Home > Lifestyle > Travel > เปิดพระราชวัง ‘ดรอตต์นิงโฮล์ม’ สวย สงบ ไร้กาลเวลา

‘บางครั้งคุณจะรู้สึกเหมือนไม่ได้อยู่คนเดียว’ สมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน ทรงเคยเผยเรื่องราวของสิ่งลี้ลับภายใน พระราชวังดรอตต์นิงโฮล์ม (Drottningholm) บริเวณปีกทางใต้ อันเป็นสถานที่ประทับของพระองค์ ผ่านการพระราชทานสัมภาษณ์สารคดีช่องหนึ่ง ข้อมูลนี้สร้างความตื่นเต้นและกลับกลายเป็นคำเชิญชวนให้เหล่านักท่องเที่ยวทั่วโลกเดินทางมายลโฉมพระราชวังที่สวยงาม ตื่นตาด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์ ความลึกลับต่างๆ เป็นจำนวนมาก

แต่ทว่าเมื่อมาถึงภาพความสวยงามแบบเรียบง่ายของกรุงสตอกโฮล์ม ที่สอดคล้องกับสถาปัตยกรรมโบราณของพระราชวังที่ถูกดูแลรักษาเป็นอย่างดีจนไม่เห็นร่องรอยความเก่าแก่ กลับทำให้เราใจเต้นเพราะความสวยงามทุกมุมมองเสียมากกว่า พระราชวังถูกแบ่งเป็นส่วนเพื่อเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ตลอดทั้งปี และส่วนที่ประทับส่วนพระองค์ของราชวงศ์ และยังใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญอยู่

พระราชวังดรอตต์นิงโฮล์มสร้างขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 ปัจจุบันดรอตต์นิงโฮล์มเปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเรื่องราวของสถาปัตยกรรมยุโรป ผู้เยี่ยมชมจะได้สัมผัสภูมิทัศน์และดีไซน์อันสวยงาม มีโรงละครพระราชวัง(Drottningholm Theatre) เป็นโรงโอเปร่าหนึ่งในไม่กี่โรงของยุคศตวรรษที่18 ในยุโรป ที่ยังคงใช้เครื่องจักรรูปแบบเดิมในการเปลี่ยนฉาก และยังใช้แรงงานคนในการหมุนเครื่องจักรอยู่ ปัจจุบันโรงละครแห่งนี้มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากและยังทำการเปิดการแสดงอยู่ ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน โดยคณะโอเปร่า Royal Swedish แรกเริ่มโรงละครแห่งนี้ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิก NicodemusTessin ผู้พ่อ แต่มาสร้างเสร็จในช่วงที่สถาปนิก Nicodemus Tessin ผู้ลูกรับช่วงต่อ ภายในตกแต่งสไตล์บาโรกระหว่างปีค.ศ. 1665 – 1703 แต่ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนการตกแต่งเป็นสไตล์ฝรั่งเศส โรงละครเปิดแสดงครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1754โดยมีการว่าจ้างให้คณะละครจากฝรั่งเศสมาแสดง เมื่อโรงละครเดิมถูกไฟไหม้ในปี ค.ศ.1762 ระหว่างการแสดงโชว์โอเปร่าสมเด็จพระราชินี Lovisa Ulrika ได้ตัดสินพระราชหฤทัยให้สร้างโรงละครสำหรับพระราชวังขึ้นมาทดแทน ออกแบบโดยสถาปนิก Carl Fredrik Adelcrantz

เมื่อเดินเล่นสักพักอาจแปลกตากับ พระที่นั่งในสถาปัตยกรรมแบบจีน (Chinese Pavilion at Drottningholm) ในอาณาบริเวณของพระราชวังสวีเดน โดยได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปะจีน สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1763 –1770 ซึ่งสมเด็จพระราชาธิบดี AdolfFrederick พระราชทานเป็นของขวัญวันประสูติแด่องค์ราชินี Lovisa Ulrika ในปีค.ศ. 1753 ด้วยการแอบสร้างพระที่นั่งแห่งนี้ให้ โดยอาคารหลังแรกเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ภายในตกแต่งด้วยศิลปะจีนทั้งหมด ต่อมาได้มีการรื้ออาคารไม้หลังเดิมออก แล้วสร้างเป็นอาคาร 2 ชั้น ผสมผสานระหว่างสไตล์ตะวันตกและจีนข้าวของเครื่องใช้ เครื่องเรือนต่างๆ นำเข้าจากประเทศจีนทั้งหมด ในยุคนั้นบรรดาขุนนางและประชาชนทั่วไปต่างก็นิยมตกแต่งห้องใดห้องหนึ่งในสไตล์จีนนอกจากนี้สวนโดยรอบก็ถูกสร้างขึ้นภายหลังจากพระที่นั่งสร้างเสร็จ แต่ต่อมาถูกทิ้งร้างจนกลายเป็นสวนธรรมชาติอย่างปัจจุบัน

ส่วนโซนสวนสไตล์อังกฤษอันเขียวขจี ภายในสวนมีประติมากรรมสำริด ออกแบบโดย Adriaen de Vries ประติมากรที่มีชื่อเสียงในยุคเรอเนสซองส์ของยุโรป โดยสวนที่เก่าแก่ที่สุดในพระราชวังถูกสร้างขึ้นเมื่อปลายยุคศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นพระดำริของสมเด็จพระราชินี Hedvig Eleonora มุมหนึ่งของสวนนี้เป็นที่รู้จักในฐานะสวนบาโรก ซึ่งสถาปนิกได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากสวนในพระราชวังฝรั่งเศส ในช่วงศตวรรษที่ 18 สวนนี้กลับถูกปล่อยทิ้งร้างให้อยู่ในสภาพทรุดโทรม แต่ต่อมาได้รับการบูรณะใหม่ในช่วงปี ค.ศ. 1950 – 1960

พระราชวังแห่งนี้ได้รับอิทธิพลจากพระราชวังแวร์ซายประเทศฝรั่งเศส โดยฝีมือการออกแบบของสถาปนิกNicodemus Tessin ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพระราชวังดรอตต์นิงโฮล์ม เป็นที่ประทับของบรรดาสมาชิกราชวงศ์จากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งแต่ละพระองค์ก็ทิ้งเครื่องหมายที่บ่งบอกความเป็นตัวตนในการตกแต่งภายใน โดยได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย เพราะมีการบูรณะอยู่เสมอตลอดระยะเวลากว่า 400 ปีที่ผ่านมา นี่คงเป็นสาเหตุที่ทำให้พระราชวัง ดรอตต์นิงโฮล์ม ยังคงรักษาสภาพเดิมตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่16 จนถึงปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ปี ค.ศ. 1991 องค์การ ยูเนสโกจึงประกาศให้พระราชวังดรอตต์นิงโฮล์มเป็นมรดกโลกในที่สุด

อาจสัมผัสได้จริงๆ ว่าการเดินชมพระราชวังดรอตต์นิงโฮล์ม (Drottningholm) เหมือนไม่ได้อยู่คนเดียวจริงๆ เพราะที่แห่งนี้พร้อมเปิดให้ผู้คนเข้ามาชมประวัติศาสตร์อันงดงามได้เต็มที่ เราจึงถูกรายล้อมด้วยผู้คนที่หลงไหลศิลปะ ประวัติศาสตร์ พร้อมวิวทิวทัศน์สวยๆ ผ่อยคลายที่เหมาะกับการพาครอบครัวมาสัมผัสบรรยากาศแบบนี้เป็นที่สุด

Tags
travel
Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.