ตั้งปณิธานว่าขอทุ่มเททั้งชีวิตให้กับการอนุรักษ์ท้องทะเลไทย ‘ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์’ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศทางทะเลแถวหน้าของประเทศไทย หรืออีกชื่อที่เราคุ้นตามสื่อก็คือ ดร.ธรณ์ เพราะไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรเกี่ยวกับท้องทะเล หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ หลายคนจะนึกถึงสิ่งที่ ดร.ธรณ์เพียรพยายามทำและรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนตัวเขานั้นพร้อมที่จะลงมือทำอย่างไม่ลังเลเพราะชีวิตนี้ขออุทิศให้ทะเลไปแล้ว
“จุดเริ่มต้นที่สนใจจริงๆ คือคุณพ่อทำงานอุทยานแห่งชาติทางทะเล มีโอกาสติดตามคุณพ่อ (ดร.เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีต รมช. และปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ไปทำงานตั้งแต่เด็ก ฉะนั้นสิ่งที่ผมเห็นตอนเด็กๆ คือเห็นการทำงานในการอนุรักษ์ทะเลของคุณพ่อ รู้สึกว่าทะเลมีความน่ารัก ในท้องทะเลมีอะไรเยอะแยะ มีประโยชน์มากมาย ผมลงไปว่ายน้ำ ปลาก็ว่ายมาหาผมแล้ว ทำให้ยิ่งรู้สึกหลงใหลในทะเล ด้วยความคิดตอนเด็กคิดว่าถ้ามีอะไรช่วยได้ เราอยากช่วย แต่พอเริ่มช่วยแล้วรู้สึกไม่สะใจ เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นเราทุ่มทั้งชีวิตเลยดีกว่า!”
เรียกว่ารู้เป้าหมายของชีวิตตั้งแต่เรียนมัธยมชั้นปีที่ 3 ว่าต้องการที่จะศึกษาเกี่ยวกับท้องทะเล จึงตั้งเป้าตั้งแต่เรียนที่โรงเรียนสาธิตฯ จุฬา จากนั้นเข้าศึกษาต่อจนจบระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในสาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังศึกษาระดับปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่ James Cook University ประเทศออสเตรเลีย จนคว้าดีกรีด็อกเตอร์ทางทะเลมาได้สำเร็จ
กว่า 35 ปีที่ ดร.ธรณ์ มีบทบาทสำคัญในฐานะนักขับเคลื่อนแนวคิดในการอนุรักษ์ท้องทะเลที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม มีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สังคมในวงกว้าง อีกทั้งยังได้รับรางวัลมากมาย แม้จะไม่ได้เกิดใกล้ทะเล ไม่ได้มีบ้านใกล้ทะเล แต่อาจารย์ธรณ์บอกกับเราว่า “ความรักเกิดขึ้นได้ทุกที่” แม้ไม่ได้เห็นทะเลทุกวัน แต่ความผูกพันและห่วงใยในท้องทะเลอยู่ในจิตวิญญาณของเขาเสมอ
“ผมเป็นคนกรุงเทพฯ แต่กำเนิด บ้านอยู่กลางเมือง ตอนเด็กๆ สถานที่เดินเล่นคือเอกมัย ทองหล่อ แต่ผมมีโอกาสได้ไปทะเลกับคุณพ่อ ซึ่งก็ถือว่าเยอะถ้าเทียบกับเด็กรุ่นเดียวกัน ความรักทะเลไม่จำเป็นต้องเห็นทุกวันหรอก ความรักเกิดขึ้นได้ทุกที่ ข้อดีคือผมเข้าใจชีวิตของคนเมือง ฉะนั้นเมื่อผมเห็นทะเล ผมจึงเกิดความรักและห่วงใยมากเป็นพิเศษ”
ตลอดระยะเวลาที่ทำงานด้านอนุรักษ์ท้องทะเล ดร.ธรณ์ เห็นความเปลี่ยนแปลงมากมาย มีโอกาสได้เห็นปลาหลายๆ ชนิดที่ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปแล้ว เห็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับทะเล ทั้งที่แก้ได้และแก้ยาก “ณ วันนี้ปัญหาที่แก้ลำบากที่สุด คือ โลกร้อน อันเป็นสาเหตุให้ปะการังฟอกขาวตาย และเกิดภัยพิบัติต่างๆ ในโลก ซึ่งความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะโลกไม่สามารถหายร้อนได้ภายใน 5 – 10 ปี ทุกคนมีส่วนทำให้โลกร้อน ฉะนั้นตรงนี้จึงกลายเป็นปัญหาที่แก้ยากที่สุด อีกทั้งส่งผลกระทบเป็นพื้นที่กว้างแบบที่เราคาดไม่ถึง เราทำได้แค่ทำให้ทุกคนเข้าใจและลดการกระทำที่ส่งผลกระทบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก

“สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ที่ทั้งโลกศึกษาตรงกันแล้วก็คือการรักษาระบบนิเวศชายฝั่ง อันประกอบด้วย ป่าชายเลน ที่ราบน้ำท่วมถึงและหญ้าทะเล ซึ่งถือเป็นการกักเก็บบลูคาร์บอน (Blue Carbon) เพื่อที่จะลดผลกระทบของก๊าซเรือนกระจก นอกจากนั้นโปรเจกต์ขยะทะเลก็ยังต้องทำอยู่ตลอด ถ้าเราช่วยกันในส่วนนี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเราเอง ประโยชน์ต่อบ้าน ต่อโลก รวมถึงต่อลูกหลานเราด้วย”
แต่สิ่งที่น่าดีใจอย่างหนึ่งที่ ดร.ธรณ์เล่าให้ฟังก็คือตอนนี้มีเด็กๆ และคนรุ่นใหม่สนใจเรื่องของระบบนิเวศ และการอนุรักษ์ท้องทะเลกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเด็กไทยในภาคอินเตอร์ หรือเด็กต่างชาติเองที่ค้นคว้าหาข้อมูล ดูได้จากจำนวนของนักศึกษาที่มาเรียนวิชามนุษย์กับทะเล ที่ ดร.ธรณ์ เป็นผู้ถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่
“ณ โลกเรายุคนี้ทุกอย่างบูรณาการ ผมรู้จักหลายๆ คนที่มีใจอยากมาช่วยทะเลมากกว่าคนที่เรียนจบมาโดยตรงด้วยซ้ำ หนึ่งในนั้นคือ โตโน่-ภาคิน ที่มักมาพูดคุยและปรึกษากับผมบ่อย หรือนักวิจัยที่พยายามจะนำเทคโนโลยี AI มาวิเคราะห์ปะการัง ฉะนั้นเราอาจไม่ต้องเรียนเรื่องทะเลโดยตรงก็ได้ ทะเลใหญ่กว่าที่คุณคิด สักวันหนึ่งเมื่อคุณไปทะเล อยู่กับทะเลแล้วคุณจะพบโอกาสที่จะช่วยทะเลได้ ขอแค่คุณรักทะเล จะแง่มุมไหนก็ได้ คุณก็จะมีโอกาสในการช่วยทะเลที่คุณรัก” ดร.ธรณ์กล่าวทิ้งท้าย