หลงในเรื่องราวของประวัติศาสตร์ กับนิทรรศการความสัมพันธ์อันใกล้ชิด ของ ผู้หญิงกับจิวเวลรี่ Cartier and Women
สิ่งที่อยู่คู่กับความงามของจิวเวลรี่ทุกชิ้น คือเหล่าเอกลักษณ์ของเหล่าคุณผู้หญิง ที่เป็นรางบันดาลใจของการรังสรรค์ผลงานอันล้ำค่า ซึ่งด้วยไอเดียนี้ แบรนด์เครื่องประดับไฮเอนด์อย่าง คาร์เทียร์ ได้จัดนิทรรศการนำเสนอ Cartier Collection Exhibition: Cartier and Women ว่าด้วย ผู้หญิงกับจิวเวลรี่ บทบาท และอิทธิพล อันเป็นเอกลักษณ์ของผู้หญิงในประวัติศาสตร์ คาร์เทียร์ โดยได้นำผลงานล้ำค่าจากการรังสรรค์ของคาร์เทียร์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับจิวเวลรี่ เรือนเวลา ศิลปวัตถุ หรือของตกแต่ง รวมทั้งบันทึกจากคลังผลงาน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบัน มาจัดแสดงให้ผู้สนใจได้ชม ท่ามกลางความงาม ของพิพิธภัณฑ์พระราชวังฮ่องกง


Cartier and Women
สำหรับนิทรรศการนี้นั้น เป็นการเผยเรื่องราวอันน่าหลงใหล เกี่ยวกับความสัมพันธ์อันใกล้ชิด ของ ผู้หญิงกับจิวเวลรี่ พร้อมทั้งชูความเด่น ของศิลปะตะวันออก และศิลปะจากภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ คาร์เทียร์ ทั้งในด้านสไตล์การสร้างสรรค์ เทคนิกและวัสดุ

หนึ่งในไฮไลต์ของนิทรรศการ คือเรื่องราวของฌานน์ ตูแซงต์ (Jeanne Toussaint, 1887-1976) สตรีผู้บุกเบิกในสังคมชายเป็นใหญ่สมัยต้นศตวรรษที่ 20 และเป็นหนึ่งในสตรีที่ปฏิวัติวงการจิวเวลรี่สมัยใหม่ หลุยส์ คาร์เทียร์ (Louis Cartier, 1875-1942) ผู้นำรุ่นที่ 3 ของคาร์เทียร์ แต่งตั้งตูแซงต์เป็นผู้อำนวยการสร้างสรรค์ในปี 1933 โดยเธอเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ เข็มกลัดปองแตร์ (Panthère) ที่ตูแซงต์ ออกแบบไว้เมื่อปี 1949 ซึ่งดัชเชสแห่งวินด์เซอร์ (1896-1986) ได้ซื้อไปครอบครอง คือผลงาน ที่กำหนดนิยามใหม่ ว่าจิวเวลรี่มีความหมายอย่างไรต่อผู้หญิง
นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของมรดกที่ ฌานน์ ตูแซงต์ ได้สร้างไว้ และนับแต่ ผลงานชิ้นนี้ถือกำเนิดขึ้น เสือแพนเตอร์ สัญลักษณ์ของความองอาจ ความเป็นอิสระ และอำนาจ ก็กลายมาเป็นแม่แบบ และสัญลักษณ์ของ คาร์เทียร์
ตูแซงต์ ไม่เพียงสนับสนุน การให้อำนาจแก่ผู้หญิงผ่านการออกแบบจิวเวลรี่เท่านั้น แต่เธอยังเป็นตัวแทน ที่เป็นรูปธรรม และเป็นผู้ส่งเสริม ให้เกิดเสรีภาพใหม่เชิงทัศนคติ ที่โดดเด่นด้วยความเป็นหญิง จิตวิญญาณเสรี และอิสรภาพ การทำงานของเธอเปิดทางให้ผู้หญิงอีกหลายคน ได้เข้ามาทำให้จิวเวลรี่ก้าวข้ามการเป็นแค่เครื่องประดับ แต่เป็นสัญลักษณ์ ที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ตัวตน และจิตวิญญาณที่ซ่อนอยู่ภายใน
Cartier Collection Exhibition

ภายในนิทรรศการจะถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วนให้ได้เดินเล่น ยลความงามของประวัติศาสตร์อย่างเต็มอิ่ม ไม่ว่าจะเป็น ส่วนแรก “Royal and Aristocratic Women: Elegance and Prestige” ความสง่างามและเกียรติภูมิเชื้อพระวงศ์และสตรีชั้นสูง เชิดชูบทบาทสำคัญของเชื้อพระวงศ์ฝ่ายหญิงและสตรีชั้นสูงในยุคแรกของคาร์เทียร์ ช่วงศตวรรษที่ 19
ต่อด้วยส่วนที่ 2 “New Women: Breaking with Tradition” หญิงยุคใหม่ ที่ไม่ยึดติด กับม่านประเพณีเดิมๆ เป็นการสำรวจความก้าวหน้า ในงานออกแบบจิวเวลรี่ ที่สะท้อนถึงการปลดแอกสตรี เรียกได้ว่า เป็นส่วนที่น่าประทับใจอย่างมาก

นิทรรศการส่วนที่ 3 “Inquisitive Women: Cross-cultural Inspirations” ผู้หญิงที่แสวงหาความรู้รอบตัวอยู่เสมอ: แรงบันดาลใจข้ามวัฒนธรรม ซึ่งจะนำพาไปชมอิทธิพล ของศิลปะจากประเทศจีน และภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ที่สร้างชีวิตชีวา ให้กับผลงาน ผู้หญิงกับจิวเวลรี่ ที่คาร์เทียร์ รังสรรค์ขึ้นเพื่อผู้หญิง และสนองความใคร่รู้สิ่งแปลกใหม่ อันเป็นปรากฏการณ์สากล
ซึ่งในส่วนสุดท้าย “Influential Women: Glamorous Legends” สตรีผู้ทรงอิทธิพล: ตำนานอันเจิดจรัส เป็นการสำรวจความสัมพันธ์ใกล้ชิด ระหว่างเครื่องประดับคาร์เทียร์ กับสตรีสมัยใหม่ และสตรีร่วมสมัยผู้เป็นไอคอน โดยผลงานชิ้นเด่นส่วนหนึ่งมาจากคอลเล็กชั่นส่วนตัว ของสตรีระดับบุคคลสำคัญ และสตรีที่มีชื่อเสียง เช่น เกรซ เคลลี่ หรือเจ้าหญิงเกรซแห่งโมนาโก (1929-1982) สามนักแสดงชื่อดัง อลิซาเบธ เทย์เลอร์ (Elizabeth Taylor, 1932-2011) หลินชิงเสีย (Brigitte Lin) หลิวเจียหลิง (Carina Lau) และนักธุรกิจหญิงแพนซี่ โฮ (Pansy Ho)

อีกทั้งนิทรรศการอันยิ่งใหญ่ ในครั้งนี้ ยังแสดงให้เห็นแนวทางการทำงาน ของพิพิธภัณฑ์พระราชวังฮ่องกง ที่เน้นนวัตกรรมในการภัณฑารักษ์นิทรรศการ และเป็นเครื่องพิสูจน์ พันธกิจของพิพิธภัณฑ์ ในอันที่จะอำนวยให้เกิดความร่วมมือระหว่างสาขาด้วย