Home > Hello Lists > ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ

409.ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ-2

นับเป็นเวลาเกือบ 10 ปีที่ ‘ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ’ ตั้งใจสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูตลอดจนเผยแพร่ผ้าไทยให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ตั้งแต่รับตำแหน่งเป็นประธานสภาสตรีในพระบรมราชินูปถัมภ์ จวบจนปัจจุบันในฐานะนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ด้วยเพราะเข้าใจดีว่ามากกว่าการอนุรักษ์ คือ ‘ปากท้อง’ และ ‘ลมหายใจ’ ของชาวบ้านจำนวนมากทั่วประเทศ

หลังจากดำรงตำแหน่งประธานสภาสตรีฯ ในปี พ.ศ. 2558 ดร.วันดี สนับสนุนผ้าไทยตั้งแต่ต้นน้ำหรือความรู้ ผ่านการจัดโครงการตามรอยผ้าไทย ลมหายใจแม่ของแผ่นดิน เพื่อนำสมาชิกไปศึกษาเรื่องผ้าไทยทั่วประเทศ ซึ่งทำให้ได้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการรื้อฟื้นภูมิปัญญาการทอผ้าไทย และทรงก่อตั้งศูนย์ศิลปาชีพเพื่อรับซื้อผ้าทอไทยจากชาวบ้านตลอดจนงานหัตถกรรมอื่นๆ จนทำให้การทอผ้าเป็นอาชีพหลักที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านหลายครอบครัว

“ปัจจุบันมีชาวบ้านหลายคนที่หันมาทอผ้าเป็นหลัก เพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัว จนกลับมามีชีวิตที่ดีด้วยมีรายได้จากการทอผ้า นอกจากนี้เทคนิคการทอผ้าต่างๆ ที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมยังถูกพลิกฟื้นกลับมาสู่สังคมอีกครั้ง ผู้หญิงนับแสนคนมีอาชีพทอผ้า เพราะฉะนั้นความนิยมในการสวมใส่ผ้าไทย จึงไม่ใช่แค่การรักษาเอกลักษณ์ภูมิปัญญาไทย รักษาวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง เพราะถ้าผู้หญิงมีรายได้จากการทอผ้า ก็จะนำไปสู่การศึกษาของลูกที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่แม่ทุกคนให้ความสำคัญ”

ทุ่มเทลมหายใจ ส่งเสริมผ้าไทยตั้งแต่ต้นถึงปลายน้ำ

ถัดจากการให้ความรู้และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการสนับสนุนผ้าไทย โครงการต่อมาคือสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน เพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อสนับสนุนผ้าไทย รัฐบาลได้มีมติคณะรัฐมนตรี ให้ข้าราชการไทยเพิ่มวันใส่ผ้าไทยจาก 1 วันเป็น 2 วัน ต่อสัปดาห์ 

ส่วนปีนี้ซึ่งถือเป็นปีมหามงคลที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เจริญพระชนมายุ 90 พรรษา ในฐานะนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ยังคงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนคนไทยร่วมใจกันสวมใส่ผ้าไทย เช่น การพลิกฟื้นภูมิปัญญาผ้าไทยต่างๆ ให้คนเรียนรู้ว่า “ผ้าหนึ่งผืนเป็นลมหายใจของผู้หญิง ที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนทั้งครอบครัวได้” นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดงานผ้าไทยจากสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยพระราชทานลายผ้าขอเจ้าฟ้าสิริวัณวรี เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่มีอาชีพทอผ้าได้มาถักทอเป็นอาชีพ จนได้รับความนิยมทั่วประเทศ เสมือนน้ำฝนตกกลางทะเลทราย นอกจากนี้ยังพระราชทานแนวคิด ผ้าไทยใส่ให้สนุก เพื่อส่งเสริมให้นักออกแบบ ผู้มีอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าได้นำแนวคิดตัดผ้าไทยให้สวมใส่ได้ทุกช่วงวัย 

การทรงงานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ที่นำดีไซเนอร์มาช่วยให้ความรู้และแรงบันดาลใจในการออกแบบผ้าไทย ทำให้ ดร.วันดีเห็นถึงความสำคัญของ ‘การออกแบบ’ บันไดก้าวสำคัญที่จะทำให้ความนิยมของผ้าไทยเข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น “ทุกวันนี้เรามีวัสดุที่ดี มีตลาดแต่สิ่งที่ยังขาดคือดีไซเนอร์ ผ้าไทยมีลวดลายที่สวยงามอยู่ในตัวเอง หากได้รับการออกแบบที่ดี เมื่อตัดเย็บออกมาแล้วก็ดูสวยงาม ทันสมัย ดังนั้นปีหน้าจึงตั้งใจทำเรื่องการสร้างนักออกแบบและตัดเย็บโดยการจัดประกวดทั่วประเทศ เปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงศักยภาพ เพื่อให้ครบองค์ประกอบของการพัฒนาผ้าไทย

“แรงบันดาลใจในการทุ่มเททำงานด้านผ้าไทยมาตลอดคือ การได้เห็นการทรงงานหนักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศานุวงศ์ไทยทุกพระองค์ทรงงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อประชาชน จึงมีความรู้สึกต้องการตอบแทนคุณแผ่นดิน และตั้งใจว่าตราบใดที่ยังมีลมหายใจก็ยังทำงานด้านนี้ต่อไปเรื่อยๆ” ดร.วันดีกล่าวถึงแรงบันดาลใจในการทุ่มทำงานด้านผ้าไทย

“อีกหนึ่งส่วนสำคัญคือแรงสนับสนุนจากครอบครัว โดยเฉพาะสามี (สุทธิพงษ์ จุลเจริญ) ปัจจุบันเป็นปลัดกระทรวงหมาดไทย ที่มีความเชื่อมั่นเดียวกัน นับเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ที่เราสวมใส่ผ้าไทยทุกวัน ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ พยายามสร้างความคุ้นชินให้เกิดขึ้นในสังคม เพราะส่วนตัวผ้าไทยไม่ใช่แค่เรื่องของความสวยงาม แต่เป็นการดำรงตนในฐานะคนไทย รวมถึงช่วยพี่น้องประชาชน นอกจากนี้ลูกสาว น้องหนึ่ง-วรชา กุญชรยาคง จุลเจริญ ที่จบการศึกษาด้านการสื่อสารจากอังกฤษ ยังชอบและรักผ้าไทย ถึงกับไปเรียนออกแบบตัดเย็บเพื่อเข้าใจในการจับวางลวดลายผ้าไทยให้สวยงามด้วย”

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.