“ผม คือ คนที่โชคดีที่สุดในโลก และผมอยากนำความโชคดีนั้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับคนในสังคมที่ยังขาดโอกาส” นี่คือคำพูดที่กลั่นออกมาจากใจของคุณเกรท-เสกสรร รวยภิรมย์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิที่ชื่อว่า ‘สติ’ เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน ด้วยหัวใจที่มุ่งมั่น เพราะในขณะที่บางคนอาจจะเลือกเดินตามความฝันของตัวเอง จนถึงจุดที่อิ่มตัว จึงค่อยๆ ผันตัวเองมาทำงานเพื่อสังคม แต่สำหรับคุณเกรท เขามีความฝันว่าอยากจะทำงานเพื่อสังคมมาตั้งแต่อายุ 12 ปี พอเข้าสู่วัยรุ่นก็เริ่มทำงานอาสาสมัครมาตั้งแต่อยู่ที่สหรัฐอเมริกา จนกระทั่งกลับมาเมืองไทย และได้ทำความฝันให้เป็นจริง
“ผมเกิดและเติบโตที่สหรัฐฯ ผมโชคดีที่เกิดในครอบครัวที่ค่อนข้างพร้อม สมัยเด็กคุณแม่จะสอน 2 เรื่อง คือ ธรรมะและเล่าถึงพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 พอวันหยุด คุณพ่อคุณแม่ก็จะพาไปสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า พออายุ 14 – 15 ปี ผมก็เริ่มเป็นอาสาสมัครตามโรงพยาบาลต่างๆ มาเรื่อยๆ”
พอถึงวัยเข้ามหาวิทยาลัย คุณเกรทเลือกเรียนคณะแพทยศาสตร์จนถึงปริญญาเอก แต่กลับไม่เคยสวมชุดกาวน์ ทำหน้าที่หมอ เพราะตอนที่เรียนจบ ยังไม่ทันตัดสินใจว่าอนาคตจะเดินไปทางไหนดี แพสชั่นที่มีอยู่ในใจก็ผลักดันให้เขาตัดสินใจเบนเข็มชีวิตมาก่อตั้งมูลนิธิ ‘สติ’

“ผมตั้งมูลนิธิประมาณ พ.ศ. 2556 แต่ก่อนหน้านั้น ผมกลับมาบวชที่เมืองไทย ปีนั้นเป็นปีที่กรุงเทพฯ น้ำท่วมใหญ่ จำได้ว่าตอนที่สึก แล้วจะเดินทางจากขอนเแก่นเข้ามากรุงเทพฯ ยากมาก แต่พอกลับมากรุงเทพฯ ได้ ผมก็ไปเป็นอาสาสมัครช่วยตามจุดประสบน้ำท่วมต่างๆ ทำให้ได้เห็นว่า ยังมีคนอีกมากที่ต้องการโอกาสและความช่วยเหลือ เลยฉุกคิดว่า ถ้าผมอยากจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคม จะรอให้ถึงวันที่ผมรวยเท่าบิล เกตต์ แล้วค่อยมาตั้งมูลนิธิคงไม่ได้ ถ้าจะทำ ก็ต้องเริ่มเลย”
จากความคิดที่ตกผลึกวันนั้น นำมาซึ่งการตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่ ทำให้คุณเกรทตัดสินใจไม่เป็นหมอ แต่เลือกที่จะเปิดมูลนิธิ เพื่อช่วยเหลือเด็กและผู้คนในสังคมที่ขาดโอกาสทั้งในด้านสุขภาพและการศึกษา รวมไปถึงการทำให้เด็กๆ ได้เห็นคุณค่าที่มีในตัวเอง เพื่อใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า โดยกุญแจดอกสำคัญที่จะทำให้เขาสามารถหยิบยื่นโอกาสและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ต้องอาศัย ‘สติ’ จึงกลายเป็นที่มาของชื่อมูลนิธิ
“มูลนิธิสติจะจำแนกเด็กออกเป็น 2 กลุ่ม คือ เด็กต่างจังหวัดที่ขาดโอกาส กับเด็กในกรุงเทพฯ ที่เป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี ทำให้ติดยาเสพติด หรือไปค้าประเวณี โดยเราจะจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้กับเด็กๆ ตั้งแต่เรื่องโภชนาการและสุขภาพ ก่อนจะเสริมทักษะอาชีพเพื่อให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า และมีทักษะที่จะไปต่อยอดเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวในอนาคตได้ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น กิจกรรมถ่ายภาพ งานศิลปะ หรือแม้แต่สอนแต่งเนื้อเพลงแร็พ สอนทำอาหาร ชงกาแฟ เป็นต้น”
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการดูแลมูลนิธิ คุณเกรทยังเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งร้านอาหารแพลนต์เบส Broccoli Revolution, Na café และ Buenazo by Na Projects ซึ่งเขาตั้งใจให้มาเป็นส่วนหนึ่งใน Ecosystems ของการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคม
“ผมเน้นลงพื้นที่จริงไปเจอเด็กๆ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ได้มีธุรกิจของตัวเอง ผมคงปลีกตัวมาทำได้ลำบาก ดังนั้นการทำร้านอาหารตอบโจทย์ เพราะผมเองก็มีประสบการณ์ทำงานร้านอาหารตั้งแต่อยู่ต่างประเทศ ที่สำคัญ ทุกร้านของผมมีไอเดียที่จะช่วยเหลือสังคม เช่น ที่ร้าน Broccoli Revolution รายได้จากการขายน้ำจำนวน 9 บาท บริจาคให้กับ ‘มูลนิธิสติ’ หรืออย่างการที่เราเน้นอาหารพวกผัก ลดการใช้พลาสติกก็เป็นการช่วยสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญที่สุด ทั้งสามร้านยังเป็นพื้นที่ที่พร้อมเปิดโอกาสเด็กๆ ของมูลนิธิได้มาทำงาน มีอาชีพและรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว”

สำหรับเป้าหมายในอนาคต คุณเกรทตั้งใจจะขยายการทำงานของมูลนิธิให้ครอบคลุมมากขึ้น นอกจากนี้ เมื่อเร็วๆ นี้เขาเพิ่งพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อให้สมาชิกในมูลนิธิใช้เป็นสื่อกลางในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สามารถมาขอคำปรึกษากับนักจิตวิทยา รวมทั้งยังทำในรูปแบบเกมส์ เพื่อกระตุ้นให้สมาชิกในกลุ่มมีส่วนร่วม เช่น ในรายที่มีปัญหาสุขภาพ ถ้าตรวจเลือดหรือกินยาทุกวันแล้วถ่ายรูปส่งมา จะได้ 1,000 แต้มไปสะสมไว้ ซึ่งในอนาคต เขาจะไปจับมือกับแบรนด์สินค้าต่างๆ เพื่อให้สมาชิกนำแต้มไปแลกเป็นสินค้าหรือบริการได้”
สุดท้ายนี้ ถ้าถามว่า ความสุขของคุณเกรท ซึ่งนิยามตัวเองว่าเป็นหนึ่งในอาสาสมัครของมูลนิธิคืออะไร เจ้าตัวตอบอย่างฉะฉานว่า ถึงเขาจะไม่ได้สามารถหยิบยื่นหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เด็กๆ นับหมื่นที่เจอได้ แต่อย่างน้อยการได้มอบโอกาสหรือดึงเด็กๆ ออกจากความเสี่ยง ก็คือความสุขที่สัมผัสได้เช่นกัน