เผยแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจโลกหลังยุคโควิด กับ การประชุมสุดยอดผู้นำหญิงระดับโลก (2022 Global Summit of Women)
ถือเป็นเวทีการประชุมที่รวมสุดยอดผู้นำหญิงระดับโลกไว้ สำหรับ ‘Global Summit of Women 2022’ ระหว่างวันที่ 23 – 25 มิถุนายนที่ผ่าน ซึ่งในปีนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพครั้งแรกในรอบ 32 ปี นับตั้งแต่มีการก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2533 ณ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาโดยความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐ เอกชน และองค์กรไม่หวังผลกำไร ที่มีวิสัยทัศน์เดียวกันในการสนับสนุนโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่สตรีทั่วโลก พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ที่ริเริ่มโดยผู้นำสตรีในแต่ละภูมิภาค จนประสบความสำเร็จและร่วมแชร์กลยุทธ์เชิงสร้างสรรค์ ส่งเสริมบทบาทความก้าวหน้าของสตรีในเศรษฐกิจโลก ณ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ผู้นำสตรีกว่า 650 คน จาก 52 ประเทศทั่วโลก

2022 Global Summit of Women
การประชุมสุดยอดผู้นำสตรีระดับโลก (Global Summit of Women – GSW) ในครั้งนี้ถือว่าเป็นการประชุมครั้งที่ 32 ซึ่ง GSW ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2533 ที่นิวยอร์ค โดยความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐ เอกชน และองค์กรไม่หวังผลกำไร ที่มีวิสัยทัศน์เดียวกันในการสนับสนุนโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่สตรีทั่วโลก องค์กรเหล่านี้ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมริเริ่มโดยผู้นำสตรีในแต่ละภูมิภาคทั่วโลก ที่ประสบความสำเร็จและกลยุทธ์เชิงสร้างสรรค์ การประชุมสุดยอดผู้นำสตรีระดับโลกเป็นการประชุมในเชิงธุรกิจที่เน้นบทบาทความก้าวหน้าของสตรีในเศรษฐกิจโลก
2 สุภาพสตรีผู้ทรงอิทธิพลทั้งในระดับโลก และระดับประเทศ
สำหรับการประชุมครั้งสำคัญนี้มี ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรีของไทย ให้การต้อนรับและเป็นประธานเปิดพิธีการประชุมอย่างเป็นทางการ พร้อมด้วย ‘มิสซิสไอรีน นาทิวิแดด’ ประธานการประชุม ‘คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร’ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาประธานคณะกรรมการจัดงานฝ่ายไทย และ ‘วีโยซา ออสมานี’ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐคอซอวอ ร่วมเป็นสักขีพยาน
มิสซิสไอรีน กล่าวถึงการจัดประชุมครั้งนี้ในประเทศไทยว่า “เพราะเล็งเห็นว่าเมืองไทย เป็นประเทศหนึ่งที่ผู้หญิงมีความสามารถ มีบทบาทสำคัญในโลกธุรกิจ นอกจากนี้จุดประสงค์ที่สำคัญของการจัดงานประชุมก็เพื่อสนับสนุนให้ผู้หญิงพัฒนาศักยภาพ และบทบาทในการขับเคลื่อนสังคมเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปสู่ความเท่าเทียมกัน และในช่วงของวิฤกติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ถือเป็นโอกาสที่ดี ที่ทำให้ทุกภาคส่วนเล็งเห็นถึงศักยภาพของผู้หญิงที่สามารถจัดการระบบการทำงาน ได้ ทั้งงานออฟฟิศ ควบคู่ไปกับงานบ้านที่ต้องรับผิดชอบในชีวิตประจำวัน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของงานต่างๆ เลย ตรงกันข้ามกับเป็นผลดี ที่ในอนาคตไม่ว่าจะผู้หญิงหรือผู้ชาย ทุกคนสามารถทำงานได้ทุกที่ผ่านเครือข่ายออนไลน์”
รวมไปถึงอีกหนึ่งปัญหาที่ท้าทายของผู้หญิงในยุคปัจจุบัน นั่นก็คือการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและความจำเป็นของกระบวนการปรับใช้เทคโนโลยีสู่โลกธุรกิจ เป็นปัญหาของผู้หญิงบางคนที่อาจขาดทักษะที่จำเป็นและเหมาะสมในการทำงาน “ผู้หญิงยุคนี้ต้องปรับเปลี่ยน และได้รับการบ่มเพาะความรู้ที่จะเตรียมพร้อมต่อการปรับตัวตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมทักษะในด้านต่างๆ ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อใช้ต่อยอดสู่ความสำเร็จในหน้าที่การทำงานในอนาคต”

อย่างไรก็ตาม เธอยังหวังด้วยว่า ผู้หญิงทุกคนที่ได้เข้าร่วมงานนี้ จะนำประสบการณ์ที่ได้ไปต่อยอด พัฒนางานที่ตั้งใจไว้จนประสบความสำเร็จ อีกทั้งอยากให้เข้าใจโลก เข้าใจการใช้ชีวิตมากขึ้น ฝึกคิดนอกกรอบ จะเห็นว่าภูมิอากาศและไวรัสไร้ขอบเขต โลกธุรกิจก็เช่นกัน การสร้างคอนเนคชั่นจึงสำคัญไม่น้อยไปกว่าองค์ความรู้เลย
เช่นเดียวกับ คุณกอบกาญจน์ ที่บอกว่า “ผู้หญิงไทยพร้อมจะเดินหน้าไปกับผู้หญิงจากประเทศต่างๆ ในการเป็นผู้นำของโลกยุคหลังโควิด เพราะตลอดเวลาที่โลกของเรามีการเปลี่ยนแปลง และประสบวิกฤตต่างๆ ถือเป็นบททดสอบที่ยากพอสมควร แต่สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องรู้จักการปรับตัวอยู่เสมอ ในโลกของการทำธุรกิจ ส่วนตัวมองว่า เราต้องดูที่จุดประสงค์ของการขับเคลื่อนธุรกิจ ว่าเป้าหมายสูงสุดของเราคืออะไร สถานการณ์ต่างๆ เป็นเพียงปัจจัยเล็กๆ ที่เข้ามามีบทบาทระหว่างทาง ฉะนั้นต้องรู้จักเปลี่ยนแปลง ปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างที่ตั้งใจ”





ประธานาธิบดีสาธารณรัฐคอซอวอ



นอกจากนี้ตลอดการจัดประชุม 3 วันเต็ม ยังมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาแบ่งปันความรู้ให้แก่ผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็น ‘คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย และ ‘ดร.คณิศ แสงสุพรรณ’ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มาบรรยายพิเศษเกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาคและโอกาสด้านการลงทุน ในหัวข้อ “การทำธุรกิจในประเทศไทย” และยังมีการประชุม Vietnam-Thailand BtoB Forum ที่หอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม และหอการค้าไทยร่วมกันจัดขึ้นควบคู่ไปกับการประชุมสุดยอดผู้นำสตรี โดยได้รับเกียรติจาก คุณ ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ มาเป็นประธานในพิธีลงนาม MOU แผนธุรกิจเวียดนาม-ไทย ครั้งนี้ด้วย
การเสวนาระดับรัฐมนตรี (Ministerial Roundtable) โดยมี ‘คุณจุติ ไกรฤกษ์’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ ‘คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะเข้าร่วมการอภิปรายเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลและภาคเอกชนร่วมมือกันจัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่สตรี
นอกเหนือจากการเสวนาระดับรัฐมนตรี แล้วในงานเลี้ยงต้อนรับซึ่งจัดขึ้นที่ รอยัลพารากอน ฮอล์ล สยามพารากอน ‘คุณอิทธิพล คุณปลื้ม’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้ให้เกียรติร่วมงานเลี้ยงด้วย




รางวัลผู้นำหญิงยอดเยี่ยมระดับโลก (Global Women’s Leadership Awards)
และเนื่องจากจัดการประชุมในขณะที่ยังคงมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 หัวข้อในการประชุมจะเน้นการสนับสนุนการพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจของสตรีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เช่น การยกเลิกการจ้างงาน การปิดกิจการที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของ เป็นต้น โดยจะเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลความเห็นในประเด็นว่าด้วยนโยบายภาครัฐหรือวิธีการดำเนินธุรกิจแบบใดจะประสบความสำเร็จในยุคที่เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงหลังจากเกิดโรคระบาด


อีกทั้งจัดพิธีการมอบรางวัลผู้นำหญิงยอดเยี่ยมระดับโลก (Global Women’s Leadership Awards) 2565 ให้แก่ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เจ้าของฉายา “หมอยายิปซี” ที่มีบทบาทโดดเด่นด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนและการต่อต้านเชื้อไวรัสทุกชนิด โดยเป็นผู้พัฒนายาต้านไวรัส HIV ราคาถูกที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ติดเชื้อในหลายประเทศโดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา
2 ประเด็นสำคัญที่บรรลุผลสำเร็จในการประชุมสุดยอดผู้นำหญิงระดับโลก หรือ Global Summit of Women 2022







และปิดท้ายการประชุมที่มีการพูดถึง 2 ประเด็นสำคัญอันบรรลุผลสำเร็จเป็นครั้งแรกในการประชุมที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้ ได้แก่ เป็นการจัดการประชุมครั้งแรกในรอบ 32 ปี ที่จัดกิจกรรมลดการปล่อยคาร์บอน(carbon neutral) ซึ่งเป็นผลงานของคณะเจ้าภาพการจัดงานฝ่ายไทย ที่ต้องปรบมือชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง
อีกประเด็น คือการกำหนดหลักการกำกับกิจการที่ดี (Corporate Governance Code) ในเรื่องความหลากหลายทางเพศในองค์ประกอบของคณะกรรมการบริษัทให้มีความชัดเจน ซึ่งประเด็นนี้ควรเป็นปัจจัยที่จำเป็นของหลักการธรรมาภิบาลขององค์กร โดยมีสองผู้นำสตรีเป็นผู้ผลักดันให้เกิดขึ้น ‘คุณรื่นวดี สุวรรณมงคล’ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ ‘มิสซิสไอรีน นาทิวิแดด’ ประธานการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีครั้งนี้ พร้อมกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า “การเปลี่ยนแปลงที่เอื้อประโยชน์ต่อสตรีจะเป็นจริงได้เร็วขึ้น เมื่อเราได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นและกลยุทธ์ซึ่งกันและกันโดยไม่มีขอบเขตพรมแดนประเทศมากั้น และการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีในครั้งนี้ถือเป็นเวทีสำคัญที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้”