Home > Hello Lists > ม.ล.วรุตม์ วรวรรณ

ม.ล.วรุตม์ วรวรรณ

403.ม.ล.วรุตม์ วรวรรณ-2

“มุมมองของคนทั่วไปอาจมองงานสถาปัตยกรรม เป็นการออกแบบเพื่อความสวยงาม เพื่อคนบางกลุ่ม แต่เมื่อเราได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปสัมผัสการทำงานช่วยสังคม จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้รู้สึกว่า งานออกแบบก็สามารถช่วยแก้ปัญหา ช่วยทำให้คนบางกลุ่มที่ขาดโอกาสมีความเป็นอยู่ดีขึ้นได้จริง ไม่แพ้สายอาชีพอื่น แม้เป็นงานที่ยากและท้าทาย แต่เมื่อได้เข้าไปสัมผัสแล้ว ทำให้สนใจและอยากทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง” 

คำพูดที่เผยให้เห็นความตั้งใจของสถาปนิกหนุ่ม ผู้ก่อตั้งบริษัท Vin Varavarn Architects คุณวิน-ม.ล.วรุตม์ วรวรรณ หลานปู่ ศ. ม.จ.โวฒยากร วรวรรณ อดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบุตรชายของ รศ. ม.ร.ว.ชาญวุฒิ วรวรรณ – คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ผู้ที่ได้นำวิชาความรู้จากการศึกษาในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาสถาปัตยกรรมภายใน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  Master of Arts สาขา Communication Design, Central Saint Martins – University of the Arts, London และ Architectural Association School of Architecture, London ประเทศอังกฤษ พร้อมด้วยประสบการณ์ในการทำงานมาสร้างสรรค์ผลงานให้แก่สังคม

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2557 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว 6.3 ริกเตอร์ ที่จังหวัดเชียงราย คุณวินและกลุ่มออฟฟิศสถาปนิกรุ่นใหม่ ได้รับการติดต่อจากทีมงาน Design for Disasters หรือเครือข่ายความคิดสร้างสรรค์เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและจัดการภัยพิบัติ เพื่อชวนให้ไปร่วมโครงการออกแบบโรงเรียนและช่วยเหลือนักเรียนที่ประสบภัย ซึ่งคุณวินเป็น 1 ใน 9 ทีม ที่เข้าร่วมโครงการ กับโครงการ ‘ห้องเรียนพอดีพอดี’ สื่อถึงความพอดีในการออกแบบก่อสร้าง เลือกวัสดุราคาไม่แพง หาได้ง่ายในพื้นที่ ก่อสร้างได้รวดเร็ว และปลอดภัยสามารถรองรับแผ่นดินไหวได้ โดยทีมของคุณวินได้ออกแบบอาคารให้โรงเรียนห้วยส้านยาววิทยา และนับเป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสนำความรู้ความสามารถทางวิชาชีพ มาทำงานสาธารณประโยชน์ เพื่อช่วยเหลือชุมชนและสังคม 

“เราใช้เวลาในการออกแบบเพียง 2 – 3 สัปดาห์ แต่ใช้เวลานานในการหาผู้สนับสนุนทางงบประมาณ เพราะอาคารที่ต้านแผ่นดินไหวมีค่าก่อสร้างที่สูงกว่าอาคารปกติ เราโชคดีที่ท่าน ว.วชิรเมธี ได้ทราบถึงโครงการและมาร่วมสมทบทุน โดยใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี” 

หลังจากนั้น มีอีกหลายโครงการที่คุณวินได้เข้าไปมีส่วนร่วมไม่เพียงแต่ในประเทศไทย โดย 2 ปีต่อมาได้รับการติดต่อจากองค์กรรัฐบาลสาธารณรัฐเอกวาดอร์ เพื่อขออนุญาตนำแบบโรงเรียนที่เชียงรายไปฟื้นฟูชุมชนที่เมือง El Matal ซึ่งประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหว 7.8 ริกเตอร์ และร่วมกับมูลนิธิมดชนะภัย ออกแบบกุฏิต้านแผ่นดินไหวให้วัดดงมะเฟือง จังหวัดเชียงราย อีกทั้งยังมีองค์กรการกุศล ชาวต่างชาติ และคนทั่วไปจำนวนมากติดต่อผ่านทางอีเมล์ ขอคำปรึกษาทางด้านงานออกแบบเพื่อสาธารณประโยชน์ 

ต่อมาใน พ.ศ. 2561 ได้รับการติดต่อจากทีมงานมูลนิธิ The Build Foundation ที่ทำงานสร้างโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร โดยต้องการนำแบบไปสร้างโรงเรียนบ้านฮ่องแฮ่ ที่เชียงราย ซึ่งประสบภัยแผ่นดินไหวตั้งแต่ พ.ศ. 2557 แต่ยังไม่ได้รับงบประมาณการบูรณะซ่อมแซม การร่วมงานครั้งนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของคุณวินในการร่วมงานกับมูลนิธิฯ อย่างต่อเนื่อง จนมาถึงการออกแบบฟื้นฟูโรงเรียนบ้านคลองบอน  เกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นโรงเรียนของชุมชนมุสลิม ตัวอาคารเรียนมีสภาพทรุดโทรมจากพายุ และจำนวนห้องเรียนไม่เพียงพอ แต่กลับพบว่าเด็กๆ ในโรงเรียนมีฝีมือการวาดภาพจนได้รับรางวัลระดับประเทศมากมาย แนวทางการออกแบบจึงไม่ใช่เพียงแค่ออกแบบตัวอาคาร แต่ตั้งใจสร้างพื้นที่และกิจกรรมทางศิลปะแบบต่างๆ ให้เด็กๆ ด้วย 

“ปัญหาอุปสรรคแต่ละที่มีความแตกต่างกัน การออกแบบแต่ละครั้งจึงต้องทำด้วยความเข้าใจ ให้ตรงกับวัตถุประสงค์การใช้งาน แม้จะมีอุปสรรคมากมาย แต่มองว่าเป็นความท้าทาย อีกทั้งเราไม่ได้ทำงานคนเดียว แต่ทำกันเป็นทีม จึงเชื่อว่าจะสามารถผ่านปัญหาต่างๆ ไปได้ด้วยการร่วมมือกัน อย่างโรงเรียนบ้านคลองบอน เนื่องจากตั้งอยู่บนเกาะ ทำให้งบประมาณการก่อสร้างเพิ่มเป็น 2 เท่า จึงแก้ปัญหาด้วยการออกแบบอาคารเรียนด้วยโครงสร้าง precast concrete บนแผ่นดินใหญ่แล้วขนส่งทางเรือก่อนนำมาประกอบบนเกาะ ดังนั้นการก่อสร้างจะรวดเร็วและประหยัดขึ้น” คุณวินกล่าว

ล่าสุดร่วมกับมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ และกองทัพภาคที่ 1 ในการออกแบบพัฒนาที่อยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้กับผู้ด้อยโอกาสในกรุงเทพฯ และ 25 จังหวัดภาคกลาง ตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 10 ซึ่งนับเป็นโครงการที่ยากที่สุดโครงการหนึ่งเท่าที่คุณวินเคยทำมา เพราะมีข้อจำกัดทั้งงบประมาณ พื้นที่ วิธีการทำงาน และความซับซ้อนของวิถีชีวิต ทำให้ต้องใช้เวลาในการทำงาน ศึกษาและเรียนรู้เข้าใจชุมชน โดยเข้ามาช่วยปรับแบบบ้านในเฟสแรก และดำเนินงานจนจบในเฟสที่ 5 ออกแบบและก่อสร้างจำนวน 47 หลัง จากทั้งหมด 87 หลัง 

อาชีพสถาปนิกไม่ใช่อาชีพที่ง่าย และเป็นงานที่ใช้ระยะเวลาค่อนข้างยาวนานในแต่ละโปรเจกต์ ตลอด 17 ปี กับการบริหารบริษัทและมีโอกาสช่วยเหลือสังคม สิ่งนี้ทำให้เกิดพลังบวก และความสุขใจในการทำงาน จึงเป็นที่มาของความตั้งใจที่จะทำงานสาธารณประโยชน์ต่อไปอย่างต่อเนื่อง

ส่วนความสำเร็จ คุณวินบอกว่าขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน สำหรับตัวเองวัดด้วยความสุขและความพอใจในที่เป็นอยู่ หากเอ่ยถึงความสำเร็จก็คงสำเร็จในระดับหนึ่งที่น่าพอใจด้วยมาตราวัดของตัวเอง ได้ทำงานที่รัก รวมถึงได้ทำตามอุดมการณ์นำวิชาชีพช่วยชุมชนและสังคม ขณะเดียวกันยังสามารถรักษาความสมดุลในเรื่องของงานและครอบครัวได้ลงตัว มีความสมบูรณ์ในการทำหน้าที่ทั้งสองด้านเพื่อตัวเองและคนรอบข้าง

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.