‘วิวัฒน์ ศัลยกำธร’ หรือรู้จักกันในนาม ‘อาจารย์ยักษ์’ ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และผู้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้มาบเอื้อง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี หนึ่งในบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน ‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่’ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ลงสู่การปฏิบัติโดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนามนุษย์ ก่อนหน้านี้อาจารย์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองประเมินผลงาน สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนลาออกมาเพื่อขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นจริง และเคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ปัจจุบันนอกจากประธานมูลนิธิฯ ยังดำรงตำแหน่งในอีกหลากหลายองค์กร เช่น ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง นายกสมาคมดินโลก คณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ
ผู้มุ่งมั่น สานต่อ ทฤษฎีของพ่อ เพื่อสร้างความยั่งยืน

จากสิ่งที่เห็นเมื่อครั้งได้ติดตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ไปในพื้นที่ทุรกันดารต่างๆ ในประเทศไทย สมัยยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองประเมินผลฯ ทำให้อาจารย์ยักษ์ได้เห็นและเรียนรู้ในสิ่งที่พระองค์ทรงทำมาโดยตลอด เคยมีพระราชดำรัสว่า “แนวทางการพัฒนาประเทศของเราเป็นคนละแนวทางกับที่โลกกำลังทำกัน คนละแนวทางกับปรัชญาที่คนไทยควรจะเป็น” จากเด็กต่างจังหวัด วิ่งเล่นตามทุ่งนา มีความสุขกับชีวิต แต่เมื่อเข้ามาทำงานในเมืองหลวงซึ่งมีความแออัด วิถีชีวิตอาหารการกินแตกต่างกันคนละด้าน รวมถึงตอนทำงานเขียนแผนพัฒนาฯ ให้กับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่อิงตามหลักฝรั่ง วัดคุณภาพประชากรที่ GDP ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ค้านกับความรู้สึกมาโดยตลอด ดังนั้นเมื่อมีความเชื่อในทฤษฎีของพระองค์ท่าน จึงต้องการพิสูจน์และลงมือทำให้เห็น ตัดสินใจลาออกจากราชการเมื่อ พ.ศ. 2525 และจัดตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง บนพื้นที่ 55 ไร่
“สิ่งที่พระองค์ท่านสอน มี 2 เรื่อง คือ เศรษฐกิจพอเพียง คือปรัชญาแห่งการพึ่งตนเอง รู้จักพอ และทฤษฎีใหม่ ที่ท่านทำกว่า 4 หมื่นกรณีศึกษาใน 4,000 กว่าโครงการ เราก็เลือกในสิ่งที่เหมาะกับเราทั้งเรื่องดิน น้ำ ป่า ซึ่งคนไทยไม่ค่อยยอมรับ แต่ระดับโลกกลับยอมรับและถวายรางวัลให้พระองค์ท่านมากมาย” อาจารย์กล่าวก่อนบอกว่า “ใน 3 ปีแรกไม่มีใครเชื่อ แต่เมื่อเห็นประโยชน์ในทฤษฎี ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ที่ได้กลับมาจากป่าทั้งอาหาร ไม้ในการสร้างบ้าน ก็เริ่มที่จะยอมรับ” โดยใช้ความพยายามนานกว่า 3 ปี จนทุกวันนี้มีบุคคลระดับประเทศ หลากหลายหน่วยงาน องค์กร และประเทศต่างๆ เข้ามาขอความรู้ที่มูลนิธิฯ กันอย่างมากมาย
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง แบ่งออกเป็น 5 ยูนิตหลัก ได้แก่ ศูนย์ฝึกกสิกรรมธรรมชาติ โรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย โรงเรียนระดับมัธยมถึงมหาวิทยาลัย วัด ชุมชน และค่ายพักพิง โดยมีการจัดคอร์สอบรมแบบ tailor-made ออกแบบให้ตามความสนใจ และการออกแบบหลักสูตรโดยมูลนิธิฯ
ร่วม 40 ปี ที่ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ทำในสิ่งที่พระองค์ทรงทำให้เห็นมาตลอดพระชนมชีพ ซึ่งเห็นผลได้อย่างชัดเจนเมื่อมีวิกฤติการณ์โควิด-19 ที่แม้มีเงิน แต่ไม่มีน้ำ อาหาร ยา อากาศบริสุทธิ์ เราก็อยู่ไม่ได้ แต่หากมีผืนป่าควบคู่กับความรู้เป็นองค์ประกอบ ป่าก็จะเป็นแหล่งอาหาร จะสร้างบ้านที่อยู่อาศัยก็ง่าย เจ็บป่วยก็หายานำไปรักษาได้

ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติอะไร โดยเฉพาะช่วงวิกฤติโควิด 19 ที่ผ่านมากลุ่มเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว ไม่ว่าจะเรื่องอาหารการกินที่มีเพียงพอ การมียากว่า 10 ตำรับ ในการรักษาแบบพึ่งตนเอง ยังมีกำลังสามารถดูแลผู้อื่นได้อีกหลายแสนคน โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยมีการสร้าง Community Isolation เปิดโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วย และเป็นสถานที่กักตัว ส่วนชุมชน ทั้งชาวบ้าน วัด และโรงเรียน ในเครือฯ หรือเรียกว่า ‘บวร’ ได้จับมือร่วมกันจนสามารถหยุดโควิดได้ 100 เปอร์เซ็นต์ จนปัจจุบันมีบุคคลทั่วไป และคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในด้านอาชีพและความไม่มั่นคงทางการเงิน หันมาสนใจในวิถีเศรษฐกิจพอเพียงเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีโรงเรียนที่ต้องการมาศึกษาแนวทางดังกล่าวอีกกว่า 1,400 โรงเรียนทั่วประเทศ
ด้วยพิสูจน์ให้เห็นว่าทฤษฎีของพระองค์ท่าน สามารถทำให้เราพึ่งตนเอง และช่วยเหลือผู้อื่นได้จริง อีกทั้งยังจะทำให้เกิดความเจริญแก่ประเทศ และมีชีวิตที่มั่นคงได้ สิ่งเหล่านั้นจึงเป็นแรงบันดาลใจที่จะทำให้มีพลังดำเนินงานต่อไปเรื่อยๆ แต่ทั้งนี้อาจารย์บอกว่า “ต้องประกอบด้วยความเพียร อดทน ไม่ใจร้อน ไม่พูดมาก ไม่ทะเลาะกัน” ขณะที่เครือข่ายฯ มีทีมงานอยู่ใน 57 จังหวัด ทั่วประเทศ แต่จำนวนคนที่สนใจอย่างจริงจังยังถือว่าน้อยในบางจังหวัด แต่อาจารย์ยังคงเดินหน้าช่วยเหลือและมอบความรู้ให้แก่ชุมชนและสังคมต่อไป