เป็นระยะเวลากว่า 20 ปี กับการสร้างสรรค์จากศิลปะจากสิ่งของรีไซเคิล ที่หลายคนมักจะมองสิ่งเหล่านั้น
เป็นเพียง ‘เศษขยะ’ แต่ในทางตรงกันข้าม ‘คุณมุก-เพลินจันทร์ วิญญรัตน์’ เจ้าของแบรนด์กระเป๋าผ้าทอแฮนด์เมด Mook V กลับมองเห็นถึงคุณค่าของทุกสิ่งทุกอย่างที่อาจจะหมดประโยชน์สำหรับใครบางคน
“มุกทำเรื่องรีไซเคิลมาตลอดตั้งแต่เปิดบริษัท Beyond Living Co., Ltd. & MookV ส่วนตัวมุกไม่ชอบการ Waste เพราะมุกต้องการให้สตูดิโอเป็น Zero Waste งานจึงเป็นรูปแบบ Circular Economy มุกใช้เวลาเก็บขยะมาตลอดเป็นระยะเวลาหลายปี เวลาทอพรมให้โรงแรม มีเศษเส้นด้ายเหลือ เราก็จะเอามาทอหรือถักเป็นกระเป๋า วัตถุดิบที่เหลือจากงานต่างๆ อย่างเวลาทำหมอนให้โรงแรม ผ้าที่นำมาตัดจะเป็นหน้ากว้าง ยกตัวอย่างตัดเป็นหมอน จะเหลือผ้าเป็นแนวยาว และผ้าพวกนี้ มุกก็เก็บไว้นำมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะแทนที่จะเอาไปทิ้ง

“แต่จุดประสงค์ที่อยากทำจริงๆ คือสร้างนิสัยให้กับเด็กยุคใหม่ เริ่มต้นจากลูกของเราก่อน เวลาลูกดื่มน้ำ หรือกินอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะที่โรงเรียน หรือที่ไหนลูกต้องถือกลับมาบ้านทุกครั้ง อย่าง เวลาไปเที่ยวทะเลจะต้องมี 1- 2 วันที่เป็นวันเก็บขยะ เราก็จะเดินไปเก็บเศษสิ่งของต่างๆ ที่ซัดมาบนชายหาด เก็บมาเยอะมาก บางครั้งได้เป็นร้อยกิโล เมื่อลูกก็จะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ที่คนอื่นทิ้งเป็นขยะอยู่บนชายหาด ไม่เห็นคุณค่า แต่แม่เอากลับมาทำเป็นงานอาร์ต เพิ่มมูลค่า สามารถขายได้ บางครั้งถ้ามีคนมาซื้อ เราแบ่งค่าขนมให้กับลูก เพื่อเป็นรางวัลในการเก็บขยะ ลูกจะเติบโตมากับสิ่งเหล่านี้ และปลูกฝังเป็นนิสัย”
สำหรับชิ้นงานล่าสุดของเธอซึ่งจัดแสดงที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คุณมุกอธิบายรายละเอียดให้ฟังว่า “ด้านหลังที่เป็นสีเขียว ก็เกิดจากผ้าที่เหลือจากโปรเจกต์ต่างๆ บางส่วนเป็นผ้าจากการสนับสนุนของบริษัท Thai Bev จากโครงการของชาวบ้านที่เขาไปช่วยเหลือ ส่วนใหญ่มุกพยายามใช้ผ้าที่เหลือจากโปรเจกต์ต่างๆ บางชิ้นอยู่มา 20 ปี ส่วนอีกฝั่งที่เป็นผนังสีน้ำเงินทอด้วยขยะจากครอบครัว และคอมมิวนิตี้ของเรา ถ้ามองดูใกล้ๆ จะเห็นเลยว่าเป็นกระป๋องน้ำ เป็นขวดพลาสติก เป็นเศษผ้า เป็นเส้นด้ายที่เหลือจากการทำโปรดักชั่นต่างๆ เราช่วยกันทำงานชิ้นนี้ให้เสร็จภายในระยะเวลา 58 วัน ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่สั้นที่สุด บนชิ้นงานที่ใหญ่ที่สุดที่เคยทำมา โดยงานมีขนาดยาว 24 เมตร และสูง 6.50 เมตร 2 ผนัง งานชิ้นนี้จึงเรียกว่าเป็นงานชิ้นที่ภาคภูมิใจที่สุดค่ะ”
ไม่เพียงเท่านั้นเธอยังเล่าถึงการใช้ชีวิตและการปลูกฝังการแยกขยะที่เริ่มต้นง่ายๆ จากคนในครอบครัว “ครอบครัวเรามีการแยกขยะมานานแล้ว สามีค่อนข้างสตริกต์มาก ขนาดถ่านที่ใช้ต้องเป็นแบบ rechargeable หลอดไฟ แก้ว ทุกอย่างจะแยกทิ้ง หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่าแก้วรีไซเคิลกำจัดยากกว่าพลาสติก เนื่องจากพลาสติกยังสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่สำหรับจำพวกแก้วยากกว่า อย่างสายชาร์จต่างๆ ไม่เคยทิ้ง เก็บไว้ทำเป็นงานอาร์ต มุกทำทุกอย่างจนกลายเป็นนิสัย เพราะส่วนตัวเป็นคนไม่ชอบทิ้งข้าวของ ขนาดถุงน่องที่ใช้มาตั้งแต่เด็กๆ หรือผลงานตั้งแต่สมัยเรียนก็ยังเก็บอยู่จนถึงตอนนี้ มุกคิดว่างานบางชิ้นมันอาจจะไม่ใช่สิ่งสวยงามในวันนี้จึงขายไม่ได้ แต่ในอนาคตข้างหน้าถ้าเรานำเอากลับมาทำบางอย่างใหม่ อาจจะช่วยเพิ่มมูลค่า และเพิ่มเสน่ห์ให้กับสิ่งของที่เคยไร้ค่า ให้กลับมามีราคาสามารถขายได้

‘สิ่งที่ยิ่งใหญ่มักเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ’
“มุกไม่ได้คิดจะเปลี่ยนแปลงโลก หรือคิดว่าสิ่งที่ทำจะช่วยลดอุณภูมิโลกที่ร้อนลง หรืออากาศที่หนาวขึ้น มุกแค่มองว่าเราเป็นส่วนคนตัวเล็กๆ เป็นส่วนเล็กๆ ที่พอจะช่วยได้ในจุดนี้ได้ แค่เล็กๆ ยังไม่ต้องไปทำไกล เริ่มจากตัวเอง ครอบครัว และคอมมิวนิตี้รอบตัว เมื่อคนเหล่านี้เขาทำจนติดเป็นนิสัย ต่อไปมันก็มีโอกาสที่จะขยาย
วงกว้างในการตระหนักรู้มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่ทำงานของมุก ข้างๆ กี่ทอผ้าจะมีถุงวางอยู่ เวลาพนักงานตัดเส้นด้ายที่เหลือใช้ก็จะเก็บใส่ไว้ในถุง และเส้นด้ายเหล่านี้ก็จะถูกหมุนเวียนกลับมาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะอีกครั้งหนึ่ง หรือเวลาไปต่างจังหวัดกับกลุ่มเพื่อน กลุ่มลูกเพื่อน ทุกคนก็จะทำอย่างที่เราทำ ตอนนี้มีคนส่งขยะมาให้มุกตลอดเวลา คนเริ่มตื่นตัวกับเรื่องเหล่านี้”
อย่างไรก็ตามเป้าหมายหลักของคุณมุกคือต้องการสร้างนิสัยให้เด็กรุ่นใหม่ โดยมองว่าการประพฤติตนเป็นตัวอย่างที่ดีจะช่วยปลูกฝังจิตใต้สำนึกที่ดีได้โดยไม่ต้องใช้วิธีบังคับ ทุกอย่างทุกคนจะทำเองได้โดยอัตโนมัติ “ถ้าทำอะไรอยากให้ทำจากจิตใต้สำนึก ทำให้เป็นนิสัย อย่าไปทำตามกระแส อะไรที่ตามกระแสมันมาเร็วและไปเร็ว ไม่มีอะไรอยู่ได้นาน เพราะฉะนั้นการที่เราจะอยู่บนความยั่งยืนได้ ทุกอย่างที่ทำต้องมาจากข้างใน มาจากจิตใต้สำนึก มาจากนิสัย ทุกอย่างจะส่งผลดีในระยะยาว และทุกอย่างจะค่อยๆ ดีขึ้นได้ ถ้าเริ่มจากตัวเราก่อน”