ผลงานจัดแสดงบนเกาะทั้ง 12 แห่งในทะเลในเซโตะ 2 ท่าเรือของทากามาทสึและอุโนะ และเปิดให้ชม 3 ฤดูด้วยกัน คือฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน และฤดูใบไม้ร่วง
แม้ว่าปัจจุบันนี้จะมีนักท่องเที่ยวไทยเลือกไปเยือนญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากก็ตาม แต่ญี่ปุ่นก็ยังเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าตื่นเต้นสำหรับเราเสมอ อย่างเช่นคราวนี้ที่ผมได้รับเชิญจากการท่องเที่ยวญี่ปุ่นให้ไปชมงานศิลปะของศิลปินจากทั่วโลกที่เคยจัดแสดงในเทศกาลศิลปะ Setouchi Triennale ที่ผ่านมาซึ่งจัดขึ้นทุกๆสามปี ครั้งที่ 3 นี้ก็จะตรงกับปีค.ศ. 2016 พอดี ผลงานจัดแสดงบนเกาะทั้ง 12 แห่งในทะเลในเซโตะ 2 ท่าเรือของทากามาทสึและอุโนะ โดยเปิดให้ชม 3 ฤดูด้วยกัน คือฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน และฤดูใบไม้ร่วง เพื่อให้ได้สัมผัสความงดงามของศิลปะในอารมณ์และความรู้สึกที่แตกต่างไปในแต่ละฤดูกาล
วันแรกในเทศกาลศิลปะ
การมาชมศิลปะในคางาวะครั้งนี้ ทำให้ได้มีโอกาสไปดูงานชิ้นหนึ่งที่ทำขึ้นเมื่อปีค.ศ.1997 ซึ่งเป็นงานชิ้นแรกของ Art House Project บนเกาะนาโอชิมะ (Naoshima) ชื่อ Sea of Time ‘98 ของศิลปินชื่อทัตสึโอะ มิยาจิมา (Tatsuo Miyajima) ซึ่งเป็นงานที่สร้างขึ้นในช่วงแรกๆของการทำศิลปะบนเกาะ ระหว่างที่ชาวบ้านยังไม่เข้าใจความต้องการและเจตนารมย์ของเบเนเซ่ ก่อเกิดคำถามและความสงสัยมากมาย ศิลปินจึงเชิญชาวบ้าน 125 คนมาร่วมทำงานชิ้นนี้ด้วยกัน
ชาวบ้านทุกคนจะได้รับตัวเลขระหว่าง 0-9 ที่สามารถตั้งค่าความเร็วด้วยตนเอง สำหรับวางไว้ในบ่อน้ำที่สร้างขึ้นในห้องรับแขกของบ้านอายุ 250 ปี เพื่อสะท้อนความรู้สึกเกี่ยวกับเวลาซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย จากผลงานนี้ผู้ชมจะเห็นความเร็วและสีของตัวเลขไม่ซ้ำกันเลย เปรียบกับชีวิตของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน บางคนใช้ชีวิตเร็วมาก บางคนก็ใช้ชีวิตช้าๆ และตำแหน่งที่วางตัวเลขมีแต่ศิลปินและชาวบ้านแต่ละคนเท่านั้นที่รู้ เมื่อไม่นานมานี้คนแรกที่ร่วมทำงานกับศิลปินเพิ่งเสียชีวิตลง โดยระบุไว้ในพินัยกรรมว่า ลูกหลานจะไปไหว้ปู่ที่สุสานก็ได้ แต่ปู่อยากให้มาหาที่นี่ เพราะที่แห่งนี้เป็นความทรงจำของปู่ที่ยังคงสถิตย์ ณ ที่นั่นตลอดไป
ฟักทองลายจุดของยาโออิ คุซามะ และอันโดะ มิวเซียม
เราโดยสารเรือเฟอร์รี่ไปยังเกาะนาโอชิมะ เพื่อชมฟักทองลายจุด ที่ศิลปินป๊อปอาร์ตชื่อดังยาโยอิ คุซามะ (Yayoi Kusama) เป็นคนสร้างขึ้นเมื่อปีค.ศ.2006 ดูโดดเด่นท้าทายกาลเวลาอยู่ตรงท่าเรือมิยาโนอุระ และที่ท่าเรือของเบเนเซ่ เฮาส์ มิวเซียม ยาโยอิเป็นศิลปินที่หลงใหลลายจุดที่เกิดจากรูตาข่าย เธอสนใจศิลปะมาตั้งแต่ยังเยาว์ และเข้าเรียนศิลปะแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น แต่แล้วก็พบว่าศิลปะสมัยใหม่ต่างหากที่ตนสนใจ และสร้างงานลายจุดเรื่อยมา เธอกลายเป็นศิลปินที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก ด้วยการเป็นศิลปินรับเชิญของหลุยส์ วิตต็อง การได้มาเห็นฟักทองลายจุดสีแดงและสีเหลืองของศิลปินหญิงสูงวัยผู้นี้ คงต้องบอกว่าวัยไม่ใช่อุปสรรคของการสร้างสรรค์ศิลปะเลยจริงๆ
จากนั้นเราไปชมจิจู อาร์ต มิวเซียม (Chichu Art Museum) พิพิธภัณฑ์ศิลปะที่เป็นผลงานการออกแบบของศิลปินสถาปนิกเลื่องชื่อระดับโลก อันโดะ ทาดาโอะ (Ando Tadao) เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ใต้พื้นดิน ทำให้ได้เห็นทัศนียภาพและธรรมชาติที่ยังคงเดิม เป็นผลงานที่รวมศิลปะและธรรมชาติให้เป็นหนึ่งเดียวกัน จัดแสดงผลงานของศิลปินต่างชาติชื่อดังมากมาย อาทิ James Turrell, Walter De Maria เป็นต้น
อันโดะ มิวเซียม (Ando Museum) เป็นผลงานสถาปัตยกรรมอันล้ำค่าจากฝีมือการออกแบบของอันโดะ ทาดาโอะอีกเช่นกัน ซึ่งเนรมิตบ้านญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมให้เป็นพื้นที่แสดงงานสถาปัตยกรรมปูนเปลือยที่เขาถนัด โดยเปิดแสงสว่างจากภายนอกให้ฉายเข้ามาขับผลงานให้โดดเด่นโดยไม่ต้องพึ่งแสงนีออน เรียกว่าเป็นการผสมผสานของสองวัฒนธรรมได้อย่างลงตัว
Memory Bottle ที่โองิจิมะ และ Mecon ที่เมงิจิมะ
ประชากรส่วนใหญ่ของเกาะโองิจิมะเป็นผู้สูงอายุ และพื้นที่โดยมากก็เป็นเนินเขา ศิลปินจึงออกแบบ “ออนบะ” หรือรถเข็นเพื่อให้ใช้ทุ่นแรงเมื่อขนย้ายสิ่งของ โดยที่ชาวบ้านสามารถบอกศิลปินได้ว่าต้องการรถเข็นแบบไหน สีอะไร ศิลปะกับชาวเมืองจึงเชื่อมเข้าหากัน นอกจากนี้บนเกาะแห่งนี้ยังจัดแสดง Sea Vine ผลงานของฮารุกิ ทากาฮาชิ (Haruki Takahashi) ซึ่งนำเถาวัลย์ระโยงระยางกับดอกไม้มาแขวนในห้องญี่ปุ่น ดอกไม้แต่ละดอก ใบไม้แต่ละใบต่างก็มีภาพวาดของศิลปินที่มองเกาะจากภายนอก ตามแนวคิดว่า “What the sea might see if it had eyes.”
รวมทั้ง Memory Bottle ที่มายุมิ คุริ (Maymi Kuri) นำความทรงจำล้ำค่าของชาวเกาะและหลอดไฟมาใส่ในขวดแก้ว โดยจัดแสดงในบ้านหลังเล็กๆราวกับความทรงจำชิ้นโตของชาวเกาะที่งดงามดึงดูดทุกสายตา
จากโองิจิมะ เราโดยสารเรือไปยังเกาะเมงิจิมะ เพื่อชมผลงานของชินโระ โอตาเกะ (Shinro Ohtake) ซึ่งใช้มุมหนึ่งของโรงเรียนประถมหลังเก่าที่ปิดตัวไปเป็นสถานที่แสดงงานที่นำเสนอความงามของผู้หญิง (Me เมะ หมายถึงผู้หญิง) ตามชื่อเกาะ ผ่านต้นไม้ที่บิดตัวอ่อนช้อยงดงาม พร้อมกับตกแต่งด้วยข้าวของที่มีสีสันฉูดฉาด ตามความถนัดของศิลปินผู้นี้ ซึ่งเคยฝากผลงานไว้มากมาย อาทิเช่นโรงอาบน้ำไอเลิฟยูบนเกาะนาโอชิมะ
ฟังเสียงหัวใจที่เทชิมะ ชมวิวจากยอดเขาที่โชโดะชิมะ
อาคารรูปหยดน้ำสีขาวที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติ คือเทชิมะ อาร์ต มิวเซียม (Teshima Art Museum) ที่เปิดให้เข้าชมเมื่อปีค.ศ.2010 เป็นงานออกแบบของสถาปนิก ริวเอะ นิชิซาวะ (Ryue Nishizawa) ร่วมกับศิลปินเร ไนโต (Rei Naito) โดยงานจะเปลี่ยนไปตามสภาพของธรรมชาติในเวลานั้นๆแม้ต่างกันเพียงแค่เสี้ยววินาที ซึ่งภาพแต่ละภาพที่แต่ละคนเห็นอาจจะไม่เหมือนกันก็ได้
Les Archives du Coeur โรงเก็บเสียงหัวใจของศิลปินฝรั่งเศสนามว่า Christian Boltanski ผู้ที่ทำให้คุณสามารถฟังเสียงหัวใจของตัวเองและเสียงหัวใจของคนอื่น ท่ามกลางบรรยากาศอันมืดมิดปราศจากแสงไฟ มีเพียงหลอดไฟที่จะกะพริบตามจังหวะหัวใจที่กำลังเต้น อีกทั้งที่นี่ยังเปิดโอกาสให้สามารถฝากเสียงเต้นของหัวใจคุณเองได้อีกด้วย
นอกจากนี้เรายังได้เดินทางไปชมวิวที่เกาะโชโดะชิมะ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของหุบเขาคังคะเค (Kankakei) บนยอดเขานี้เป็นจุดชมวิวบนยอดเขาที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น โดยแต่ละฤดูกาลผู้ชมจะได้สัมผัสความงามที่แตกต่างไป ทว่าช่วงเวลาที่สวยที่สุดของที่นี่คือฤดูใบไม้ร่วง เพราะทั่วทั้งหุบเขาจะกลายเป็นสีส้มแดงเหมือนถูกสาดสีใส่เป็นภาพทิวทัศน์อันงดงามตราตรึงใจ
งานศิลปะอันน่าตื่นตาครั้งนี้ ทำให้ผมนึกถึงคำบอกเล่าของประธานชุมชนบนเกาะนาโอชิมะว่า เมื่อครั้งที่เบเนเซ่เข้ามาใหม่ๆ ทุกคนสงสัยและกังขา แต่เมื่อได้เห็นความตั้งใจและความจริงใจทำให้ทุกคนให้ความร่วมมือมากขึ้น และสำหรับตัวเขานั้นจากที่ไม่เคยสนใจศิลปะ ก็กลับกลายเป็นสนใจและติดตามชมทุกผลงาน ด้วยความเข้าใจว่าเบเนเซ่ไม่ได้ทำลายวิถีความเป็นอยู่ของพวกเขา แค่ทำให้ดีกว่าเดิม
ทุกวันนี้เชื่อหรือไม่ว่าจากเกาะที่มีคนมาเยือนไม่กี่พันกี่หมื่น กลายเป็นเกาะที่คนนับล้านทั่วโลกอยากมาสัมผัสสักครั้ง ขอบคุณจังหวัดคางาวะสำหรับแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ ที่ทำให้ผมเกิดกำลังใจอย่างท่วมท้นที่จะผลักดันศิลปะให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตให้ได้สักวัน