักผ่อนกับตัวเองสักที” 

ยิ่งได้คุยก็ยิ่งทราบว่า อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ มีส่วนในการช่วยเหลือสังคมในด้านศิลปวัฒนธรรมมากเหลือเกิน เพราะนอกจากโปรเจกต์ต่างๆ ที่กล่าวมา อ.เฉลิมชัยยังสนับสนุนเรื่องการศึกษาโดยบริจาคเงินให้สถาบันพุทธศิลปกรรมแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เปิดหลักสูตรพุทธศิลปกรรม โดยมีเจตนารมย์ในสืบสานงานพุทธศิลป์ สร้างความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ และยังส่งเสริมการบริหารจัดการผลงานศิลปะ เพื่อนำไปเผยแพร่อีกด้วย

“อะไรที่เป็นศิลปวัฒนธรรมเราอยากมีส่วนช่วย มีการสนันสนุนให้ทุนการศึกษาเด็กบ้าง นอกจากนี้ก็มีการสนับสนุนสถาบันพุทธศิลปกรรมแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงให้เด็กเรียนฟรี อย่างรุ่นแรกที่จบมาเราก็นำผลงานมาแสดงที่ไอคอนสยาม หลักสำคัญของเราคือการให้การศึกษาฟรีแก่คนที่อยากเรียนศิลปะ คิดว่าการสนับสนุนแนวทางนี้เป็นหลักใหญ่ที่จะทำให้การอนุรักษ์ศิลปะมีความยั่งยืน สั่งเสียกับลูกกับเมียไว้แล้วว่าถ้าเราไม่อยู่ในโลกนี้แล้ว ลูกเมียก็ต้องสนับสนุนส่งเสียต่อไป”

แต่สำหรับเมืองไทยนั้นเรื่องของศิลปะ อาจจะยังไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างแพร่หลายสักเท่าไหร่ ฉะนั้น อ.เฉลิมชัยจะขอเป็นแรงหลักในการผลักดันสุนทรียภาพและความงามให้พัฒนาอย่างเข้าถึงและทั่วถึง

“ประเทศไทยเรายังปากกัดตีนถีบ คนอาจจะมองข้ามเรื่องความรู้สึก จิตวิญญาณไม่เห็นความงามของศิลปะ เราต้องเข้าใจสังคม แต่สมัยนี้ดีกว่าสมัยผมเด็กๆ เยอะมาก เดี๋ยวนี้มีงานแสดงศิลปะมากขึ้น วงการศิลปะกว้างขึ้น มีแกลเลอรี่มากมาย มีนักสะสมเพิ่มขึ้น พ่อแม่ก็สนับสนุนลูกให้เรียนมากขึ้น ศิลปินดังๆ ก็เยอะแยะ หวังว่าสิ่งที่เราได้สร้างพื้นฐานที่ดีไว้กับเด็กรุ่นต่อไปจะทำให้ศิลปะก้าวกระโดดขึ้น”

ในตอนท้าย อ.เฉลิมชัยยังมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนงานสืบสานศิลปะต่อไป โดยกล่าวทิ้งท้ายว่า “สุนทรียภาพเท่ากับความคิดสร้างสรรค์ ความคิดสร้างสรรค์เท่ากับจินตนาการ การพัฒนาคนที่ดีที่สุดคือการพัฒนาที่ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดสร้างสรรค์มาจากไหน ก็มาจากการเข้าใจสุนทรียภาพ สุนทรียภาพก็คือศิลปะ…ศิลปะเมื่อเข้าใจแล้วจะรู้ว่าความเป็นตัวตนนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ศิลปะสอนให้มีจินตนาการ ศิลปะไม่สอนให้ลอกใคร ให้คิดใหม่ ทำใหม่ เขาสามารถนำศิลปะไปใช้ในการสร้างสรรค์อาชีพของเขาได้ นั่นคือความเจริญของประเทศ”

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.