เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของโลก แต่นอกเหนือจากเป็นจุดหมายในการสร้างประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวพักผ่อนของนักเดินทางจำนวนมาก หลายจังหวัดในประเทศไทยยังมีศักยภาพในการจัดประชุม จัดแสดงนิทรรศการ ตลอดจนจัดทริปท่องเที่ยวแบบเป็นกลุ่ม ที่เรียกกันว่าอุตสาหกรรม ‘ไมซ์’ (MICE – Meetings, Incentives, Conventions and Exhibitions) ( ชมเมืองเก่า เล่าเรื่องอยุธยา )
ในฐานะหน่วยงานของภาครัฐที่ให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซในประเทศไทย ทีเส็บ (TCEB) เล็งเห็นความแข็งแกร่งด้านอัตลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละพื้นที่ซึ่งล้วนโดดเด่นด้านวัฒนธรรม ประเพณี และศิลปะ จึงจัดโครงการ ‘ไมซ์สร้างสรรค์ รวมพลังชุมชนทั่วไทย’ สร้างสรรค์เส้นทางสายใหม่มากกว่า 40 เส้นทางใน 8 เมืองทั่วประเทศ เพื่อผลักดันเส้นทางสายไมซ์และกิจกรรมใหม่ ๆ ให้แก่ผู้ที่สนใจ

หนึ่งในเมืองที่ถูกหยิบมาสร้างสรรค์ใหม่บนเส้นทางสายไมซ์คือ ‘จังหวัดพระนครศรีอยุธยา’ เมืองประวัติศาสตร์อันเป็นอู่อารยธรรมสยาม ด้วยความรุ่งโรจน์ในอดีตทุกด้านทั้งทางสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประณีตศิลป์ หัตถศิลป์ ผนวกเข้ากับความเจริญในปัจจุบันที่ถือเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ทำให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยากลายเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายประวัติศาสตร์และเรื่องราวทั้งเก่าและใหม่ให้ค้นหา ทีเส็บจึงสร้างสรรค์เส้นทาง ‘ชมเมืองเก่า เล่าเรื่องอยุธยา’ ชวนเดินทางย้อนอดีตสู่ความรุ่งเรืองของอโยธยา พร้อมละเลียดประวัติศาสตร์อย่างรื่นรมย์ตลอด 3 วัน 2 คืน

ธัญ เวลเนส เดสทิเนชั่น (THANN Wellness Destination)
ทริปนี้เราเดินทางถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในช่วงบ่ายแก่ ๆ จุดหมายแรกคือ ‘ธัญ เวลเนส เดสทิเนชั่น’ รีสอร์ตสุดหรูในอำเภอบางไทร ที่นอกจากให้บริการที่พัก ภายใต้พื้นที่ 25 ไร่ ยังอัดแน่นไปด้วยกิจกรรมให้ผู้ที่มาเยือนได้ผ่อนคลาย พร้อมยกระดับสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้แข็งแรง ไปจนถึงเพิ่มองค์ความรู้ให้กับตัวเอง อาทิ สปาทรีตเมนต์, แช่ออนเซ็น, เฟเชียล เวิร์คช็อป, คลาสออกกำลังกายโยคะ ไทชิ, วอเตอร์ ไบค์, แพดเดิล บอร์ด ฯลฯ นอกจากนี้ยังนี้ยังครบครันไปด้วยสระว่ายน้ำ ห้องออกกำลังกาย ห้องสมุด รวมไปถึงพื้นที่สำหรับจัดประชุม โดยในรีสอร์ตมีการแบ่งพื้นที่สำหรับปลูกพืชผัก เลี้ยงเป็ด และไก่ เพื่อนำวัตถุดิบที่สด สะอาด และปลอดภัย มารังสรรค์เป็นอาหารที่ครบถ้วนทั้งโภชนาการและความอร่อยตลอด 3 มื้ออีกด้วย ซึ่งหลังจากพักผ่อนแบบเต็มอิ่ม วันรุ่งขึ้นจึงเริ่มกิจกรรมด้วยการทำบุญตักบาตรยามเช้าริมแม่น้ำน้อยภายในรีสอร์ต

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา
จากนั้นช่วงสายออกเดินทางย้อนอดีตไปกับ ‘พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา’ สถานที่รวบรวมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุในสมัยอยุธยา ที่กรมศิลปากรค้นพบจากการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานต่าง ๆ ระหว่าง พ.ศ. 2499 – 2501 โดยอาคารจัดแสดง 1 ชั้นล่างจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ค้นพบและได้จากการดำเนินงานทางโบราณคดีในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียง เช่น เศียรพระพุทธรูปสำริดจากวัดธรรมิกราช อายุราวต้นถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 20, พระพุทธรูปศิลาขาวจากวัดพระเมรุ (ร้าง) นครปฐม, บานประตูไม้จำหลักจากวัดพระศรีสรรเพชญ์, กลุ่มพระพุทธรูปที่พบภายในองค์พระมงคลบพิตร และกลุ่มพระพุทธรูปที่พบในกรุวัดมหาธาตุและวัดราชบูรณะ

ส่วนชั้นบนจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ค้นพบและได้จากการดำเนินงานทางโบราณคดีในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เช่น พระพุทธรูป, พระพิมพ์, ตู้พระธรรมลายรดน้ำ, ภาพพระบฏ, ธรรมาสน์ และโบราณวัตถุรายการสำคัญ คือ พระบรมสารีริกธาตุจากวัดมหาธาตุ และเครื่องทองจากกรุวัดราชบูรณะ นอกจากนี้ยังมีอาคารจัดแสดง 2 จัดแสดงโบราณวัตถุศิลปวัตถุประเภทภาชนะดินเผา และอาคารเรือนไทยที่ใช้เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนอีกด้วย

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
หลังอุ่นเครื่องด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านโบราณวัตถุและศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑ์ ยังสามารถสัมผัสมนต์เสน่ห์ของอดีตเมืองหลวงที่รุ่งเรืองมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย กับการเยี่ยมชม ‘อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา’ ซึ่งประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญ ๆ หลายแห่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา อาทิ วัดมหาธาตุ วัดที่มีความสำคัญยิ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะเป็นวัดที่ประดิษฐานพระบรมธาตุใจกลางพระนคร และเป็นที่พำนักของสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายคามวาสี วัดแห่งนี้จึงได้รับการก่อสร้างและดูแลตลอดเวลาจวบจนถูกทำลายและถูกทิ้งร้างลงหลังเสียกรุงครั้งที่ 2 ภายในประกอบด้วย พระปรางค์ขนาดใหญ่, เจดีย์แปดเหลี่ยม, วิหารที่ฐานชุกชี, วิหารเล็ก ที่ปัจจุบันมีรากไม้แผ่รากขึ้นเกาะเต็มผนัง และรากไม้ส่วนหนึ่งได้ล้อมเศียรพระพุทธรูปไว้จนกลายเป็นจุดที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีพระปรางค์ขนาดกลาง และตำหนักพระสังฆราช

วัดราชบูรณะ หนึ่งในวัดที่ใหญ่และมีความเก่าแก่มากที่สุดในพระนครศรีอยุธยา สร้างโดยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา ในปี พ.ศ. 1967 วัดราชบูรณะมีชื่อเสียงและความโด่งดังมากในเรื่องการถูกกลุ่มคนร้ายจำนวนหนึ่ง ลักลอบขุดกรุภายในพระปรางค์ประธาน ในปี พ.ศ. 2499 และลักขโมยทรัพย์สมบัติจำนวนมากมายมหาศาลหลบหนีไป ต่อมากรมศิลปากรเข้าทำการบูรณะขุดแต่งต่อภายหลัง พบทรัพย์สมบัติที่หลงเหลือและเครื่องทองจำนวนมากมาย ปัจจุบันทรัพย์สมบัติภายในกรุถูกเก็บรักษาไว้ที่ห้องราชบูรณะ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา

Dessert Bar by Busaba
นอกจากศิลปะวัตถุและสถาปัตยกรรมมากมาย อีกหนึ่งสิ่งที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้เป็นอย่างดีคือ ‘อาหาร’ โดยหนึ่งในร้านน้องใหม่แต่มาแรงสุด ๆ ต้องยกให้ ‘Dessert Bar by Busaba’ บาร์(ขนม)ลับ หลังบ้านบุษบา ที่เปิดประสบการณ์การลิ้มรสขนมไทยแบบใหม่คู่กับเครื่องดื่มสไตล์ ‘ไท-เดิร์น’ (ไทยเดิม+โมเดิร์น) โดยเจ้าของร้านได้เปลี่ยนแปงอาคารเรือนไทยสีขาวสุดงดงามที่แต่เดิมเปิดเป็นที่พักสไตล์ไทยอยุธยา มาเป็นบาร์ขนมที่นำเสนอเซตขนมไทยและเครื่องดื่มในสไตล์ร่วมสมัยออกมาได้อย่างกลมกล่อม

อย่างเซต ‘Bussaba Testing Menu’ ที่ดึงเอกลักษณ์ขนมของต่างชาติที่เข้ามาค้าขายกับอยุธยามาออกแบบ จนได้รสสัมผัสที่แปลกใหม่แต่คงความเป็นไทยได้อย่างลงตัว ประกอบด้วย ขนมเบื้องคาวหวาน ขนมเบื้องแป้งกุ้งบางกรอบ เคี้ยวเพลิน สอดไส้คริมโฮจิฉะ หอมหวานละมุน, เค้กข้าวเหนียวอบควันเทียน เค้กข้าวเหนียวหอมกลิ่นควันเทียน สัมผัสนุ่มเป็นเอกลักษณ์ เสิร์ฟพร้อมซอสส้มจีนโฮมเมด, ขนมครกฝรั่งเศส ดัดแปลงมาจากคานาเล่ กรอบนอกนุ่มในหอมหวานนวลจากน้ำตาลมะพร้าว ดัดรสหวานด้วยซอสมะเกี๋ยง, พดด้วงทอง ทองโบราณรสหวาน มัน ละมุน และบ้าบิ่นข้างแรม บ้าบิ่นมะพร้าวกะทิปาดซอสโชยุหอม ๆ สูตรเฉพาะ ให้รสชาติกลมกล่อมลงตัว รับประทานคู่กับ ชวนหลง ชาอู่หลงสูตรพิเศษที่หอมกลิ่นดอกบัว และมีรสหวานอ่อน ๆ จากน้ำเชื่อมบัวหลวง ที่ดื่มแล้วชวนหลงใหลสมชื่อ

บ้านไทยคลองสระบัว
เรียกน้ำย่อยด้วยขนมไทยกันไปแล้ว มาถึงสำรับอาหารคาวของ ‘บ้านไทยคลองสระบัว’ บ้านเรือนไทยแห่งนี้นอกจากถูกใช้เป็นสถานที่ในการถ่ายทำละครเรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส’ ยังให้บริการอาหารไทยที่เน้นให้บรรยากาศเหมือนมากินข้าวบานเพื่อน จึงเปิดให้บริการสำหรับคณะส่วนตัวตั้งแต่ 4 – 20 คนเท่านั้น โดยมีให้ให้เลือกทั้งมื้อเช้าและมื้อกลางวัน และมีเซตเมนูให้เลือกถึง 3 แบบ ได้แก่ 6 คอร์ส, 7 คอร์ส และ 8 คอร์ส แต่ละจานถูกปรุงด้วยวัตถุดิบสดใหม่ อัดแน่นไปด้วยคุณภาพและปริมาณ ชนิดที่ว่าเมื่อมาแล้วอิ่มท้องกลับไปแน่นอน ที่สำคัญคือชูรสชาติอาหารไทยทุกเมนูออกมาได้อย่างน่าประทับใจจนลืมไม่ลงทั้ง เมี่ยงคำ, ยำส้มโอ, แกงมัสมั่นไก่, น้ำพริกกุ้งสด, กุ้งแม่น้ำเผาน้ำปลาหวานสะเดา และขนมไทย เป็นต้น


ศูนย์การเรียนรู้บ้านขนมไทยไกลหวาน
ลิ้มรสทั้งสำรับคาว-หวาน จนอิ่มกันพอสมควร ถึงคราวโชว์ฝีมือปลายจวักทำขนมไทยไปกับ ‘ศูนย์การเรียนรู้บ้านขนมไทยไกลหวาน’ ที่เปิดโลกขนมไทยสัญชาติโปรตุเกสตำรับ ‘ท้าวทองกีบม้า’ ให้ทุกคนได้สัมผัส ภายในมีพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมที่มีโมเดลขนมไทยแบบจิ๋วหลายชนิดให้ศึกษา พร้อมเปิดโอกาสให้เรียนทำขนมไทยกับ ‘ครูเผือก’ ผู้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้บ้านขนมไทยไกลหวาน ซึ่งปรับสูตรขนมไทยให้มีรสชาติหวานน้อยแต่ยังคงความอร่อยไว้ได้อย่างครบถ้วนไม่ว่าจะเป็น อาลัวสด และขนมเครื่องทอง เป็นต้น

ร้านอาหารสุริยันจันทรา
เวลาคล้อยสู่ช่วงบ่ายแก่ ๆ เดินทางสู่ ‘ร้านอาหารสุริยันจันทรา’ ร้านอาหารไทยที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายความโบราณ ด้วยสถานที่ที่เป็นโกดังโรงสีเก่า และบ้านไม้โบราณริมแม่น้ำน้อยอายุกว่า 130 ปี ถูกตกแต่งแบบร่วมสมัย โดดเด่นด้วยโคมไฟแบบแชนเดอเลียอันใหญ่กลางร้าน และนอกจากนำเสนออาหารไทยภายใต้บรรยากาศแสนสวยแล้ว ทางร้านยังมีกิจกรรมไฮไลต์คือการล่องเรือโบราณชมวิถีชีวิตของชาวบ้านริมสองฝั่งแม่น้ำน้อย หนึ่งในแม่น้ำสายสำคัญที่พาดผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งภายในเรือมีการตกแต่งอย่างหรูหราคอนเซ็ปต์เดียวกับการตกแต่งร้าน ไม่ว่าจะถ่ายรูปมุมไหนก็สวยเก๋สุด ๆ


ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านของพ่อ
วันสุดท้ายช่วงเช้ามุ่งสู่ ‘ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านของพ่อ’ สถานที่เรียนรู้เชิงเกษตรที่น้อมนำแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมาส่งต่อให้เยาวชน และประชาชนทั่วไป ภายในมีการจัดสรรพื้นที่ตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ทั้งพื้นที่นา, พื้นที่เพาะปลูก, พื้นที่เลี้ยงสัตว์ และพื้นที่กักเก็บน้ำ รวมไปถึงฐานกิจกรรมการเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง อาทิ การสานปลาตะเพียนจากใบลาน และการทดลองทำไข่เค็มออแกนิค เป็นต้น

ร้านบ้านป้อมเพชร
ปิดท้ายทริปชมเมืองเก่า เล่าเรื่องอยุธยา ด้วยการรับประทานอาหารที่ ‘บ้านป้อมเพชร’ ร้านกุ้งเผาและที่พักที่มีพิกัดติดกับ ‘ป้อมเพชร’ อดีตป้อมปืนใหญ่สมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งปัจจุบันได้รับการปรับปรุงพื้นที่โดยรอบให้กลายเป็นสวนสาธารณะ เจ้าของร้านจึงนำเรื่องราวของป้อมเพชรมาถ่ายทอดผ่านสถาปัตยกรรม โดดเด่นด้วยก้อนอิฐหลากหลายขนาดและสีที่ช่วยให้ร้านมีความโมเดิร์นและอบอุ่น ส่วนเมนูเด็ดของร้านต้องยกให้ ‘กุ้งแม่น้ำย่างถ่าน’ ที่มีการสร้างศาลาย่างกุ้งส่งกลิ่นหอมตั้งแต่บริเวณหน้าร้าน นอกจากนี้ยังมีเมนูอร่อย ๆ อีกมากมายไม่ว่าจะเป็น แกงเขียวหวานไก่ ลูกชิ้นปลา เสิร์ฟพร้อมโรตี ขนมจีน และไข่เค็ม, หลนปูผักสด, ปลากระพง 3 รส, เนื้อปูผัดพริกเหลือง และปลาทูผัดสายบัว

