ดวงตะวันทอแสงฉาบทาอาคารสูงห้าชั้นสามตึกที่มีชั้นดาดฟ้าเชื่อมถึงกัน จนดูมลังเมลืองเหมือนถูกมือลึกลับฉาบทาด้วยทองคำ โดยมีความร่มรื่นของบรรดาพันธุ์ไม้และบึงเล็ก ๆ ของสวนเบญจกิติเป็นฉากหลัง ซึ่งเป็นสวนสาธารณะรูปแบบสวนป่าที่เพิ่งเปิดให้สาธารณชนเข้าไปใช้ เป็นสถานที่ออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ วิวนี้ถือเป็นไฮไลต์ของการมาเยือน บ้านสไตล์โมเดิร์น คุณมีมี่ – มิลิน ยุวจรัสกุล แฟชั่นดีไซเนอร์แบรนด์ MILIN และเป็น Managing Director ของ Feline โมเดลลิ่งเอเจนซี่น้องใหม่ กับ คุณเอ็ด – เอกพล เรืองกิจจานุวัฒน์ ผู้เป็นสามี และลูก ๆ น้องเอเชีย – น้องโอเชียน เรืองกิจจานุวัฒน์

ในห้วงวิกฤติโควิด-19 คุณมีมี่และครอบครัวตัดสินใจปักหลักดูสถานการณ์ที่บ้านหลังนี้ ซึ่งใช้เวลาก่อสร้างและออกแบบเป็นเวลานานสี่ปี และเสร็จทันเข้าอยู่ที่นี่เมื่อสองปีก่อน “ช่วง work from home ความสุขของมี่อยู่ที่การรื้อตู้จัดบ้านตลอดเลยค่ะ อาจเพราะมี่เป็นเพอร์เฟกต์ชั่นนิสต์ด้วยมั้งคะ อย่างห้องของเล่นลูกมี่ก็จะแยกประเภทตัวต่อเลโก้ให้เขา แยกสีไม้ให้เขาเปลี่ยนมุมไปเรื่อย ๆ เหมือนเป็นกิจกรรมคลายเครียดอย่างหนึ่ง ห้ามตัวเองไม่ได้ซึ่งมี่เองอยากแก้นิสัยนี้อยู่เหมือนกัน” ดีไซเนอร์สาวพูดถึงห้องของเล่นที่อยู่บนชั้นสี่พร้อมรอยยิ้ม
แม้ว่าจะมี play room สำหรับเด็กแล้ว ทั้งเอเชียและโอเชียนก็ยังมีของเล่นวางอยู่ตามชั้นต่าง ๆ ของบ้านด้วย “มี่จะหยอดของเล่นไว้ทุกชั้นค่ะ เปิดลิ้นชักปุ๊บจะเจอ secret box เปิดมามีหมา หมี ตุ๊กตา ต้นไม้และจะจัดห้องของเล่นใหม่เป็นประจำ ต้องบอกว่าเป็นการจัดห้องที่ยากที่สุด แต่มี่ชอบมาก เพราะได้นั่งแยกลูกปัดทีละอัน ๆ เป็นวิธีคลายเครียดแบบหนึ่ง พอจัดเสร็จแล้วจะรู้สึกเหมือนเพิ่งออกกำลังกายเสร็จใหม่ ๆ ตัวเบา ชอบมากค่ะ”


ส่วนสถาปนิกผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างบ้านหลังนี้ ไม่ใช่ใครอื่นไกลแต่เป็นคุณเอ็ด สามีคุณมีมี่นั่นเอง ด้วยดีกรีภูมิสถาปัตย์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อต้องรับหน้าที่ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างบ้านให้กับครอบครัว และคุณพ่อของคุณเอ็ดทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์แอนทีกจากจีน พื้นที่ส่วนหนึ่งจึงปลูกเป็นบ้านแบบเก๋งจีนมีบ่อปลาคาร์พอยู่โดยรอบ และบ้านของพี่น้องทั้งสามคนที่ปลูกเป็นอาคารทรงโมเดิร์นห้าชั้นสามหลังเชื่อมชั้นดาดฟ้าเข้าถึงกัน
“ตั้งใจแต่แรกว่าจะไม่เปลืองที่จอดรถบนชั้นหนึ่งเพราะอยากออกแบบพื้นที่เป็นสวนให้มากที่สุด เลยทำชั้นใต้ดินไว้สำหรับจอดรถ แต่ทีนี้การจะลงใต้ดินลึกเกินไป ค่าใช้จ่ายจะสูงมากเกินความจำเป็น จึงออกแบบยกระดับพื้นชั้นหนึ่งให้สูงขึ้นมาราว 1.5เมตร และทำชั้นใต้ดินลึกลงไปแค่ 1.5 เมตร ก็จะได้ชั้นใต้ดินที่ประมาณ 3 เมตร โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำพร้อมระบบไฟสำรองไว้สองจุด เผื่อไว้ว่าถ้าน้ำท่วมก็สามารถสูบน้ำออกทัน”


เมื่อถามคุณมี่ว่าเธอชอบมุมไหนมากที่สุดในบ้านหลังนี้ คุณมี่บอกว่าเธอชอบห้องนอนมากที่สุด และให้เหตุผลว่า “เพราะมี่ว่ามันเรียบ และมี่พยายามทำให้คลีนที่สุดด้วยการเลือกใช้สีเอิร์ธโทน ทั้งที่เมื่อก่อนมี่จะชอบกระจกกับสเตนเลสและสีสด ๆ ไม่ชอบไม้เลย เพิ่งมาชอบไม้ก็ตอนทำบ้านหลังนี้ รู้สึกว่ามันวอร์มและสดใสขึ้น คงเพราะเราโตขึ้นด้วยมั้งคะ”
คุณเอ็ดบอกว่าแบบบ้านที่เขาออกแบบช่วงแรก ๆ กับช่วงหลัง ๆ ต่างกันมาก เพราะตอนออกแบบแรก ๆ นั้น ลูก ๆ หลาน ๆ ยังเล็กมาก และเมื่อลงมือก่อสร้าง คุณพ่อและพี่ชายของคุณเอ็ดต่างก็กังวลเรื่องความปลอดภัยของเด็ก จากผนังกระจกชนพื้นเรียบกริบ ก็ถูกปรับให้มีระเบียงเพิ่มเข้ามาแทนทางด้านคุณมี่ก็ขอให้มีห้องแต่งตัวใหญ่เพียงพอที่เธอจะใช้เก็บผลงานออกแบบ MILIN ในแต่ละซีซั่น และด้วยความที่มีเชื้อสายจีน จึงมีซินแสมาดูฮวงจุ้ยให้ ซึ่งคุณเอ็ดบอกเราว่า “บางอย่างเราก็แก้เฉพาะเรื่องที่มีเหตุผลในทางสถาปัตยกรรม ส่วนบางอย่างก็ประนีประนอมกันไปอะไรที่เห็นว่าแก้ได้ เราก็แก้ นี่คือความยาก ส่วนความง่ายคือทุกคนให้อิสระผมมากเลย ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องหรือคุณพ่อ ไม่มีใครติเลย หรือมีก็น้อยมาก

“ทว่าที่ใช้เวลาก่อสร้างนานเป็นพิเศษ เพราะต้องใช้เวลาเลือกของที่ถูกใจ ซึ่งผมซื้อเองหมด บางทีก่อนออกแบบก็เลือกในระดับหนึ่งแล้ว แต่เอาเข้าจริงก็เปลี่ยนเพราะติดปัญหา หรือเพราะไม่มีของช่วงสี่ปีของการก่อสร้างผมยังหาของจนวันสุดท้ายอยู่เลย” คุณเอ็ดพูดพลางหัวเราะเบา ๆ สำหรับวิวสวนป่าที่อยู่ด้านหลังบ้าน คุณเอ็ดลงทุนใช้โดรนสำรวจความสูงว่า ความสูงระดับไหนถึงจะได้วิวสวย
“ผมก็สร้างตามความสูงที่เขากำหนดเลย คือ 23 เมตร ซึ่งปกติจะได้ตึก 7 ชั้น แต่บ้านเรามีแค่ 5 ชั้น เพราะต้องการให้แต่ละชั้นเพดานสูงเป็นพิเศษ และขยายชั้นสามชั้นสี่ให้กว้างขึ้น เพราะปกติบ้านแนวสูงส่วนใหญ่จะผอม และแบ่งเป็นห้องที่อยู่ด้านหน้าและห้องที่อยู่ด้านหลัง ก็เลยเพิ่มหน้ากว้างห้องลูกทั้งสองคนอีก 1 – 2 เมตรเพื่อให้ใหญ่พอ เพราะถ้าให้ ห้องของคนหนึ่งอยู่ด้านหน้า อีกคนอยู่ด้านหลังเดี๋ยวจะไม่เท่าเทียม เพราะเราคิดอยู่แล้วว่าอยากให้หันห้องเข้าหาวิวสวน ก็เลยตัดสินใจแก้แบบ เพื่อว่าทุกคนต้องได้เห็นวิว
“ห้องด้านหลังก็จะไม่เห็นวิว แต่กลายเป็นห้องดูหนัง ห้องน้ำแทน แต่ช่วงแรก ๆ เราแทบไม่ได้ใช้ห้องดูหนังเลย ก็ดูหนังในห้องนอนนั่นแหละ เราเลยคุยกันว่าควรใช้ห้องดูหนังบ้าง เพราะลูก ๆ ก็เริ่มโตแล้ว ดูหนังเป็นแล้ว น่าจะใช้บ้าง คุณมี่ก็เลยเอาเปียโนไปไว้ในห้องดูหนังด้วย ซึ่งก็ได้ใช้ห้องเยอะขึ้น”

สำหรับสระว่ายน้ำ ทั้งครอบครัวตัดสินใจร่วมกันว่าไม่ทำดีกว่า เพราะมีเด็กเล็ก ผู้เป็นบิดาของคุณเอ็ดเกรงว่าหลานจะหล่นลงไป โปรเจกต์สระว่ายน้ำจึงเป็นอันพับไป ทางคุณเอ็ดเลยขอทำสระตื้น ๆ ลึกเพียง 15 ซม. เพื่อความสวยงามยามน้ำในสระสะท้อนเงาตัวอาคาร “คุณพ่อเลยบอกว่าถ้าจะทำสระตื้นๆ ก็ขอบ่อปลาคาร์พด้วยจะได้ไหม ผมก็โอเค เป็นบ่อปลาที่ลึกแค่ 60 ซม.เท่านั้นครับ”
คุณเอ็ดยังบอกเราอีกว่า ทุกวันนี้ไม่มีหัวเตียง และเพิ่งได้เตียงมาไม่ถึงหกเดือนเลย ช่วงที่ยังหาไม่ได้ก็นอนฟูกที่วางกับพื้นเป็นปกติ ด้วยเหตุผลว่ายังไม่เจอที่ถูกใจและนำโต๊ะกับเก้าอี้เล็ก ๆ ที่มีอยู่มาใช้แทนโต๊ะข้างเตียงไปก่อน โดยถือหลักว่าค่อย ๆ ดูและค่อย ๆ ซื้อ ไม่ซีเรียสบนพื้นที่ใช้สอยจำนวน 600 กว่าตารางเมตร ทั้งคุณเอ็ดและคุณมี่ปล่อยให้ความโปร่งโล่งเข้าครอบครองเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะนิยมชมชอบความมินิมอลมานาน ตรงไหนที่ไม่จำเป็นต้องตกแต่งก็จะปล่อยให้เป็นสเปซว่าง ๆ และถ้าหากวางเฟอร์นิเจอร์ก็จะเป็นของสแกนดิเนเวียน ซึ่งเรียบง่ายแต่มีดีเทล

“พอดีเพื่อนของคุณมี่เขาทำร้านเฟอร์นิเจอร์จากสแกนดิเนเวียชื่อ NORSE Republics ก็เลยจะได้เฟอร์นิเจอร์จากร้านนี้เสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะสไตล์ถูกใจเรา โดยเฉพาะชั้นล่างจะเป็น free plan เลย เราชอบสเปซใหญ่ ๆ ไม่ต้องกั้นห้อง ถามว่าอยู่แล้วแฮปปี้ไหม ถ้าสมมุติคะแนนจากหนึ่งถึงร้อยให้เท่าไร ผมว่าต้องให้คะแนนเต็มร้อยเลย เพราะรู้สึกว่ามันไม่มากเกินไป ไม่น้อยไป อยู่แล้วรู้สึกสบายกว่าแบบแรกที่เราตั้งใจทำไว้ ซึ่งเน้นความสวยงามมากกว่าประโยชน์ใช้สอยเกินไปหน่อย ถ้าเรื่องความสวยงามเอาไปแปดสิบก็แล้วกัน เพราะบางอย่างก็ไม่เรียบสวยเหมือนที่ตั้งใจไว้ บางอย่างก็มีแพลนว่าจะทำในอนาคต แต่ที่ผมว่ามาทั้งหมดนี้ เอาจริง ๆ ไม่มีใครรู้หรอก แต่เราจะรู้เองว่าตรงไหนขัดใจเรา” สถาปนิกเอ็ดบอกกับเรา
สำหรับสวน คุณเอ็ดรับหน้าที่จัดคู่กันไปกับผู้เป็นบิดา เพราะว่าท่านชอบต้นไม้ ในฐานะที่คุณเอ็ดร่ำเรียนมาทางภูมิสถาปัตย์“ด้วยความที่ไม่ได้ทำนาน บางทีก็มีผิดบ้าง อย่างเลือกต้นสวย ๆ ไม่ชอบร่ม มาไว้ในร่ม ก็ต้องเปลี่ยนไปเจอแดด ตรงไหนที่ต้องการความสะอาด ก็จะเลือกต้นไม้พันธุ์ที่ใบร่วงไม่มาก บางจุดก็ให้เพื่อนที่เป็นผู้รับเหมามาช่วยทำ พวกต้นไม้ใหญ่ เพื่อนก็จะแนะนำได้ว่า ต้นนี้เหมาะกับตรงนี้มากกว่า เราชอบรูปทรงของมันไหม อันนี้ให้ร่มนะ อันนี้ต้องการแดด ก็ค่อย ๆ ปรับกันไปครับ”

ดวงอาทิตย์เริ่มเคลื่อนคล้อยตามเวลาที่ดำเนินมาจนถึงเย็นย่ำ เราขอให้คุณมี่พูดถึงความรู้สึกเกี่ยวกับบ้านหลังนี้ที่เธออยู่กับครอบครัวมาได้สองปีแล้ว
“บ้านสำหรับมี่ มันไม่ใช่ just a house นะคะ แต่จะทำยังไงให้เป็น home ให้ได้ ซึ่งมี่ว่าสำคัญกว่า บ้านจะสวย จะเป็นระเบียบเรียบร้อย จะเป๊ะ หรือออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดัง ก็ไม่สำคัญเลย ถ้าหากผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นปราศจากความรัก หรือความเข้าใจ มี่พยายามทำ house ให้เป็น home โดยใช้ความรู้สึก ความรักสร้างให้มันกลมกลืน มีจิตวิญญาณ มีสตอรี่ และมีความทรงจำดี ๆ ซึ่งมี่ว่าสำคัญที่สุดค่ะ”
มีมี่ – มิลิน ยุวจรัสกุล
ติดตามบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ในนิตยสาร HELLO! VOL. 18 NO. 4 วางแผงแล้ววันนี้!