Home > Events > ฉลองความสัมพันธ์ 160 ปี อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ ร่วมกับสถานทูตเยอรมัน เปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ‘ผากล้วยไม้ – น้ำตกเหวสุวัต’

นับเป็นบริษัทสัญชาติเยอรมันที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองไทย ก่อตั้งและดำเนินธุรกิจบนผืนแผ่นดินสยามแห่งนี้มายาวนานกว่า 144 ปีเลย สำหรับ ‘บี.กริม กรุ๊ป’ ที่สานต่อและพัฒนาธุรกิจให้ก้าวไกลจากรุ่นสู่รุ่น ควบคู่กับความโอบอ้อมอารี ยึดหลักการเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ โดยมุ่งเน้นสร้างประโยชน์แก่ผู้คน สังคม พร้อมให้ความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่า รักษาระบบนิเวศให้สมบูรณ์ เพื่อทุกชีวิตบนโลกใบนี้

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม กรุ๊ป และกรรมการ บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด

และในโอกาสครบรอบ 160 ปี ความสัมพันธ์ไทย – เยอรมัน บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด ในเครือ บี.กริม กรุ๊ป จึงได้ร่วมกับ มูลนิธิอมตะ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พัฒนาและปรับปรุงเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยใช้ชื่อว่า ‘เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติความสัมพันธ์ไทย-เยอรมันครบรอบ 160 ปี (ผากล้วยไม้-น้ำตกเหวสุวัต)’ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวาระพิเศษดังกล่าวนี้

ภายในพิธีเปิด ‘เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติความสัมพันธ์ไทย-เยอรมันครบรอบ 160 ปี (ผากล้วยไม้-น้ำตกเหวสุวัต)’ อย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้รับเกียรติจาก พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานมูลนิธิรัฐบุรุษ เป็นประธาน พร้อมด้วย มร.เกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม กรุ๊ป และกรรมการ บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด คุณวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานมูลนิธิอมตะ และคุณรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกันตัดริบบิ้นต้อนรับนักท่องเที่ยวผู้หลงใหลในธรรมชาติให้มาเยือน

ดร.ฮาราลด์ กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสอันดีในการเปิดเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติความสัมพันธ์ไทย-เยอรมันครบรอบ 160 ปี (ผากล้วยไม้-น้ำตกเหวสุวัต) เพื่อเฉลิมฉลองของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและสาธารณะรัฐเยอรมนี ซึ่งเริ่มต้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ และได้มีการสานต่อความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ทางการค้า ด้านการเศรษฐกิจและวิชาการ ด้านเทคโนโลยี การส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ การแบ่งปันเทคโนโลยีการผลิตสาขาการเกษตรและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการจัดการทรัพยากรน้ำให้ยั่งยืน และความร่วมมือกันพัฒนาประเทศเพื่อนบ้านมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน 

ทั้งนี้ในด้านความสัมพันธ์ทางการค้า ภาคเอกชนในระยะแรกมีการค้าหลากหลาย โดย บี.กริม เป็นหนึ่งในบริษัทที่ยังคงดำเนินกิจการในไทยมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นระยะเวลายาวนานถึง 144 ปี เริ่มต้นจากการเข้ามาเปิดห้างขายยาตำหรับตะวันตก ปัจจุบันมีการดำเนินธุรกิจหลายหลายประเภท ทั้งด้านอุตสาหกรรม ด้านสุขภาพ ด้านไลฟ์สไตล์ ด้านคมนาคม โดยมีธุรกิจพลังงานเป็นธุรกิจหลัก โดยมุ่งสร้างประโยชน์ให้กับสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย 

“การพัฒนาเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติดังกล่าวนี้ ยังเป็นการตอกย้ำความสำคัญในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของทั้งสองประเทศผ่านความร่วมมือกัน เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ในการอนุรักษ์ให้นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปได้เข้าถึง โดยส่วนตัวเองก็ชื่นชอบการมาเที่ยวที่เขาใหญ่มากๆ ตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อ 40 กว่าปีก่อน เพราะสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าน้อยใหญ่ จึงอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมอนุรักษ์ธรรมชาติของเขาใหญ่ไว้อย่างยั่งยืน” ดร.ฮาราลด์ กล่าวทิ้งท้ายก่อนจะร่วมเดินศึกษาธรรมชาติในเส้นทางที่ปรับปรุงใหม่นี้ด้วย

สำหรับโครงการนี้ถือเป็นความร่วมมือระดับไตรภาคีในการพัฒนาเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ระยะทาง 3.4 กิโลเมตร เริ่มแรกเดิมทีเป็นเส้นทางที่บุกเบิกขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อน ปัจจุบันก็ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา การปรับปรุงเพื่อให้เส้นทางนี้เดินง่ายขึ้น บวกกับฤดูฝน บริเวณริมน้ำ มีบางช่วงที่น้ำท่วมถึง ทำให้ดินนิ่ม และสไลด์ลงมา จึงมีการจัดทำราวจับ ทำสะพานข้าม ขยายทางเดินให้กว้าง จากทางแคบให้เดินสะดวกมากขึ้น โดยไม่เปิดหน้าดิน ยึดตามหลักวิชาการ ซึ่งลักษณะการปรับปรุงครั้งนี้พยายามให้สอดคล้องกับธรรมชาติมากที่สุด อีกทั้งไม่มีการตัดไม้ในป่า แต่จะเป็นการนำไม้มาจากสวนป่าด้านนอก ซึ่งเป็นไม้ปลูกมาใช้ทำขั้นบันได มีการทำป้ายสื่อความหมาย อธิบายเรื่องพืชพันธุ์ สัตว์ป่า ให้ความรู้ระหว่างทาง เล่าเรื่องธรรมชาติออกมาให้ผู้คนเข้าใจง่ายที่สุดด้วย

ปัจจุบันเส้นทางศึกษาธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีทั้งหมด 7 เส้นทาง เริ่มตั้งแต่ระยะสั้น 1 กิโลเมตร ไปจนถึงระยะทางยาวที่สุด คือระยะทาง 8 กิโลเมตร ซึ่ง ‘เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติความสัมพันธ์ไทย-เยอรมันครบรอบ 160 ปี (ผากล้วยไม้-น้ำตกเหวสุวัต)’ เป็นเส้นทางที่มีระยะทางอยู่ในระดับปานกลาง ไม่ใกล้และไม่ไกลมาก สามารถเดินศึกษาธรรมชาติได้ทุกเพศทุกวัย เป็นเส้นทางครอบครัว หรือเด็กนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมก็สามารถเดินขึ้นไปศึกษาธรรมชาติได้ เป็นเส้นทางที่เชื่อมระหว่างสองน้ำตก คือน้ำตกผากล้วยไม้ และน้ำตกเหวสุวัต เดินลัดเลาะไปตามลำห้วยลำตะคอง ผ่านป่าไผ่สลับกับป่าดิบ-แล้งเป็นระยะๆ ภายในเส้นทางจะได้ยินเสียงดังกึกก้องของน้ำตกผากล้วยไม้ในฤดูฝน แต่เมื่อน้ำลดลงในฤดูแล้ง จะพบเห็นร่องรอยการไหลของหินลาวาภูเขาไฟเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน รวมทั้งดอกไม้หินซึ่งเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกที่จะโผล่พ้นน้ำขึ้นมา รวมทั้ง ‘หวายแดง’ ที่ผลิดอกเป็นช่อยาวสีแดงโดดเด่นให้ได้ชื่นชมความงดงามบริเวณผาน้ำตกในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี

และสิ่งที่น่าสนใจนอกจากหวายแดง คือการเดินเลียบริมน้ำ ที่อาจจะเจอตัวนากเล่นน้ำ รวมไปถึง ‘ตัวตะกอง’ หรือ ‘กิ้งก่าน้ำ’ สัตว์ป่าที่เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อม เจ้าหน้าที่อุทยานให้ความรู้ว่า หากพบเห็นตัวตะกองที่ไหน แสดงว่าบริเวณดังกล่าวมีแห่งน้ำที่บริสุทธิ์และมีออกซิเจนที่ดี นอกจากนี้คำว่า ‘ตะกอง’ ยังเป็นที่มาของชื่อ “ลำตะคอง” อีกด้วย เพราะสัตว์ชนิดนี้ จะพบเห็นได้มากในแถบอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา 

ที่สำคัญเส้นทางนี้ ยังเชื่อมโยงระบบนิเวศให้เห็นอย่างชัดเจน บริเวณลำธารจะมีพืชพันธุ์ไม้น้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ไคร้ย้อย ไคร้น้ำ หว้าน้ำ ซึ่งพืชตระกูลนี้จะมีรากที่แข็งแรง และทำหน้าที่เป็นเหมือนฝายชะลอน้ำจากธรรมชาติ ตลอดจนต้นไม้ใหญ่นานาชนิดที่มีป้ายติดบอกชื่อเรียกเอาไว้ เช่น ต้นจำปีป่า ต้นตาเสือ ต้นกฤษณา ฯลฯ อีกทั้งต้นน้ำของลำตะคอง ที่กำเนิดมาจากเขาสามยอดไหลมาเป็นน้ำตกผากล้วยไม้และน้ำตกเหวสุวัต ก่อนจะไหลลงไปอำเภอปากช่อง สู่อำเภอสีคิ้ว เป็นเขื่อนลำตะคอง ที่ใช้ผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคของชาวเมืองโคราชตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

ตลอดเส้นทางการเดินศึกษาธรรมชาติกว่า 3 ชั่วโมงเต็ม ทำให้ได้เข้าใจว่า การอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่สมบูรณ์ ได้สูดอากาศที่บริสุทธิ์อย่างเต็มปอด เป็นความรู้สึกที่สดชื่นอย่างบอกไม่ถูก จนย้อนคิดถึงคำกล่าวของ ดร.ฮาราลด์ที่บอกว่า “การใช้ชีวิตของมนุษย์ล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการ ฉะนั้นเราทุกคนควรตระหนักรู้ในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่า ช่วยรักษาระบบนิเวศให้สมบูรณ์ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกชีวิตบนโลกใบนี้แทบทั้งสิ้น อย่ามองแค่ว่าเป็นผลประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นผลประโยชน์ของพวกเราทุกคนนั่นเอง”

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.