ประเทศ อียิปต์ เป็นหนึ่งลิสต์ในใจที่ ทิพย์สุดา ศิริกุล หมายมั่นมาตลอดว่าถ้ามีโอกาสจะต้องไปให้ได้ กระทั่งปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พี่ชายที่เป็นสถาปนิกมีทริปไปอียิปต์กับสมาคมสถาปนิกสยามออกปากชวน คุณนิดจึงรับคำทันทีอย่างไม่ลังเล ซึ่งนับเป็นโชคดีที่แพลนเดินทางที่ทางสมาคมฯ จัด ล้วนเป็นสถานที่ที่คุณทิพย์สุดาอยากไป ดังนั้นแม้ต้องใช้เวลาเดินทางนานเพราะไปตั้งแต่เหนือจรดใต้ แต่ถือว่าคุ้มค่าสุด ๆ โดยคุณทิพย์สุดาได้แบ่งปันประสบการณ์และภาพสวย ๆ ในนิตยสาร HELLO! VOL. 18 NO.4 (ฉบับเดือนเมษายน) และเราได้หยิบ 12 ที่เที่ยวอียิปต์ ที่คุณทิพย์สุดาไปเยือน ให้เก็บไว้เป็นคัมภีร์ตามรอยกัน

1 มหาพีระมิดแห่งกีซา
กลุ่มพีระมิดที่ประกอบด้วยพีระมิดสำคัญ ๆ อยู่มากในบริเวณที่ราบสูงกีซา คุณทิพย์สุดาให้ข้อมูลว่าด้วยความที่เป็นอาณาจักรกว้างใหญ่ การจะชมพีระมิดภายนอกให้รอบจะต้องนั่งรถม้า ขี่อูฐ หรือนั่งเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งคณะเลือกอูฐเป็นพาหนะ ส่วนภายในพีระมิด เป็นเส้นทางเดินเล็ก ๆ ที่ทั้งแคบและชัน ต้องทั้งปีนทั้งมุดเพื่อไต่ขึ้นไปยังยอดใจกลางของห้องลับในพีระมิด สถานที่เก็บพระศพของฟาโรห์ที่ชาวอียิปต์เชื่อว่าจะกลับมาเกิดใหม่
ร่างกายของฟาโรห์จะต้องเก็บรักษาไว้ให้มีสภาพสมบูรณ์ เพื่อรอให้วิญญาณกลับมาเข้าร่างเดิม พีระมิดเหล่านี้จึงเก็บพระศพฟาโรห์เอาไว้นับร้อยพระองค์ และเมื่อนักโบราณคดีมาขุดพบ ก็พบว่าฟาโรห์ที่สมบูรณ์ที่สุด คือตุตันคามุน หรือตุตันคาเมน ตามที่คนนิยมเรียกกัน ที่นอกจากพระศพแล้วยังมีทรัพย์สมบัติอีกมากมายที่เก็บรักษาเอาไว้ในสุสาน
พีระมิดที่มีความสูงที่สุด คือมหาพีระมิดคูฟู ซึ่งความสูง 147 เมตรในอดีตเมื่อ 5,000 – 6,000 ปีมาแล้วนั้นคือความอัศจรรย์ของการก่อสร้างที่มาจากแรงคน และเป็นสถาปัตยกรรมที่ครองอันดับความสูงที่สุดในโลกอยู่นาน จนมีตึกที่สูงชนะพีระมิดนี้ได้คือเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในอเมริกา ที่ถูกวินาศกรรมด้วยเครื่องบินไปเมื่อ 20 ปีก่อน ความยิ่งใหญ่เหล่านี้คืออารยธรรมอันน่าทึ่งของคนอียิปต์ในยุคโบราณ

2 สฟิงซ์
สิงโตหมอบเพศผู้ที่ทำหน้าที่เฝ้าวิหารและสุสานของกษัตริย์ ทั้งยังเป็นเครื่องแสดงอำนาจด้วย โดยสฟิงซ์ที่คุณทิพย์สุดาเก็บภาพมาฝาก แกะสลักจากหินปูนเพียงก้อนเดียว โดยใช้พระพักตร์ของฟาโรห์เคฟเฟรเป็นต้นแบบในการแกะ และเป็นสฟิงซ์ที่มีความยาวที่สุดในโลก คือยาว 73 เมตร และสูง 20 เมตร ซึ่งในบริเวณที่ราบสูงกีซานี้มีอยู่เพียงแค่ตัวเดียวเท่านั้น
3 ข่าน เอล คาลิลี่
ตลาดพื้นเมืองที่มีร้านกาแฟ ร้านน้ำชาให้นั่งจิบ และมีของที่ถูกใจสายช็อป อย่างโคมไฟสไตล์อียิปต์ และงานคราฟต์ต่าง ๆ โดยคุณทิพย์สุดา เล่าว่า “ตั้งใจไปดูผ้าคอตตอนอียิปต์ ซึ่งเขาว่ากันว่าเป็นคอตตอนที่ดีที่สุดในโลก ในอดีตเขาใช้ผ้านี้มาทำมัมมี่ แต่ปัจจุบันเอามาทอเป็นผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนที่นุ่มลื่นที่สุด ลวดลายก็แตกต่างกันไปขึ้นกับฝีมือของช่างทอ แต่จับเนื้อผ้าดูแล้วดูหนาไปสำหรับเราเลยไม่ได้ซื้อกลับมา ส่วนงานคราฟต์อื่นๆ ก็จะเป็นพวกสายสร้อย ลูกปัด แมลงสการับ แมลงที่เป็นสัญลักษณ์นำโชค หรือสัญลักษณ์ไม้กางเขนที่เรารู้จักกันก็เป็น Key of Life ของอียิปต์โบราณเหมือนกัน หินเทอร์ควอยส์ก็เป็นหินนำโชคที่สวยถูกใจ วันนั้นดิฉันเลือกสร้อยคอเส้นเล็ก ๆ และผ้าพันคอ ติดมือกลับมาด้วย”
4 The Grand Egyptian Museum
พิพิธภัณฑ์แห่งชาติแห่งใหม่ของอียิปต์ที่เพิ่งสร้างเสร็จ และจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่อียิปต์เคยมีมา คณะของคุณทิพย์สุดาคือคนไทยคณะแรกที่ได้ไป และเป็นคณะเดียวของวันนั้น “แม้จะยังไม่เปิดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การได้เข้าชมที่นี่ก็มีความสุขมาก สถาปัตยกรรมสวยงามและล้ำสมัยไปไกล แต่ภายในเป็นของสะสมเก่าแก่โบราณของฟาโรห์ตุตันคามุนที่ไม่เคยจัดแสดงที่ไหนกว่า 5,400 ชิ้น ซึ่งขุดค้นพบเมื่อปี 1992 โดยฮาร์เวิร์ด คาร์เตอร์นักโบราณคดี ซึ่งมีอยู่มากมายกระทั่งเสื้อผ้า รองเท้า ไปจนถึงกางเกงชั้นใน” คุณทิพย์สุดาอธิบาย

5 National Museum of Egyptian Civilization
เป็นพิพิธภัณฑ์อารยธรรมอียิปต์แห่งชาติ ที่จัดแสดงวัตถุโบราณตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนมาสูยุ่คฟาโรห ์ ยุคเกรโก-โรมัน ยุคคอปติกและอิสลามิกมาจนถึงยุคโมเดิร์นหรือสมัยปัจจุบัน จุดที่คุณทิพย์สุดาประทับใจคือส่วนที่จัดแสดงมัมมี่ของกษัตริย์และราชินีอียิปต์โบราณ ร่างของมัมมี่ในตู้กระจกที่มองเห็นได้ทั้งหมด ภายในติดแอร์เย็นเฉียบ ทำให้ได้เห็นวิวัฒนาการในการรักษาสภาพร่างกายของผู้เสียชีวิต โดยเห็นมือเห็นเท้าเป็นรูปร่างชัดเจน และยังมีมัมมี่สัตว์ที่ชาวอียิปต์นับถือเป็นเทพเจ้าอยู่ด้วย
การได้ชมพิพิธภัณฑ์ของอียิปต์ ซึ่งทำให้ได้เห็นวิถีแห่งอารยะผ่านข้าวของเครื่องใช้ เครื่องประดับ ล้วนเป็นสมบัติที่มีคุณค่า โดยเฉพาะหน้ากากทองคำสำหรับฟาโรห์ตุตันคามุนที่ดูคล้ายกับองค์เทพงดงามที่จัดแสดงอยู่ใน The Egyptian Museum คุณทิพย์สุดาบอกว่า “สะท้อนความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมไอยคุปต์หรืออียิปต์โบราณ ได้อย่างไม่ต้องมีคำบรรยาย”
6 วิหารฟิเล
จากไคโร คณะเดินทางสู่ตอนใต้ของอียิปต์ด้วยสายการบินในประเทศ โดยมีเมืองอัสวานเป็นจุดหมาย ‘วิหารฟิเล’ เคยสร้างขึ้นบนเกาะฟิเลกลางแม่น้ำไนล์ แต่เมื่อมีการสร้างเขื่อนอัสวานเพื่อการชลประทาน วิหารนี้ก็จมอยู่ใต้น้ำ ยูเนสโกและรัฐบาลอียิปต์จึงสร้างทำนบกั้นน้ำแล้วย้ายหินทีละก้อนจากวิหาร ไปสร้างเป็นวิหารแห่งใหม่ที่เกาะกิลเกียแทน
7 หมู่บ้านนูเบียน ที่อัสวาน
คณะของคุณทิพย์สุดาพักเรือสำราญซึ่งล่องตามแม่น้ำไนล์ จากกลางแม่น้ำ มองเห็นทิวทัศน์สองฝั่งที่แตกต่างไปจากไคโร รอบข้างเป็นธรรมชาติและบ้านเรือนและพากันลงเรือเล็กเพื่อล่องเข้าไปใน ‘หมู่บ้านนูเบียน’ ซึ่งเป็นหมู่บ้านพื้นเมือง สีสันน่ารักคล้ายหมู่บ้านที่กรีซชาวนูเบียนเป็นชนผิวดำที่ทำเครื่องเทศเป็นอาชีพ ในตลาดพื้นเมืองจึงเต็มไปด้วยเครื่องเทศและงานจักสานต่าง ๆ หัวหน้าหมู่บ้านต้อนรับเราด้วยชาและยาสูบพื้นเมืองอย่างมอระกู่

8 มหาวิหารรามเสสที่ 2
วิหารใกล้เคียงที่สร้างเป็นเกียรติแก่ราชินีเนเฟอร์ตารี วิหารนี้เป็นอีกแห่งที่จมอยู่ใต้น้ำหลังจากสร้างเขื่อน ยูเนสโกได้ช่วยกู้เอาไว้ตามแบบเดิมทุกตารางนิ้ว ก่อนจะไปชมเขื่อนอัสวานที่สร้างขึ้นเมื่อปี 1960 เพื่อให้มีน้ำหล่อเลี้ยงไร่นาตลอดปี มีการใช้พลังน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และป้องกันน้ำจากแม่น้ำไนล์ไหลท่วมเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก
9 วิหารคอมออโบ
วิหารที่ชาวบ้านสร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพโซเบค เทพแห่งจระเข้ เพื่อปกป้องคุ้มภัยไม่ให้ถูกจระเข้ทำร้าย และมีวิหารบูชาเทพฮอรัสซึ่งอยู่ใกล้กันมีบ่อน้ำที่ปากบ่อมีรูปกุญแจโบราณ Key of Life ที่คนโบราณสร้างขึ้นไว้ใช้วัดความสูงของแม่น้ำไนล์เพื่อเก็บภาษีประจำปี
10 วิหารเอ็ดฟู
วิหารสำคัญ สร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าฮอรัสสมัยพระนางคลีโอพัตรา

11 วิหารลุคซอร์
เป็นวิหารที่มีซุ้มประตูขนาดใหญ่ สลักเป็นรูปฟาโรห์รามเสสที่ 2 และราชินี คุณทิพย์สุดาบรรยายความรู้สึกว่า “ประทับใจในเสาหินโอเบลิสก์ ที่เป็นเสาหินแกรนิตขนาดใหญ่ ปัจจุบันเสาหินหลายต้นถูกย้ายไปอยู่ในประเทศต่าง ๆ และเป็นแลนด์มาร์คสำคัญอย่างในปารีสและโรมซึ่งน่าทึ่งว่าเขาใช้วิธีไหนในการโยกย้ายเสาหินโบราณใหญ่ยักษ์ข้ามทวีปไปแบบนี้”
12 หุบผากษัตริย์
วันสุดท้ายของทริปคุณทิพย์สุดาตื่นตั้งแต่ตีสามตีสี่เพื่อไปขึ้นบอลลูนชมหุบผากษัตริย์บอลลูนขนาดใหญ่บรรทุกคนได้สามสิบคน ในตะกร้าบอลลูนจะแบ่งออกเป็นช่องๆ ช่องหนึ่งอยู่ได้ 3 – 4 คน “ใช้เวลาอยู่บนนั้นประมาณหนึ่งชั่วโมง เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นก็มองเห็นหุบผากษัตริย์ซึ่งอยู่เบื้องล่างได้อย่างเต็มสายตา และเมื่อมองระดับสายตาก็เห็นสีสันของบอลลูนลูกอื่นลอยอยู่รอบ ๆ” คุณทิพย์สุดาเล่า
นอกจากมุมสูง ยังสามารถนั่งรถไปชมหุบผากษัตริย์อย่างใกล้ชิดในตอนกลางวัน หุบผากษัตริย์เป็นสถานที่ฝังพระศพของฟาโรห์ 62 พระองค์ แยกตามสุสานต่าง ๆ ทั่วหุบผา ตั้งอยู่บริเวณหน้าผาธีบัน ซึ่งต้องเจาะภูเขาทำเป็นช่องลับภายใน ทำทางเดินเป็นช่วง ๆ และทำห้องสำหรับเก็บโลงศพและสมบัติข้าวของเครื่องใช้ของฟาโรห์

นอกจาก ที่เที่ยวอียิปต์ คุณทิพย์สุดายังแนะนำ ที่พัก และ ร้านอาหาร ที่ประทับใจ ซึ่งสามารถติดตามทั้งหมดได้ในนิตยสาร HELLO! VOL. 18 NO.4 (ฉบับเดือนเมษายน)