ผู้ที่หลงใหลในโลกของศิลปะ รวมถึงผู้ที่คร่ำหวอดในวงการศิลปะระดับโลกต่างรู้ดีว่างาน Art Basel ที่เมืองบาเซิล สวิตเซอร์แลนด์ เป็นงานที่รวมสุดยอดของศิลปะร่วมสมัยและศิลปะสมัยใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผู้คนทั้งวงการซื้อขายศิลปะ นักสะสม ตัวแทนจากอาร์ตแกลอรี มิวเซียม ผู้สนับสนุนงานศิลปะ รวมทั้งศิลปินรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ต่างมารวมตัวกันที่งานนี้
งาน Art Basel ดังกล่าวนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1970 และได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในหมู่คอศิลปะ จนภายหลังได้ขยายไปจัดที่ไมอามี่และฮ่องกง ซึ่งแต่ละแห่งก็นำเสนอความพิเศษเฉพาะภูมิภาค จนทำให้มีผู้ติดตามรอคอยชมงานและซื้อศิลปะกันอย่างคึกคัก
งานศิลปะที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเทือกเขาจูรา
ในปีนี้โอเดอมาร์ ปิเกต์ ซึ่งได้เข้าร่วมงานในฐานะ Official Associate Sponsor เมื่อปี ค.ศ. 2013 และได้สรรค์สร้าง Collectors Lounge ขึ้นอย่างต่อเนื่องในงานอาร์ตบาเซิลทั้งสามแห่งคือที่บาเซิล ฮ่องกงและไมอามี่ ครั้งนี้จึงได้เชื้อเชิญศิลปินและดีไซเนอร์สายเลือดชิลีมากความสามารถ ผู้เป็นศิลปินแถวหน้าจากนิวยอร์ค เซบาสเตียน เออร์ราซูริส (Sebastian Errazuriz) มาเป็นผู้ออกแบบเลาจน์อันเป็นผลงานต่อเนื่องของเขาเป็นปีที่สองด้วยกัน เพื่อใช้เป็นสถานที่รับรองแขกผู้มีเกียรติจากทั่วทุกมุมโลก โดยได้แรงบันดาลใจจากบ้านของโอเดอมาร์ ปิเกต์ ที่ Vallee de Joux ภายใต้ชื่อ ‘Second Nature’ โดยพัฒนาจากต้นไม้ในเทือกเขาจูรา บอกเล่าเรื่องราวของโอเดอมาร์ ปิเกต์ผ่านการเติบโตของต้นไม้ในแต่ละฤดูกาล สร้างขึ้นโดยใช้วิธีการแบบดั้งเดิมผสมผสานกับเทคโนโลยีอันทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นการสเก็ตช์ด้วยมือจนถึงการพิมพ์แบบสามมิติ โดยต้นไม้ได้ผลิใบให้เห็นบนกิ่งก้าน
หลังจากได้ชื่นชมงานศิลปะ Second Nature ในเลาจน์ของโอเดอมาร์ ปิเกต์แล้ว เรามุ่งตรงสู่แกลอรีเอ็กซิบิชั่นซึ่งเป็นไฮไลต์ของงาน ที่นี่มีแกลอรีมาจัดแสดงงานถึง 291 แห่ง และมีผลงานของศิลปินมากกว่า 4,000 คน
เพนติ้งสีน้ำมันบนผืนผ้าใบ ฝีมือปาโบล ปิกาสโซ

งานศิลปะที่นำเอาภาชนะเครื่องครัวมารังสรรค์เป็นห้องอาหาร โดย Subodh Gupta ศิลปินชาวอินเดีย ที่ลงมือทำอาหารให้ผู้ชมรับประทาน
โซนแรกจะเป็นศูนย์รวมของงานศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัย นับตั้งแต่ภาพวาด ภาพร่าง ประติมากรรม งานอินสตอลเลชั่นขนาดเล็ก ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย วีดิโอและดิจิตอลอาร์ต ซึ่งมีความหลากหลายสร้างความประทับใจและประหลาดใจให้กับผู้ชมตลอดเวลา

งานตัวอักษรบนพื้นแดงที่สะดุดใจทุกผู้คน สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในสังคมโลก
จากนั้นเราได้มีโอกาสเข้าชมผลงานในโซน Unlimited โซนนี้เป็นการผสมผสานงานศิลปะประเภทประติมากรรม รูปภาพ งานวีดิโอ รวมถึงไลฟ์เพอร์ฟอร์แมนซ์ งานในโซนนี้จัดเป็นงานขนาดใหญ่ทั้งสิ้น เราสังเกตเห็นว่าศิลปินในโซนนี้นำเสนอผลงานที่เกี่ยวกับเรื่องมนุษยชาติ ความแตกต่างทางชนชั้นและความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความขัดแย้งในโลกปัจจุบันค่อนข้างมาก ดังจะเห็นจากงานของบาร์บารา ครูเกอร์ที่ตั้งโดดเด่นอยู่ตรงทางเข้า ถึงจะมีเพียงตัวหนังสือบนพื้นแดงก็สามารถหยุดผู้ชมให้ได้คิดต่อ เธอนำเสนอสิ่งที่มีอิทธิพลต่อตัวตนของมนุษย์ โดยสะท้อนจากสื่อมวลชนและการเมือง

ขวดแก้วซึ่งบรรจุข้อมูลของทาส ผลงานของ ซู วิลเลียมสัน
อีกงานที่น่าสนใจคืองานของซู วิลเลียมสัน ในผลงาน Messages From The Atlantic Passages เป็นงานที่ได้แรงบันดาลใจจากการค้าทาสในศตวรรษที่ 16-19 จากแอฟริกาสู่โลกใหม่ เธอได้นำข้อมูลของทาสมาเขียนบนขวดทั้งชื่อ สัญชาติ เชื้อชาติ เจ้าของทาส เรือที่เดินทางมา ราคาที่ซื้อขาย จากการบันทึกในช่วงนั้นมีการค้าทาส 12.5 ล้านคน
อีกโซนที่มีผู้นิยมไปเยี่ยมชมก็คือโซน Statement ซึ่งเป็นโซนที่เน้นศิลปินหน้าใหม่ งานของศิลปินในโซนนี้จะมีการมอบรางวัล Baloise Art Prize ซึ่งผู้ชนะจะได้นำผลงานไปจัดแสดงในสถาบันศิลปะในยุโรป นอกจากนั้นยังมีโซน Parcours, Film และ Conversation ที่ดึงดูดความสนใจของผู้ชมเฉพาะกลุ่มได้เป็นอย่างดี
งาน Art Basel ไม่ใช่เวทีซื้อขายงานศิลปะแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเวทีระดับโลกที่จะสนับสนุนศิลปินทุกแขนง รวมถึงศิลปินหน้าใหม่ ทำให้ศิลปะอยู่คู่กับมนุษยชาติตลอดไป
……………………………………………………………..
Photos : Getty images