Home > Events > 12 สุดยอดสถาปัตยกรรม – จิตรกรรม-ประติมากรรม พระเมรุมาศในหลวงรัชกาลที่ 9
Untitled-1
Events

12 สุดยอดสถาปัตยกรรม – จิตรกรรม-ประติมากรรม พระเมรุมาศในหลวงรัชกาลที่ 9

Jan 01, 2013

ดั่งหยิบกล่องสมบัติล้ำค่าเปิดออกมาให้คนรุ่นหลังได้ยลความงดงามทางประเพณี ศิลปกรรม สถาปัตยกรรมไทยโบราณอันน่าทึ่ง แม้ว่าจุดเริ่มต้นของพระเมรุมาศจะมาจากความโศกเศร้า แต่สถาปัตยกรรมชั่วคราวแห่งนี้ก็เป็นดั่งขุมทรัพย์ทางวัฒนธรรมของคนไทยที่ทุกคนควรได้รับชม และร่วมสืบสาน ตามที่จะมีการเปิด พระเมรุมาศในหลวง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยได้เข้าชม ตั้งแต่วันนี้-30 พ.ย.นี้ ตั้งแต่เวลา 07.00-22.00 น. ซึ่งมีหลายองค์ประกอบที่งดงาม และมีผลงานทรงคุณค่าจากช่างฝีมือไทยมาให้ชื่นชมความปราณีต พระเมรุมาศในหลวง แบ่งเป็นส่่วนสำคัญต่างๆ ดังนี้

1. แปลงนาเลขเก้ามหามงคล

พระเมรุมาศในหลวง

เพราะภูมิสถาปัตยกรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ไม่ใช่ความงามอย่างเดียวทุกสิ่งต้องเกิดประโยชน์ต่อประชาชน เมื่อเดินเข้ามาในพระเมรุมาศ สิ่งแรกที่เห็นคือ แปลงนา ตามโครงการพระราชดำริ อันเป็นบ่อเกิดแห่งความสมบูรณ์ พอเพียง ตัวอย่างจากวังสวนจิตรลดา โดยปลูกข้าว 3 สายพันธุ์ ได้แก่ แปลงนาข้าวระดับแรกในระยะต้นกล้า ใช้ข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ความสูง 15 เซนติเมตร อยู่ด้านหน้า ถัดมาเป็นข้าวหอมมะลิ 105 ในระยะแตกกอสูง 40 เซนติเมตร และแปลงบนเป็นข้าวพันธุ์ปทุมธานี 80 ข้าวสายพันธุ์ที่ตั้งชื่อเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เมื่อครั้งพระองค์เจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา สูง 1 เมตร หรือ 1.20 เมตร ซึ่งเป็นข้าวในระยะออกรวง โดยเราจะได้เห็นในวันงานพระราชพิธีเป็นข้าวที่ออกรวงสีเหลืองทอง และสิ่งที่พิเศษสำหรับแปลงนาแห่งนี้ คือการสร้างคันนาขนาดใหญ่โดดเด่น เป็นเลขเก้าไทย (๙) โดยได้นำดินจากโครงการช่างหัวมันและศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ จังหวัดเพชรบุรี ในพื้นที่ที่พระองค์เคยทรงพระดำเนินผ่าน นำมาปั้นคันนา เพื่อความเป็นสิริมงคล ภูมิสถาปัตยกรรมแห่งนี้ยังนำเสนอบ่อน้ำลึกสำหรับกักเก็บน้ำเหมือนโครงการแก้มลิงและฝายน้ำล้น ติดตั้งกังหันน้ำชัยพัฒนา อีกด้วย

2. พระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พระเมรุมาศในหลวง

“จะให้ดีใจได้อย่างไร เพราะนั่นหมายถึงการสูญเสียพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่ง แต่ในฐานะคนทำงานจะทำให้เต็มที่และสุดความสามารถ” ประโยคสั้นๆ ที่คุณก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรม กรมศิลปากร ผู้สร้างสรรค์รูปแบบพระเมรุมาศ กล่าวถึงความรู้สึก กับหน้าที่อันทรงเกียรติระคนความโศกเศร้า

ในการออกแบบพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดชครั้งนี้ คุณก่อเกียรติได้ใช้พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระ มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระ ปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาล 8 มาเป็น ต้นแบบ เพราะมีลักษณะทรงบุษบกเหมือนกัน บนความเสียใจเขาตั้งสติและใช้เวลาร่างแบบจนเวลาล่วงเลยจวบจะรุ่งสาง ความเหนื่อยล้าเข้ามาประชิดตัว “ตี 4 ครึ่ง ร่างกายผมเริ่มไม่ไหว ขอตัวไปนอนก่อน เพื่อให้เทวดา พระพรหม พระอินทร์ต่างๆ เข้าฝันในจิตใจ เทคนิคนี้ท่านอาจารย์อาวุธ เงินชูกลิ่น เคยกล่าวไว้ตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ว่า ‘ทิ้งไว้ให้เทวดาท่านเขียนบ้าง’” จนในที่สุดก็ได้แบบร่างพระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด สูง 55.18 เมตร ตั้งอยู่บนฐานชาลารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 4 ชั้น กว้างด้านละ 60 x 60 เมตร ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีมีพระราชวินิจฉัยเลือก และทรงรับสั่งแนะนำว่า “น่าจะมีเรื่องราวของโครงการพระราชดำริเข้ามาเป็นส่วนประกอบ ของการออกแบบพระเมรุมาศ รวมถึงคุณทองแดงและคุณโจโฉ สุนัขทรงเลี้ยงด้วย ขณะที่ลวดลายทางศิลปกรรมให้เป็นจินตนาการของศิลปิน’ “

โดยพระเมรุมาศ มีบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ทิศ มีบุษบกองค์ประธานตั้งอยู่ที่จุดกึ่งกลางฐานชั้นบนสุด ส่วนภายในโถงพระเมรุมาศเป็นที่ตั้งของพระจิตกาธานสำหรับประดิษฐานพระบรมโกศ ผนังโดยรอบเปิดโล่ง ติดตั้งพระวิสูตร และฉากบังเพลิง

3.จิตรกรรมฉากบังเพลิง

พระเมรุมาศในหลวง

ความวิจิตรบรรจงของงานจิตรกรรมฉากบังเพลิงไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นถึงความประณีตงดงามและความล้ำค่าของงานศิลปะไทยชั้นสูง แต่ละเส้นสายและรายละเอียดยังรวมไว้ซึ่งหัวใจอันเปี่ยมล้นด้วยความจงรักภักดีของเหล่าจิตรกรและจิตอาสา ที่มาร่วมกันจรดพู่กันเพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

พระเมรุมาศในหลวง

ฉากบังเพลิงมีขนาดความสูง 4.4 เมตร กว้าง 5.35 เมตร ทั้งด้านนอกและด้านในของฉากประกอบด้วยภาพจิตรกรรมอันงดงามที่แบ่งออกเป็นด้านละ 8 ช่องให้รับกับกรอบฉากไม้แกะสลัก นอกจากนี้ยังมีภาพประกอบอีก 2 ช่อง ประกบซ้าย – ขวาในแต่ละทิศ บริเวณส่วนที่ติดกับบันไดทางขึ้น รวมภาพจิตรกรรมที่ใช้ประกอบฉากบังเพลิงทั้งสิ้น 40 ภาพ “ในฉากแต่ละด้านจะมีภาพคู่กลางซึ่งเป็นภาพนารายณ์อวตารเป็นภาพหลัก ประกบซ้าย – ขวาด้วยภาพเทวดานางฟ้า ที่สื่อให้เห็นถึงสรวงสวรรค์ ส่วนภาพด้านล่างที่เรียงต่อกัน 4 ภาพ เป็นโครงการในพระราชดำริ เช่นเดียวกับภาพในกรอบอีกสองภาพที่ติดกับบันไดทางขึ้น รวมภาพพระราชกรณียกิจทั้งหมด 24 ภาพ

4.ผ้าสำหรับพระวิสูตรประดับพระเมรุมาศ

พระเมรุมาศในหลวง

พระวิสูตรออกแบบเป็นลวดลายไทยพุ่มข้าวบิณฑ์ อินทร์-พรหม โคมลายกนก นกคาบออกรูปทวยเทพถวายกรซึ่งใจกลางพุ่ม ข้าวบิณฑ์เป็นเทพยดาทรงช้างไอยราพต ส่วนลายโคมมีพระพรหมอยู่ในช่องตัวห้ามลายของขาโคม ตัวโคมเป็นเทพยดาพนมกร เรียกโดยรวมเป็นลาย อินทร์-พรหม สอดคล้องตามความเชื่อแต่โบราณราชประเพณีที่ว่า พระอินทร์และพระพรหมอยู่ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์ ลวดลายที่ละเอียดอ่อนสวยงามมากนี้ออกแบบโดยคุณสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นับเป็นผ้าชิ้นเดียวในโลก ที่คุณนิดา ปิณฑานนท์ ตั้งใจถักทอออกมาสมพระเกียรติที่สุด โดยพระวิสูตรครั้งนี้ ต้องทอทั้งหมดจำนวนหนึ่งพันหลา โดยทอได้ชั่วโมงละหนึ่งหลา ซึ่งจะต้องมีเจ้าหน้าที่ยืนคุมอยู่หน้าเครื่องทอตลอดเวลา เพื่อเฝ้าดูเส้นไหม หากเส้นไหมขาด เครื่องจะหยุดทำงาน จึงต้องมีการต่อเส้นไหม วันหนึ่งทอได้เพียง 10 หลาเท่านั้น และต้องใช้เวลาทอทั้งสิ้นถึง 4 เดือนเต็ม

5.เทพ ครุฑ นาค สิงห์ และสัตว์มงคลประกอบพระเมรุมาศ

พระเมรุมาศในหลวง

ส่วนยอดของพระเมรุมาศ มีประติมากรรมนูนต่ำที่บรรณแถลงใหญ่ตรงกลางประดับชั้นเชิงกลอนที่ 7 ใต้องค์ระฆัง เป็นรูปพระโพธิสัตว์ตามคติความเชื่อที่ว่า พระมหากษัตริย์เมื่อเสด็จสวรรคตจะใช้เพลิงเผาพระองค์ เพื่อชำระร่างให้สะอาด ก่อนเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ต่อไปสู่สวรรค์ชั้นดุสิต เป็นพระพุทธเจ้า หรือพระโพธิสัตว์นั้นเอง

พระเมรุมาศในหลวง

ครุฑยุดนาค ประดับยอดเสาไฟพระเมรุมาศ

ถัดลงมาเป็นชั้นชาลาที่ 3 มีราวบันไดพญานาค 7 เศียร เป็นนาคจำแลงเศียรคล้ายมนุษย์ มุมทั้งสี่ของฐานชาลาชั้นที่ 3 นี้ เป็นที่ตั้งของซ่างทรงบุษบกเชิงกลอน 5 ชั้น ใช้เป็นที่สำหรับพระพิธีธรรม 4 สำรับ นั่งสวดอภิธรรมสลับกันไปตลอด นับตั้งแต่พระบรมศพประดิษฐานบนพระจิตกาธานจนกระทั่งถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จ มีเสาไฟรูปครุฑหันหน้าเข้าบุษบกองค์ประธาน ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากการก่อสร้างพระเมรุมาศครั้งที่ผ่านมาที่ใช้เป็นเสาหงส์ ชั้นชาลาที่ 2 มีลักษณะเป็นฐานปัทม์ เป็นที่ตั้งของหอเปลื้องทรงบุษบกเชิงกลอน 5 ชั้น เช่นเดียวกับซ่าง แต่มีขนาดเล็กกว่าลดลั่นลงมา อยู่บริเวณมุมทั้งสี่ของฐานชาลา ใช้สำหรับจัดเก็บพระโกศทองใหญ่และพระโกศไม้จันทน์ รวมถึงอุปกรณ์สำหรับพระราชพิธี บริเวณทางขึ้นทั้ง 4 ด้านจะมีครุฑยุดนาคประจำอยู่ มีเทพชุมนุมรายล้อมอยู่ที่ฐานรับชาลาชั้นที่ 3 จำนวน 132 องค์ และพญานาคทรงเครื่อง 5 เศียร เหมือนกับทางขึ้นรอยพระพุทธบาท

พระเมรุมาศในหลวง

ท้าววิรูปักษ์ -ท้าววิรุฬหก -ท้าวธตรฐราช

ส่วนฐานชาลาชั้นที่ 1 ซึ่งเป็นชั้นล่างสุด มีลักษณะเป็นฐานสิงห์ เป็นรั้วราชวัติ มีฉัตร แสดงอาณาเขตพระเมรุมาศ มีคชสีห์ ราชสีห์นั่งเฝ้าทั้งสี่ทิศ และโดยรอบยังมีประติมากรรมท้าวจตุโลกบาลทรงยืนหันหน้าเข้าสู่บุษบกองค์ประธาน ประกอบด้วย ท้าวเวสสุวรรณ (กุเวร) ประจำทิศเหนือ ท้าวธตรฐราชประจำทิศตะวันออก ท้าววิรุฬหกประจำทิศใต้ และท้าววิรูปักษ์ประจำทิศตะวันตก อีกทั้งยังมีเทวดานั่งถือบังแทรกรายล้อม ขณะที่ชั้นลานอุตราวรรต (ระดับพื้นทางเดินรอบพระเมรุมาศ) มีสัตว์มงคล 4 ชนิด คือ ช้างประจำอยู่ทิศเหนือ ม้าประจำอยู่ทิศตะวันตก วัวประจำอยู่ทิศใต้ และสิงห์ประจำอยู่ทิศตะวันออก

6. สระอโนดาต

พระเมรุมาศในหลวง

ที่ส่วนฐานพระเมรุมาศในรูปแบบ ของ ‘สระอโนดาต’ ภูมิสถาปนิกได้ แรงบันดาลใจจากจิตรกรรมฝาผนัง วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ในฉากที่เขียนถึงป่าหิมพานต์ที่มีสระอโนดาต นำมาตีความในการออกแบบเป็นประติมากรรม 3 มิติ ในลักษณะบ่อน้ำนิ่ง มีสัตว์หิมพานต์เล่นน้ำ มีพืชพรรณและไม้ดัดตามรูปแบบไทยแท้ๆ อยู่บนโขดหิน ภายในสระอโนดาต ประกอบด้วย เขามอจำลอง ราวพญานาค จากคติความเชื่อว่า ‘นาค’ จะทำหน้าที่เป็นด่านแรกในการเฝ้ารักษาก่อนถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นสวรรค์ที่ตั้งอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ

พระเมรุมาศในหลวง

ประติมากรรมรูปสัตว์มงคลประจำทิศอันประกอบไปด้วยช้างม้าวัวสิงห์ซึ่งอยู่ทางขึ้นฐานพระเมรุมาศทั้ง4ทิศ ทิศเหนือรูปช้างสื่อความหมายถึงพระมารดาของพระพุทธเจ้า มีพระสุบินถึงช้างทิศตะวันตกรูปม้าม้ากัณฑะกะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงม้าก่อนออกผนวช ทิศใต้รูปวัว(โค )สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์และทิศตะวันออกรูปสิงห์ที่หมายถึงการแสดงธรรมเทศนาและสัตว์หิมพานต์ ช้างมงคลปั้นตามตำราคชลักษณ์ประกอบด้วย 4 ตระกูลไตรภูมิ สร้างโดยเทพ ได้แก่ พรหมพงศ์ อิศวรพงศ์ วิษณุพงศ์ และอัคนีพงศ์ ยังแฝงไปด้วยความสนุกที่เหล่าช่าง ศิลป์ได้หยอดความคิดสร้างสรรค์และ ลายเซ็นลงไปในผลงาน โดยเฉพาะสัตว์ผสม โดยมีช้างเป็นคาแร็กเตอร์หลัก เช่น พระยาฉัททันต์เป็นช้างโพธิสัตว์และจ่าโขลงของช้างทั้ง 10 ตระกูล จากตำรากล่าวว่า เป็นช้าง ที่มีฉัททันต์พลังสีหรือแสง 6 ประการ ,กุญชรวารี ซึ่งเป็นช้างผสมปลา โดยเลือกเอากายภาพของปลาทองเข้า มาผสมในงาน สิงหกุญชร หรือช้าง ผสมสิงห์ , กรินทร์ปักษา มีลักษณะครึ่งช้างครึ่ง นก ซึ่งได้รับคำชมจากสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จฯ มาทอดพระเนตรต้นแบบ ช้างหิมพานต์ประดับสระอโนดาตและมีว่า “ปั้นช้างได้น่ารัก”

7.จิตรกรรมบนพระที่นั่งทรงธรรม

พระเมรุมาศในหลวง

พระที่นั่งทรงธรรมอยู่กึ่งกลางด้านทิศตะวันตกของพระเมรุมาศ เป็นอาคารชั้นเดียวยกฐานสูงขนาด 44.50 เมตร มีความยาว 155 เมตร และจะสามารถรองรับผู้เข้าร่วมพระราชพิธี ประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ , พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี คณะทูตานุทูต และผู้แทนจากต่างประเทศ ประมาณ 3,500 ที่นั่ง ผนังด้านในของพระที่นั่งทรงธรรมทั้งทางทิศเหนือและใต้ รวมถึงผนังบริเวณหน้าห้องประทับ จะมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องราวพระราชกรณียกิจ 46 โครงการ จากกว่า 4,000 โครงการ อันถือเป็นศาสตร์แห่งพระราชาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้น ได้ถูกนำมาจารึกเขียนเป็นภาพจิตรกรรมเรียงร้อยเป็นเรื่องราวบนผนัง 3 ด้าน ภายในพระที่นั่งทรงธรรมอันเป็นสิ่งปลูกสร้างอาคารประกอบพระเมรุมาศ ซึ่งแต่ละด้านบอกเล่าโครงการในภูมิภาคต่างๆ บริเวณจุดกึ่งกลางของพระที่นั่งทรงธรรม บอกเล่าโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา โครงการในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล บริเวณด้านซ้ายของพระที่นั่งทรงธรรม (ทิศเหนือ) บอกเล่าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือและพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แผงผนังประดับจิตรกรรม 3 บริเวณด้านขวาของพระที่นั่งทรงธรรม (ทิศใต้) บอกเล่าโครงการในพื้นที่ภาคใต้และพื้นที่ภาคกลาง

8.เครื่องสังเค็ด

พระเมรุมาศในหลวง

เครื่องสังเค็ดเป็นคำนามหมายถึง ทานวัตถุมีตู้พระธรรม โต๊ะหมู่บูชา เป็นต้น ที่ เจ้าภาพจัดถวายพระสงฆ์ ภิกษุผู้เทศน์ หรือ ชักบังสุกุลในเวลาปลงศพ ซึ่งพระราชพิธีครั้งนี้ ทางสำนักพระราชวังได้มอบหมายให้กรมศิลปากร ช่างกลุ่มประณีตศิลป์ ช่างกลุ่มจิตรกรรม และ ช่างกลุ่มศิลปะประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา สำนักช่างสิบหมู่ ดำเนินการออกแบบของที่ระลึกและเครื่องสังเค็ด ประกอบด้วย พัดรองสำหรับพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุ – พัดรองสำหรับพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชพระบรมอัฐิ – พัดรองสำหรับถวายพระจีนนิกายและอนัมนิกาย – ตู้สังเค็ดหรือตู้ใส่หนังสือประดับด้วยภาพ พระราชนิพนธ์ พระมหาชนก – หีบพระปาฏิโมกข์พร้อมต่าง – ธรรมาสน์ปาฏิโมกข์ โดยอัญเชิญพระปรมาภิไธย ภปร ประดับไว้อย่างงดงาม เครื่องสังเค็ดถือขนบธรรมเนียมที่นับเป็นเอกลักษณ์เฉพาะชาติ คงสืบสานไว้อย่างพิถีพิถันเคียงคู่กับการเทิดทูนราชวงศ์ไทยไว้เหนือเกล้า

9.ราชรถ ราชยาน ในริ้วขบวน พระบรมราชอิสริยยศ

พระเมรุมาศในหลวง

ภายในนิทรรศการพระเมรุมาศมีการจัดแสดง เครื่องประกอบริ้วขบวนอัญเชิญพระบรมศพจากพระมหาปราสาทสู่พระเมรุมาศ และอัญเชิญพระบรมอัฐิจากพระเมรุมาศสู่พระบรมมหาราชวัง และการอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารไปบรรจุหรือลอยพระอังคาร ทั้งเครื่องสูง พระกลด บังสูรย์พัดโบก บังแทรก พุ่มเงิน พุ่มทอง จามร พระอภิรุมชุมสาย เครื่องประโคม เช่น สังข์แตร ปี่ กลองชนะ อีกทั้งแบบจำลอง และชิ้นส่วนสำคัญของ พระมหาพิชัยราชรถ ราชรถน้อยหมายเลข 9784 พระที่นั่งราเชนทรยาน พระยานมาศสามลำคาน ราชรถปืนใหญ พระราเชนทรยานน้อย พระมหาพิชัยราชรถ เสลี่ยงกลีบบัว รวมถึงเชือกป่านมะนิลาที่ใช้ฉุดชักราชรถ ประกอบเป็นเรื่องราวการเนรมิตริ้วขบวนที่ผสานกำลังคน ศาสตร์ศิลป์ เข้าไว้ด้วยกันอย่างสมบูรณ์แบบ

10. พญาครุฑ

พระเมรุมาศในหลวง

แนวคิดในการปั้นที่สอดแทรกงานปั้นต้นแบบดินเหนียวพญาครุฑองค์แรกสื่อถึงสิ่งที่ชาวโลกมองต่อในหลวงรัชกาลที่9 ซึ่งคนทั่วโลกมองว่าพระองค์ทรงพระปรีชาสามารถมากมายหลายด้านเราก็จะสอดแทรกสิ่งเหล่านั้นอยู่ในงานปั้นพญาครุฑ คือตราแผ่นดินและเป็นพาหนะของพระวิษณุฉะนั้นลักษณะโดดเด่นของต้นแบบพญาครุฑองค์แรกจึงอยู่ที่รูปพระโพธิสัตว์บริเวณยอดมงกุฎของพญาครุฑสื่อว่าพระโพธิสัตว์คือในหลวงรัชกาลที่ 9และพญาครุฑคือพาหนะที่พาพระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัย พญาครุฑองค์ที่2จะมีลักษณะออกไปทางไทยๆ โดยจะมีลายกนกเข้ามาเกี่ยวข้องท่าทางของขานกจะแตกต่างจากองค์แรกและจะมีปีกอยู่ที่บั้นเอว

11.คุณทองแดง คุณโจโฉ

พระเมรุมาศในหลวง

อีกหนึ่งความงดงาม และพาให้คลายเศร้าไปได้บ้างคือส่วนงานประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ คุณทองแดงและคุณโจโฉ ซึ่งเป็นสุนัขทรงเลี้ยงที่คอยติดตามและถวายงานอย่างใกล้ชิดมีความผูกพันกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชซึ่งความจงรักภักดีของคุณทองแดงปรากฏชัดจาก พระราชปรารภในหนังสือทองแดงตอนหนึ่งว่า “ทองแดงเป็นสุนัขที่ไม่ธรรมดามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะเรื่องความกตัญญูรู้คุณทรงยกย่องคุณทองแดงอยู่เสมอว่ามีสัมมาคารวะเรียบร้อยเจียมเนื้อเจียมตัวและนบน้อม” ส่วนคุณโจโฉ เป็นสุนัขทรงเลี้ยงพันธุ์ตะวันตก เพศผู้ สง่างาม กล้าแสดงออก ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดหยอกเย้าคุณโจโฉ ด้วยการฉายพระรูปคุณโจโฉในท่าทางและองค์ประกอบอันขบขัน เช่น ใส่แว่นดำ นั่งคาบไปป์ อ่านหนังสือ และเล่นเปียโน

12. งานประดับพรรณไม้ งดงามสมพระเกียรติ

คุณโต้ง-กัมพล ตันสัจจา ผู้อำนวยการสวนนงนุชพัทยา ได้รับเกียรติสูงสุดในชีวิต ให้เป็นผู้รับผิดชอบการนำไม้ดอกไม้ประดับเข้าตกแต่งพระเมรุมาศและบริเวณโดยรอบสถานที่จัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีแนวคิดใช้ 3 โทนสีในการประดับตกแต่งภูมิทัศน์พระเมรุมาศ ได้แก่ สีเหลือง สีขาว และสีเขียว โดยอาศัยฟอร์มของต้นไม้ใบไม้ที่แตกต่างกันมาเสริมเติมองค์ประกอบต่างๆ ให้โดดเด่นและลงตัว รวมทั้งแบ่งระดับความสูงของต้นไม้ไว้ 4 ระดับ

พระเมรุมาศในหลวง

กระถางเลข 9 ปลูกต้นตะโก

ระดับสูงสุดคือต้นตะโก ไม้ใหญ่ลำต้นสีดำอายุกว่า 100 ปี เพราะเป็นไม้ที่ทนต่อทุกสภาพอากาศ ที่สำคัญเป็นไม้ที่ปลูกอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อให้รู้สึกเหมือนพระองค์ยังประทับอยู่ ณ ที่แห่งนี้ โดยนำมาประดับบริเวณศาลาลูกขุนและพระที่นั่งทรงธรรม ระดับที่สองคือต้นข่อย เป็นไม้ที่ไม่สูงมากเพื่อไม่ให้บดบังทัศนียภาพโดยรวม ระดับที่สามคือไม้พุ่ม คุณโต้งเลือกต้นชะแนบทองที่นำเข้าจากประเทศออสเตรเลียเพื่อให้ได้ใบสีเหลืองทองทรงพุ่มสวยงาม ระดับที่สี่คือดอกดาวเรืองที่ถือเป็นไฮไลต์ในงานพระราชพิธีครั้งนี้เลยก็ว่าได้

พระเมรุมาศในหลวง

ส่วนการจัดทำกระถางเซรามิกประดับพระเมรุมาศ กระถางมีทั้งหมด 8 รูปแบบ ตั้งแต่กระถางเก้าเหลี่ยมขนาดเล็ก ,กระถางเก้าเหลี่ยมขนาดกลาง , กระถางเก้าเหลี่ยมขนาดกลางติดลายนูน ,กระถางเก้าเหลี่ยมขนาดใหญ่ ประดับเลข 9 ไทย และ กระถางเก้าเหลี่ยมลายคราม กระถางทรงกลม กระถางหูสิงห์ ประดับพระปรมาภิไธยย่อ ภปร -ตราจักรี ส่วนกระถางเขามอ มีการใช้รูปดาวเรืองมาเป็นส่วนหนึ่งของลวดลาย ในความหมายเดียวกับดอกเบญจมาศที่บ่งถึงความเป็น นิรันดร์ ความรักของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีต่อพสกนิกรเป็นแบบชั่วนิรันดร์ ความรักของพสกนิกรที่มีต่อพระองค์ท่านก็ชั่วนิรันดร์เหมือนกัน ดอกดาวเรืองแต่ละดอกมี 90 กลีบ หมายถึงความรักของในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ตรงกลางดอกมี 9 กลีบ ดอกใหญ่ 9 ดอก ดอกกลางและดอกเล็กอย่างละ 18 ดอก ในลวดลายมีเลข 9 ไทยซ่อนอยู่ นอกจากนี้ยังมีกระต่ายซ่อนอยู่ 5 ตัว แทนวันพระบรมราชสมภพ 5 ธันวา ส่วนลายที่ฐานเป็นดอกมะลิ ซึ่งเป็นตัวแทนของความรักบริสุทธิ์ พระเมรุมาศในหลวง

……………………..

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.