Home > Lifestyle > Home & Living > เอกรัตน์ วงษ์จริต และ ระวิดา ซอโสตถิกุล แหล่งสะสมแรงบันดาลใจของนักออกแบบเก้าอี้

คุณเอกรัตน์ วงษ์จริต (เบิร์ด) และคุณระวิดา ซอโสตถิกุล (แต๋ม) เป็นคู่ชีวิตที่มีมุมมองโลกต่างกันสุดขั้วแต่เติมเต็มสิ่งที่อีกฝ่ายขาดอย่างลงตัว คุณเบิร์ดเป็นนักออกแบบมือรางวัล Honor Award for Lifetime Achievementของมหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เปลี่ยนเก้าอี้คอนเซปต์เดิมๆ ให้กลายเป็นงานศิลปะร่วมสมัยประดับบ้าน ผลงานของเขาได้รับรางวัลมากมายทั้งในและต่างประเทศ และจัดวางอยู่ในบ้านของผู้รักงานศิลป์หลายประเทศแถบเอเชีย อเมริกา และยุโรป ส่วนคุณแต๋มปัจจุบันเป็นผู้บริหารของบริษัท ซีคอนดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และโรงแรมเรเนซองส์ ภูเก็ต รีสอร์ท แอนด์ สปา

“เวลาผมสร้างงานออกมาสักชิ้น” คุณเบิร์ดบอกเหตุผลที่มักส่งสเก๊ตช์งานให้ภรรยาดูเป็นคนแรกว่า “ข้อเสียของผม ความคิดจะสะบัดมาก ถ้าอยากจะ convince คนอื่น ต้อง convince ภรรยาให้ได้ก่อน เธอจะมองอย่างคนทั่วๆ ไปมอง และช่วย tone down ความคิดของผมในบางแง่ เมื่อก่อนเอาความคิดของเราเป็นหลักแต่พอมีเธอ ฟังความคิดของเธอเข้ามาช่วยในงาน เพื่อให้เกิดผลงานที่ผู้คนเข้าใจมากขึ้น”

งานออกแบบของคุณเอกรัตน์แต่ละตัวจะผสานความคิดสร้างสรรค์เยอะแยะจากแรงบันดาลใจที่นึกไม่ถึง เก้าอี้ที่สร้างเสียงฮือฮาเป็นรุ่น Nirvana d’Oro (นิพพานสีทอง) เนื้อทองสำริดหนัก 120 กิโลกรัม ใช้เทคนิคการหล่อพระพุทธรูปแบบดั้งเดิมมาหล่อเป็นเก้าอี้รูปทรงเก้าอี้ได้แรงบันดาลใจจากเส้นสายและรูปทรงโค้งเว้าบนสรีระของพระพุทธรูป ด้านหลังตกแต่งเส้นดุจชายจีวรพระ หลังเททองสำริดหล่อเป็นทรงเก้าอี้แล้วต้องใช้กรดเคมีกัดผิวสำริดเพื่อสร้างเอฟเฟกต์ของสีจากส่วนผสมของเนื้อโลหะในแต่ละส่วนของเก้าอี้ แต่ละตัวใช้เวลาผลิตทั้งหมดนานกว่า 3 เดือน ใช้ช่างฝีมือระดับครู 6 คน

บ้านของทั้งคู่เป็นสไตล์โมเดิร์น แต่ภายในตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์และของสะสมจากหลากหลายวัฒนธรรมแต่งแต้มด้วยเก้าอี้โมเดิร์นที่คุณเบิร์ดออกแบบเองตรงจุดนั้นจุดนี้ บ่งบอกถึงโลกภายในของเจ้าของบ้านที่ทุกวัฒนธรรมทุกยุคสมัยอยู่รวมกันได้ในโลกใบเดียว

ทันทีที่ก้าวเข้าสู่ห้องนั่งเล่นที่ชั้นล่างของบ้าน จะสะดุดตากับตั่งจีนที่ตั้งคู่กับตู้ธิเบตแอนทีค บนตู้ตั้งงาไม้ฝีมือเขียนลายน้ำทองของอาจารย์ภัทรไชย แสงดอกไม้ฐานงาอาจารย์ตกแต่งด้วยกระแจะ ซึ่งต้องนำขี้เลื่อยคลุกรักผสมลิ้นทะเลปั้นเป็นก้อนเล็กๆ กดกับพิมพ์ให้ขึ้นลายแล้วติดทีละชิ้นๆ จนรอบฐานงา ส่วนโต๊ะกลางสมัยราชวงศ์หมิงตกแต่งด้วยกิ่งปะการังเสียบดอกมะลิ ให้นึกทึ่งที่เจ้าของบ้านหลอมศิลปะเอเชียทุกวัฒนธรรมไว้ในห้องเดียวที่ชั้นบน คุณเบิร์ดตั้งเสื้อเกราะนักรบญี่ปุ่นโบราณตั้งแต่สมัยเอโดะ) ถัดเข้าไปอีกหน่อยจะเห็นชุดกิโมโนเจ้าสาวแขวนประดับผนัง ได้มาจากร้าน Oriental Plaza บนถนนโอโมเตะซันโดะ ซึ่งเป็นร้านขายของที่ระลึกเก่าแก่ตั้งมานับ 100 ปีของกรุงโตเกียว

เมื่อเดินเข้าไปในห้องอาหาร ซึ่งคุณแต๋มและคุณเบิร์ดจัดเลี้ยงเพื่อนๆ เดือนละ 1 – 2 ครั้งเป็นประจำจะสะดุดตากับโต๊ะอาหารและเครื่องเรือนไม้วอลนัทสไตล์ French Provincial Renaissance ทำโดยสกุลช่างแถบ Loire Valley ซึ่งนิยมในหมู่ขุนนางตามหัวเมืองในสมัยต้นศตวรรษที่ 18

“เก้าอี้ที่เห็น” คุณเบิร์ดหมายถึงเก้าอี้ที่โต๊ะอาหาร “เราซื้อสะสม 3 – 4 ครั้งถึงได้ครบ 18 ตัวอย่างที่เห็น แต่ละตัวสังเกตดีๆ จะไม่เหมือนกัน” ของใช้บนโต๊ะอาหารก็เช่นเดียวกับของตกแต่งบ้านเป็นของสะสมจากการเดินทางท่องเที่ยวของทั้งคู่บนโต๊ะตั้งจานบลูแอนด์ไวท์ของ Wedgewood เนื้อกระเบื้องแตกลายงางดงามทั้งใบเพราะความเก่า จานเซ็ตนี้คุณเบิร์ดกับคุณแต๋มช่วยกันขนมาจากตลาดของเก่าในเมืองซูริก พลิกดูด้านหลังจะเห็นพิมพ์ชื่อรุ่น ‘Queen Charlotte’ ผลิตขึ้นในปี 1863 หลัง Wedgewood เปิดโรงงานได้ 3 ปี เคียงจานบลูแอนด์ไวน์เป็นแก้วแชมเปญคริสตัลสีแดงของ Riedel สมัยประมาณปี 1940 นิตติ้งที่รองถาดขนมปังเป็นงานถักมือแฝงความละเมียดละไมที่ไม่ได้เห็นมานานแล้ว

“ผมชอบพาแต๋มไปเมืองเล็กๆ ในยุโรป ผมจะไปแสดงงานที่ต่างประเทศปีหนึ่ง 2 – 3 ครั้ง หลักๆ ก็ที่สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และอิตาลี แสดงงานเสร็จ เราก็ถือโอกาสเช่ารถเที่ยวกันต่อสองคน”

เรียกได้ว่าชีวิตมีความสุขเพราะทั้งคู่ต่างเติมเต็มซึ่งกันและกัน จนความสุขนั้นส่งต่อผ่านมาถึงข้าวของเครื่องใช้ และทุกอย่างภายในบ้านที่อบอวลไปด้วยเรื่องราวและความรักของทั้งคู่

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.