Home > Lifestyle > Travel > ทริปพรหมลิขิต ‘มัณฑะเลย์ – พุกาม’ สัมผัสวิถีชีวิตชาวพุทธลุ่มแม่น้ำอิรวดี

“บางครั้งการเดินทางผจญภัยไปในโลกกว้าง กลับกลายเป็นการเดินทางเพื่อสำรวจจิตใจของตนเอง” หนึ่งประโยคสั้นๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นทริปเยือนประเทศเพื่อนบ้าน ‘มัณฑะเลย์ – พุกาม’ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘พม่า’ ของคุณปุ๊ม – ม.ล.ภูมิใจ ชุมพล หลังตัดสินใจอย่างไม่ลังเล แม้จะไม่ได้ตระเตรียมข้อมูลสำหรับการเดินทางใดๆ ไว้ล่วงหน้าเลย

ความหนาวเย็นของอากาศกลางดึกในเดือนธันวาคม ไม่ได้ทำให้พุทธศาสนิกชนเมืองมัณฑเลย์ย่อท้อต่อการเดินมาร่วมพิธีสรงน้ำพระมหามัยมุนี พระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่เชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีชีวิต และจะต้องทำพิธีล้างพระพักตร์ แปรงพระทนต์ถวายอย่างเต็มรูบแบบในทุกๆ เช้า

โดยพิธีนี้จะเริ่มต้นตอนรุ่งสางของทุกๆ วัน และจะมีคนจำนวนหลายร้อยคนไปออกันอยู่ที่ประตูทางเข้าวิหารของวัดพยาจี หรือ ‘วัดอาระกัน’ อีกหนึ่งชื่อที่ชาวพม่าเรียกขาน ตั้งแต่ตอนตีสามครึ่ง พอประตูเปิดก็พากันกรูเข้าไปหาที่นั่งในวิหาร เพื่อรอให้ท่านเจ้าอาวาสมาเริ่มพิธี บ้างสวดมนต์ บ้างนั่งทำสมาธิ ตามแรงศรัทธา รู้สึกได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพุทธบารมี และพิธีกรรมซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งการชำระล้างกิเลสทั้งปวง

พระมหามัยมุนีเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องทองคำประดับเพชรพลอย ปางมารวิชัย สร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อปีพ.ศ. 689 โดยพระเจ้ากรุงยะไข่ หล่อที่เมืองธรรมวดี ขนาดความสูง 12 ฟุต หุ้มด้วยทองคำเปลวหนา 2 นิ้ว และภายหลังย้ายมาประดิษฐานที่เมืองมัณฑเลย์ และก่อนที่พม่าจะเสียเมืองให้อังกฤษเพียงไม่นานนัก เกิดเหตุอาเพศ ไฟไหม้วิหารหลวงพ่อมหามัยมุนีเสียหายทั้งหลังเมื่อปีพ.ศ. 2422 และความร้อนได้ลนองค์พระจนเนื้อทองคำเปลวที่หุ้มอยู่หลอมเหลวออกมาเป็นเนื้อทองคำหนักถึง 700 บาท วิหารหลังที่เห็นในปัจจุบันนี้สร้างขึ้นใหม่โดยแรงศรัทธาของประชาชนชาวพม่าเมื่อปีพ.ศ. 2426 โดยเป็นผลงานการออกแบบของสถาปนิกชาวอิตาเลี่ยน

ในบริเวณรอบๆ ลานวัดแห่งนี้มีสิ่งของที่น่าสนใจ น่าชมเป็นที่สุด คือกลุ่มเทวรูปขอมโบราณที่กองทัพแห่งกรุงศรีอยุธยาเคยไปยึดมาจากนครวัด (กัมพูชา) และกองทัพพม่าได้ขนจากกรุงศรีอยุธยามาไว้ที่นี่อีกต่อหนึ่งตั้งแต่ครั้งกรุงแตก และบางส่วนก็เล่ากันว่า ถูกกองทัพอังกฤษริบกลับไปสหราชอาณาจักรอีกต่อหนึ่งด้วย ที่ยังหลงเหลืออยู่ในวัดนี้นั้นนับว่าเป็นส่วนน้อยจากที่เคยมีอยู่เดิม

พอช่วงสาย ผมมุ่งหน้าสู่พระราชวังหลวงที่ตั้งอยู่บนพื้นที่กว้างใหญ่ใจกลางเมือง พระราชวังนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2400 โดยพระเจ้ามินดงและใช้เป็นที่ประทับของกษัตริย์พม่าตราบจนสิ้นราชวงศ์เมื่อพลั้งพลาดเสียเมืองต่ออังกฤษ พระราชวังแห่งนี้มีกำแพงทึบและคูน้ำปิดกั้นอย่างมิดชิดโดยรอบ ทั้งหมดมีความยาวร่วม 2 กิโลเมตร ภายในประกอบด้วยหมู่พระมหามณเฑียร กลุ่มพระที่นั่งน้อยใหญ่ ที่ถูกสร้างขึ้นตามแผนผังจักรวาลทางลัทธิศาสนาพราหม์และพุทธ โดยเปรียบให้พระราชฐานเป็นเขาพระสุเมรุ ตั้งอยู่เป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล ล้อมรอบด้วยห้วงสมุทรสีทันดร

แต่เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กลุ่มพระมหามณเฑียรและพระที่นั่งต่างๆซึ่งก่อสร้างด้วยไม้สักทั้งหมดนั้น ต้องมอดไหม้ลงเป็นจุลเพราะไฟจากการทิ้งระเบิด อาคารต่างๆ ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ถึงแม้นจะยิ่งใหญ่อลังการสักเพียงใด ก็เป็นแค่ของที่สร้างขึ้นมาใหม่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ หาได้มีความงดงามปราณีตอ่อนช้อย เยี่ยงงานฝีมือของช่างโบราณเลยแม้แต่น้อย

ดังนั้นก่อนที่จะเข้าชมพระราชวังจำลอง จึงมีสถานที่หนึ่งที่ควรค่าแก่การไปเยี่ยมชมเสียก่อน นั่นคือวัดกุโสดอร์ ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลมากนักจากพระราชวังหลวง ด้วยเหตุผลที่ว่าภายในวัดนี้มีอาคารพระวิหารชเวนันดอร์ไม้สักแกะสลักและปิดทองทั้งหลังด้วยฝีมือปราณีตบรรจง เดิมทีเคยเป็นพระที่นั่งองค์โปรดตั้งอยู่ในพระราชวังหลวง และเป็นที่สวรรคตของพระเจ้ามินดง เมื่อผลัดรัชกาลแล้ว พระเจ้าตี่ปอทรงโปรดให้ชลอมายังวัดนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า “ผีดุ”

ในยามบ่ายที่อากาศร้อนอบอ้าว ผมหลบแดดไปดูร้านของช่างตีทอง หนึ่งในหัตถกรรมมีชื่อของเมืองมัณฑะเลย์ ที่นี่ยังใช้แรงงานคนในการรีดแผ่นทอง และทุบด้วยค้อนจนบางเบาเป็นทองคำเปลว เพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา และใช้สร้างงานหัตถกรรมชนิดอื่นๆ ที่นี่ยังมีของที่ทำจากทองอีกหลายอย่างให้เลือกซื้อไปเป็นของที่ระลึก ที่น่ารักมากคือการนำใบของต้นพระศรีมหาโพธิขนาดจิ๋วมาปิดทองคำเปลว และเข้ากรอบขนาดกะทัดรัด เหมาะสำหรับพกติดตัวเป็นสิริมงคลระหว่างการเดินทาง

พอตกเย็นสิ่งที่พลาดไม่ได้ คือการไปชมละครหุ่นกระบอก จัดแสดงโดยคณะศิลปินเก่าแก่ของเมืองและเป็นลูกหลานของครูหุ่นประจำราชสำนักในอดีต ท่าทีอันอ่อนช้อยดูสมจริงเป็นธรรมชาติของหุ่นกระบอกพม่า ฟ้อนรำไปกับเพลงปี่พาทย์ที่เล่นด้วยเครื่องดนตรีพื้นเมืองนั้น น่าพิศวงยิ่งนัก

เช้าวันรุ่งขึ้นผมนั่งเรือล่องแม่น้ำอิรวดีเพื่อไปยังเมืองอังวะ เมืองสำคัญแต่โบราณหากในปัจจุบันเหลือเพียงซากปรักหักพัง เมื่อไปถึงต้องนั่งรถม้าแบบดั้งเดิม วิ่งไปตามถนนดินแดงอีกทอดหนึ่ง เพื่อไปชมวัดบากายาที่อยู่ในดงตาลกลางทุ่งนาเขียวขจี

วัดนี้มีบรรยากาศสงบเงียบสมเป็นอารามในชนบท สถาปนาขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2377 ในรัชสมัยของพระเจ้า บายีร์ดอร์ สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง มีเสาซุงขนาดใหญ่มหึมาถึง 267 ต้น ต้นที่ใหญ่ที่สุดมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 9 ฟุต และสูง 60 ฟุต มีการแกะสลักรายละเอียดของฝาผนัง เสา ประตู หน้าต่าง ทั้งภายในและภายนอกที่งดงามเป็นที่สุด มีทั้งความเหมือนและความแตกต่างจากวิหารชเวนันดอร์ ที่ไปดูมาเมื่อวาน แต่หากเปรียบเทียบจะเห็นได้ชัดว่าแม้อาคารทั้งสองหลังนี้ได้ถูกสร้างขึ้นมาในเวลาอันไล่เลี่ยกัน หลังนึงนั้นออกแบบขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถาน ส่วนอีกหลังสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตามโบราณสถานทั้งสองแห่งนี้ก็ล้วนแต่สื่อถึงรากเหง้าความเป็นศิลปะ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชาวมัณฑะเลย์ได้เป็นอย่างดี

……………………………………………………………….

PHOTOS: ม.ล. ภูมิใจ ชุมพล

Tags
travel
Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.