ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เราได้เห็นภาพวิวจากบนยอดเขาคินาบาลู (Mount Kinabalu) ผ่านอินสตาแกรมของคุณแม่ลูกสาม ‘คุณปริม บูลกุล’ ถึงแม้จะรู้อยู่แล้วว่าเธอเป็นนักเดินทางสายแอดเวนเจอร์ แต่ก็ยังรู้สึกทึ่งอยู่ดีที่ได้เห็นหญิงสาวร่างบางเดินขึ้นไปบนความสูงกว่า 4,095 เมตรเพื่อ พิชิตยอดเขาคินาบาลู และเก็บภาพแสงแรกของเกาะบอร์เนียว ประเทศมาเลเซีย เราจึงขอชวนเธอมานั่งคุยและย้อนความทรงจำถึงการเดินขึ้นเขาและเอาชนะใจตัวเอง
แค่จะไป… ก็ไม่ง่ายแล้ว
คุณปริมพาเราย้อนกลับไปยังช่วงเวลาที่เธอตัดสินใจเดินทางไปพิชิตคินาบาลูแห่งเกาะบอร์เนียว หลังจากที่เธอเคยคุยกับเพื่อนเอาไว้หลายปีถึงยอดเขาแห่งนี้ “ทริปนี้เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญจากที่ปริมเห็นรูปภูเขาคินาบาลู มันสวยจนปริมประทับใจและอยากไป เพื่อนชาวมาเลเซียที่เคยไปมาแล้วเลยอาสาจัดทริปให้ แต่กว่าจะสมหวังก็ต้องรออยู่หลายนาน เพราะเพื่อนย้ายกลับประเทศ เจอโควิดปิดประเทศอีก กว่าจะเปิดประเทศและจัดสรรเวลาลงตัวได้ก็ผ่านมา 7 ปีแล้วค่ะ”
การจะขึ้นคินาบาลูนั้นใช่ว่าตัดสินใจจะไปแล้วก็จะจองได้เลยทันที เพราะทางอุทยานแห่งชาติคินาบาลูจะจัดสลอตนักท่องเที่ยว จำกัดจำนวนคนอยู่ที่รอบละไม่เกิน 150 คน และเป็นจังหวะโชคดีของคุณปริมที่เพื่อนคนหนึ่งยกเลิก ทำให้มีที่ว่างหนึ่งที่ตกมาถึงคุณปริม



“เป็นการจองที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับคินาบาลูเลย นอกจากภาพจำว่าข้างบนนั้นสวยแทบลืมหายใจ จนกระทั่งปริมได้มานั่งอ่านข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ถึงได้รู้ว่ามันเป็นภูเขาที่สูงมาก เทียบกับดอยอินทนนท์ที่สูง 2,565 เมตรแล้วเกือบเท่าหนึ่งเลย แต่ตอนนั้นเราก็คิดว่าไม่น่ายาก เพราะดูจากเส้นทางแล้ววันแรกเดิน 6 กิโลเมตร พักหนึ่งคืน จากนั้นเดินขึ้นซัมมิตตอนเช้ามืดที่ระยะทาง 2.7 กิโลเมตร คิดว่าคงเดินขึ้นไปได้ไหวแน่นอน พอสามีกับลูกๆ รู้ว่าเราจะไปคินาบาลู ก็เริ่มมีเสียงทักท้วงค่ะ (หัวเราะ) เขาถามว่าเราไหวเหรอ มันสูงนะ”
“ตอนนั้นปริมยังเชื่อว่ามันน่าจะเป็นเหมือนการเดินเขาทั่วไปที่เดินซิกแซก ไปตามกำลังที่เราไหว ไม่มีความคิดในหัวเลยว่าเราจะต้องเดินขึ้นความชันเกือบ 90 องศาแบบขึ้นบันไดทุกขั้น เราคิดแค่ว่าเดินไปเรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก ยังไงก็ต้องถึง จะอะไรกันนักกันหนาเชียว”
ความท้าทายแรกของทริปนี้จึงเกิดขึ้นตั้งแต่ยังไม่ได้ไปเหยียบเมืองโคตาคินาบาลู เพราะคุณแม่สายกิจกรรมยอมรับว่าร่างกายไม่ฟิตเหมือนเมื่อ 7 ปีก่อนที่เอ่ยปากว่าอยากไป แต่ด้วยแรงใจที่อยากไปพิชิตความสวยของยอดเขาในรูปด้วยตนเอง ทำให้จากที่ออกกำลังกายเป็นประจำอยู่แล้ว ยิ่งออกกำลังกายหนักกว่าเดิมพร้อมสวมรองเท้าคู่ใหม่ที่เตรียมเอาไปใส่ขึ้นเขา เพื่อให้พื้นนิ่มสบายเท้าก่อนวันใช้งานจริง


What’s in your bag? จัดกระเป๋าให้พร้อมก่อนออกลุย
นอกจากคุณปริมจะเตรียมร่างกายให้พร้อมไป พิชิตยอดเขาคินาบาลู แล้ว ยังได้ค้นคว้าข้อมูลเพื่อเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ให้ขาดเหลือหน้างานอีกด้วย เธอเล่าว่าที่ซัมมิตอุณหภูมิจะอยู่ที่ประมาณ 0 ถึง -2 องศาเซลเซียส ดังนั้นจึงต้องเตรียมเสื้อผ้าให้ครอบคลุมตั้งแต่อากาศด้านล่างที่ไม่หนาวมาก ไปจนถึงข้างบนที่หนาวสุดๆ ทำให้ในกระเป๋าเดินทางมีเสื้อกันหนาวหลากหลายเลเยอร์เรียงซ้อนกันอยู่ และที่ขาดไม่ได้เลยคือเสื้อกันฝน เพราะการเดินป่าเขตร้อนชื้นนั้นมีโอกาสเจอกับฝนได้ตลอดเวลา
เมื่อเตรียมเสื้อกันหนาวตั้งแต่ตัวบางไปจนถึงหนา เสื้อกันลม เสื้อกันฝน ลงกระเป๋าเรียบร้อยแล้ว คุณปริมก็เริ่มจัดอุปกรณ์เสริมตามลงไป ไม่ว่าจะเป็น หมวกกันหนาวแบบบีนนี่ ไฟฉายคาดศีรษะ กระติกน้ำ เป้น้ำ ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ
“อ้อ สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับปริม คนอื่นอาจจะพกเอเนอร์จี้บาร์ แต่ปริมขอเลือกเป็นครีมกันแดด สกินแคร์ และเครื่องสำอางค่ะ” คุณแม่ลูกสามที่ยังคงสวยสดใสตอบพร้อมเสียงหัวเราะ



ออกเดินทางสู่จุดพักแรก
หากเป็นช่วงเวลาปกติ เหล่าผู้พิชิตยอดเขาคินาบาลูจะนั่งไฟลต์บินตรงไปลง ซาบะห์ (Sabah) รัฐที่ตั้งของเมืองโคตาคินาบาลู แต่เพราะเป็นช่วงโควิดทำให้ไฟลต์ถูกยกเลิกไป คุณปริมจึงต้องใช้เวลานับ 10 ชั่วโมง บินจากกรุงเทพฯไปลงกัวลาลัมเปอร์ และต่อเครื่องไปซาบะห์อีกที เลยกลายเป็นว่าเธอออกจากบ้านตั้งแต่หกโมงเช้า แต่กว่าจะได้เข้าที่พักก็ปาเข้าไปทุ่มครึ่งแล้ว
เช้ามืดวันถัดมา รถมารับที่โรงแรมเพื่อพาคุณปริมและบรรดานักปีนเขาไปยังที่ทำการอุทยาน ซึ่งจะต้องแลกพาสปอร์ตเพื่อรับแท็กนักท่องเที่ยว ก่อนจะนั่งรถต่อไปยังจุดเริ่มต้นของเส้นทางการเดินขึ้นเขา
คุณปริมหวนนึกถึงช่วงเวลาเช้าตรู่ที่อากาศเย็นเยียบ ในใจเต็มไปด้วยความตื่นเต้น “พวกเรารับผิดชอบสัมภาระกันคนละประมาณ 5 กิโลกรัม ส่วนที่เหลืออาศัยลูกหาบช่วย เส้นทางเดินขึ้นมีเส้นเดียว เป็นทางขึ้นบันไดเพียงอย่างเดียว ทำให้ตลอดทางมีแต่ความชันของบันไดรากไม้ไม่ก็บันไดหิน แต่ดีที่มีราวให้จับและเส้นทางเดินปลอดภัย มีจุดพักและห้องพักให้เป็นระยะทุกหนึ่งกิโลเมตร”
“ด้วยความที่เพื่อนร่วมทริปเราเป็นฝรั่ง สไตล์การเดินเลยเป็นแบบ “ใครไหวไปก่อน” จึงเป็นการเดินที่เราอยู่กับตัวเองล้วนๆ ข้อดีคือปริมได้เห็นวิวสองข้างทางอย่างละเอียด ตั้งแต่ช่วงแรกที่เป็นต้นไม้สูงขนาบสองข้างทาง ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นพืชพันธุ์ไม้แปลกตาตามระดับความสูงที่เพิ่มขึ้น ยิ่งช่วง 2 กิโลเมตรสุดท้ายเรามาถึงระดับที่เมฆรายล้อมอยู่รอบตัว มีมอสคลุมหนาแน่นทุกพื้นที่จนดูเป็นกำแพงสีเขียว สวยจนแทบลืมหายใจเลยค่ะ”
6 กิโลเมตรแรกของการเดินทางสู่จุดพักนั้นไม่ได้ยากเกินความคาดหมายของคุณปริม เธอใช้เวลาเดินประมาณ 5 ชั่วโมงครึ่งก็มาถึงบ้านพัก Panalaban ซึ่งจุดพักนี้อยู่ที่ความสูง 3,273 เมตร เป็นความสูงระดับเหนือเมฆ และหนาวจนไม่มีใครคิดเรื่องอาบน้ำ
“เราถึงจุดพักประมาณสี่โมงเย็น มองออกไปเห็นภูเขาหินแท่งสามเหลี่ยมสีดำ ในใจคิดว่าสวยจังเลย ตอนนั้นปริมไม่รู้สักนิดว่ายอดที่สูงผิดปกตินั้นคือยอดที่เราจะต้องเดินขึ้นไปในวันพรุ่งนี้”


4 ชั่วโมงของการพิชิตยอด ที่ต้องต่อสู้กับร่างกายและเสียงในใจ
คำว่า ‘พรุ่งนี้’ มาถึงเร็วกว่าที่เราคิด เพราะคุณปริมเล่าว่าเธอต้องตื่นตีหนึ่ง และเตรียมตัวพร้อมออกเดินในเวลาตีหนึ่งครึ่ง อากาศรอบด้านหนาวเหน็บจนต้องหยิบเสื้อกันหนาวตัวหนาและหมวกไหมพรมมาสวม อุปกรณ์สำคัญอย่างสุดท้ายที่ขาดไม่ได้คือไฟฉายคาดศีรษะ ซึ่งเป็นแสงสว่างเพียงอย่างเดียวที่ทำให้เธอยังพอมองเห็นทางเดินขึ้นบันไดข้างหน้า
“ตอนนั้นขาปริมเจ็บมากแล้ว โดยเฉพาะตรงหัวเข่าที่เจ็บร้าวทุกก้าวที่ขึ้นบันได” คุณปริมพาเราย้อนไปถึงช่วงกลางดึกที่เธอเดินทางไป พิชิตยอดเขาคินาบาลู หลังจากเธอเดินพ้นช่วงบันไดก็เจอกับผาหินลาดชัน ระหว่างทางมีหลายคนถอดใจไปไม่ถึงฝั่งฝัน แต่แม้คุณปริมจะเจ็บขาก็ยังฮึดสู้และเดินต่อ
นับเป็นชั่วโมงของการต่อสู้กับตัวเองอย่างแท้จริง เสียงร่างกายตะโกนบอกว่าไม่ไหวทุกก้าวที่ยกขา อาจทำให้หลายคนกระซิบบอกตัวเองในใจว่าพอแค่นี้ก่อน แต่สำหรับคุณปริมแล้วเธอเลือกที่จะไปต่อในความเร็วของตัวเอง “เราไม่รู้เลยว่าต้องเดินไปอีกไกลแค่ไหนเพราะมันมืดมาก ปริมใช้วิธีเตะขาออกในแนวนอนเพราะยกขาไม่ขึ้นแล้ว ทำแบบนี้จนถึงลานหินที่เป็นจุดชมพระอาทิตย์ ตอนนั้นปริมคิดในใจว่าขอไม่ไปต่อแล้ว จะนั่งชมวิวตรงนี้พอ”
ภาพที่เห็นด้านหน้าสวยตระการตาจนคุณปริมแทบลืมความเหนื่อยล้าตลอดทาง เบื้องหน้าเธอคือหินแกรนิตสีดำกว้างใหญ่ไพศาลและสูงสง่าเหนือยอดเมฆ พื้นหินที่มีรอยแตกร้าวตามธรรมชาติสะท้อนกับแสงแดดแรกของวัน เหมือนกับภาพแรกของยอดเขาคินาบาลูที่ทำให้เธอตัดสินใจเดินขึ้นมา “วินาทีนั้นเรารู้เลยว่าทำไมถึงพาตัวเองขึ้นมาบนนี้ ภาพที่เห็นมันสวยเกินบรรยายจริงๆ นี่คือ mother earth ที่ทำให้รู้ว่าเราเป็นแค่จุดเล็กๆ บนโลก”



หลังนั่งพักสูดอากาศเย็นสดชื่นให้เต็มปอดแล้ว คุณปริมก็เปลี่ยนใจขอเดินต่อกับระยะทางที่เหลืออีกแค่ 300 เมตร ทว่าด้วยความชันแล้วต้องใช้เวลาถึง 45 นาทีเลยทีเดียว ทางเดินที่เหลือไม่ใช่ทางลาดอีกต่อไป ต้องปีนอย่างเดียว ในตอนนั้นคุณปริมจึงต้องใช้มือเกาะขึ้นไปทีละสเต็ป ค่อยๆ ปีน ค่อยๆ ขยับ และคอยชื่นชมความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติรอบตัวเป็นกำลังใจ
ในที่สุดหลังผ่านไปเกือบ 4 ชั่วโมง คุณปริมก็พาตัวเองขึ้นมาถึงจุดสูงสุดของยอดเขาคินาบาลู แม้ร่างกายจะปวดร้าวมาก แต่ก็ยังยิ้มได้ด้วยความภาคภูมิใจ “เราได้ข้ามผ่านจุดหนึ่งที่แวบเข้ามาว่าเราไม่ไหวแล้ว ไม่น่าเชื่อเลยว่าเราเกือบจะถอดใจ ด้วยนิสัยแล้วปริมไม่ใช่คนยอมแพ้อะไรง่ายๆ เราไม่เคยล้มเลิกกลางคันมันเป็นความรู้สึกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในชีวิต”
หลังซึมซับความงดงามของภูเขาและความสำเร็จอันหอมหวานแล้ว ก็ได้เวลากลับสู่ความจริงที่ว่ายังมีระยะทางเท่าตัวที่ต้องเดินกลับลงไป ซึ่งคุณปริมเล่าว่าภาพขาลงทำเอาอึ้งไปเลยว่าปีนขึ้นมาได้ยังไง ส่วนหนึ่งคิดว่าเพราะความมืดทำให้มองไม่เห็น จึงทำให้กล้าปีนขึ้นมาได้ เธอค่อยๆ เดินปีนลงทีละสเต็ป ต่อด้วยเดินลงต่อไปอีก 6 กิโลเมตรจนถึงจุดทำการอุทยานอันเป็นจุดแรกเริ่มของการเดินทางนี้
ถึงแม้ว่าจะเหนื่อยจนแทบถอดใจ แต่ความสวยงามบนยอดเขานั้นยิ่งกว่าคุ้มค่า และคุณปริมยังได้ความทรงจำกลับมาพร้อมแสงเช้าของโคตาคินาบาลูอีกด้วยว่า ครั้งหนึ่งเธอได้ชนะใจตัวเองและก้าวข้าวขีดความสามารถของร่างกาย ที่นี่… ที่ยอดเขาคินาบาลู