Home > Events > ‘รพ.เจริญกรุงประชารักษ์’ เปิดโครงการ ‘OPD NEW NORMAL’ เพิ่มความปลอดภัยทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ

เป็นเวลาเกือบ 5 ทศวรรษแล้วที่ ‘โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์’ ดูแลสุขภาพคนไทยด้วยไปพร้อมกับการพัฒนาด้านแพทย์ จนปัจจุบันได้รับความไว้วางใจจากประชาชนจำนวนมาก แต่ด้วยด้วยจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด พื้นที่ต่าง ๆ จึงเกิดความแออัด โดยเฉพาะแผนกผู้ป่วยนอก (โอพีดี – OPD) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชั้น 3-4 ของอาคาร 72 พรรษา มหาราชินี ที่มีผู้มารับบริการมากกว่า 400 คนต่อวัน ทำให้ทั้งผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจและโรคโควิด – 19 จนเกิดความสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ไปแล้วในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา

ด้วยเห็นความสำคัญของความปลอดภัยของประชาชนจำนวนมาก รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่นับร้อยคน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ จึงร่วมกับ HELLO! Magazine Thailand และเซเลบริตี้ใจดีอย่าง ‘คุณกมลา สุโกศล’, ‘คุณกรองกาญจน์ ชมะนันทน์’ และ ‘คุณจันทนา เซลบีย์’ เปิดโครงการ ‘OPD NEW NORMAL’ ลดความแออัด เพิ่มความปลอดภัย พร้อมให้บริการ เพื่อระดมเงินบริจาคสมทบทุนปรับปรุงอาคาร 2 ของโรงพยาบาลเป็นแผนกโอพีดี ขยายพื้นที่การให้บริการและลดความแออัดและเพิ่มความปลอดภัยให้ทั้งประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์

สภาพความแออัดในแผนกโอพีดีปัจจุบัน

โอกาสนี้ HELLO! ได้รับเกียรติจาก ‘นพ.เกรียงไกร ตั้งจิตรมณีศักดา’ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ของโรงพยาบาลทั้งประวัติความเป็นมา ความโดดเด่น รวมถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น พร้อมด้วย ‘นพ.กมลรัชฎ์ จงธนากร’ หัวหน้ากลุ่มงานประกันสุขภาพ และ ‘คุณนิตยา ศักดิ์สุภา’ หัวหน้าพยาบาล ที่มาร่วมให้ข้อมูลโครงการ OPD NEW NORMAL และแชร์ประสบการณ์ในการรับมือกับจำนวนผู้ป่วยที่มาใช้บริการเป็นจำนวนมากท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดในช่วงที่ผ่านมา

นพ.เกรียงไกร ตั้งจิตรมณีศักดา

จากโรงพยาบาลคลอดบุตรสู่การเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร

แม้ว่าเพิ่งมารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์เมื่อต้นปี พ.ศ. 2563 แต่ นพ.เกรียงไกร ตั้งจิตรมณีศักดา มีความผูกพันและเห็นการเติบโตของโรงพยาบาลมากว่า 20 ปี โดยเจ้าตัวย้อนเล่าว่า “จริง ๆ แล้วผมเป็นลูกหม้อของโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ มาบรรจุที่โรงพยาบาลนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เป็นศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2556 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองวิชาการ และเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร ต่อมาวันที่ 2 มีนาคม 2563 ได้รับแต่งตั้งให้กลับมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์”

“ที่ผ่านมาโรงพยาบาลมีความก้าวหน้ามาเป็นลำดับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ตอนนั้นเป็นเพียงโรงพยาบาลขนาดกลางและมีการพัฒนาเรื่อยมา จนปัจจุบันมีการยกระดับเป็นโรงพยาบาลที่มีนักเรียนแพทย์ เป็นสถาบันหลักที่รับนักศึกษาแพทย์จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ส่วนความโดดเด่นของโรงพยาบาล ด้วยความที่เริ่มต้นมาจากการเป็นโรงพยาบาลคลอดบุตร ทำให้การแพทย์ในด้านสูตินรีเวชค่อนข้างโดดเด่น เช่น การผ่าตัดผ่านกล้องทางด้านนรีเวช ที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นศูนย์ฝึกของประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก”

“นอกจากนี้ยังมีความพยายามพัฒนาทางการแพทย์ด้านอื่น ๆ อาทิ อายุรกรรม และศัลยกรรม มีการให้บริการด้านโรคหัวใจครบวงจร ตั้งแต่การตรวจ ประเมิน การฉีดสีเส้นเลือดหัวใจ ใส่ขดลวด รวมถึงการผ่าตัดเปิดช่องทรวงอก ผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจ ผ่าตัดลิ้นหัวใจทั้งหมด เป็นต้น รวมถึงการเป็นศูนย์รับส่งต่อของโรงพยาบาลในเครือสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลในสังกัดอื่นด้วย”

“ถือเป็น 1 ใน 3 โรงพยาบาลขนาดใหญ่ของสำนักการแพทย์ รับผู้ป่วยในเขตพื้นที่กรุงเทพตอนใต้เป็นหลักตั้งแต่บางคอแหลม ยานนาวา สาทร รวมไปถึงฝั่งตรงข้ามคือฝั่งธนบุรี เช่น ทุ่งครุ จอมทอง และบางขุนเทียน เป็นต้น รวมถึงประชชนจากฝั่งสมุทรปราการบางส่วน โดยพยายามพัฒนาการรักษาให้ถึงขีดสุดในทุก ๆ สาขาทางการแพทย์ ทำให้ประชาชนให้ความไว้วางใจและมารับบริการเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ยกตัวอย่างอาคาร 72 พรรษา มหาราชินี ซึ่งเป็นอาคารหลักที่ให้บริการมาเกือบ 20 ปี จากเดิมที่มีคนไข้ปีละประมาณ 300,000 คน ตอนนี้คนไข้เพิ่มขึ้นมาเป็น 800,000 คน เพราะฉะนั้นสถานที่ต่าง ๆ จึงคับแคบลง เพราะมีปริมาณผู้มาใช้บริการค่อนข้างมาก เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าตัว ทำให้มีความแออัด โดยเฉพาะห้องตรวจทั่วไป ห้องตรวจประกันสังคม และห้องตรวจเฉพาะทางอื่น ๆ”

โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์

ดูแลผู้ป่วยกว่า 1,000 คนในช่วงวิกฤตโควิด – 19

นอกจากมีผู้มาใช้บริการเป็นจำนวนมากโรงพยาบาลยังต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญอย่างโควิด – 19 ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ กล่าวถึงการรับมือที่ผ่านมาว่า “โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลหลักที่จะต้องรองรับผู้ป่วยโควิด – 19 โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาผู้ป่วยเพิ่มจำนวนขึ้นมาก เราต้องขยายหอผู้ป่วยในการรับผู้ป่วยโควิด จากเดิมเปิด 1 วอร์ด ขยายเป็น 6 วอร์ด ประกอบด้วยหอผู้ป่วยสามัญ 5 วอร์ด และไอซียูผู้ป่วยโควิด 1 วอร์ด ซึ่งรองรับผู้ป่วยสีส้มและสีแดงได้ 120 คน แต่ช่วงพีคจริง ๆ ผู้ป่วยมาเยอะกว่านั้น จึงต้องปรับพื้นที่ด้านข้างอาคาร 72 พรรษา กางเต้นท์หน้าห้องฉุกเฉินเพื่อรับผู้ป่วยสีเขียวที่ไม่มีที่ไปซึ่งสามารถรับได้เต็มที่ประมาณ 60 – 70 คน”

“นอกจากนี้ยังได้รับมอบหมายให้ไปเปิดโรงพยาบาลสนาม ปรับปรุงศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ (บางมด) ให้เป็นโรงพยาบาลสนามรับผู้ป่วยสีเหลือง ทั้งหมด 342 เตียง และได้รับมอบหมายให้ดูแลศูนย์พักคอยที่วัดสุทธิวราราม วัดอินทรวิหาร และศูนย์ฝึกอบรมสถาบันวิทยาการศุลกากร บางคอแหลม รวมแล้วประมาณ 300 เตียง เพราะฉะนั้นในช่วงที่พีคสุด ๆ เราต้องดูแลผู้ป่วยที่เป็นโควิดประมาณ 800 – 900 เตียง และยังมีคนไข้ที่ไม่ได้เป็นโควิดอีกมากกว่า 200 คน รวมแล้วมีคนไข้ประมาณ 1,000 คนที่ต้องดูแล”

อาคาร 72 พรรษา มหาราชินี

โครงการปรับปรุงอาคาร 2 ขยายแผนกโอพีดีเพิ่มความปลอดภัยทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ

เพื่อรองรับทั้งผู้ป่วยปกติและผู้ป่วยโควิด – 19 ทางโรงพยาบาลจึงเตรียมปรับปรุงอาคาร 2 เพื่อขยายพื้นที่ให้บริการ นพ.เกรียงไกร ให้รายละเอียดว่า “เพื่อให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยกับประชาชนผู้มาใช้บริการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่มาให้บริการด้วย เพราะในยุคโควิด – 19 ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 – 2564 ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ คนไข้ที่มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ จะต้องแยกออกไปตรวจนอกอาคาร และประชาชนที่มารับบริการต้องมีการเว้นระยะห่าง ดังนั้นการปรับสถานที่แบบนิวนอร์มัล ก็จะต้องจัดสถานที่ให้เหมาะสม เพื่อให้สถานที่ไม่แออัดเกินไป เราจึงมีโครงการรีโนเวทอาคาร 2 ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี แต่โครงสร้างยังแข็งแรง ให้เป็นห้องตรวจทั่วไป ห้องตรวจประกันสังคม และห้องตรวจผู้ป่วยสิทธิ์ต่าง ๆ

“ห้องตรวจที่แออัดจะถูกขยับขยายออกไปให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น ส่วนพื้นที่เดิมในอาคาร 72 พรรษา มหาราชินี ก็จะถูกปรับเป็นห้องตรวจเฉพาะทาง ก็จะเป็นการขยายบริการทั่วทั้งโรงพยาบาลในทุกสาขา เพื่อให้เหมาะสมกับยุคนิวนอร์มัล ปลอดภัยทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ”

“ปัจจุบันเราก็กำลังก่อสร้างสกายวอล์คเป็นทางเชื่อมอาคาร 72 พรรษา มหาราชินี อาคารอนุสรณ์ 20 ปี อาคาร 2 อาคารสนับสนุน และอาคารจอดรถ อาคาร 2 จะเป็นอาคารที่เชื่อมต่อกับสกายวอล์คให้สามารถเชื่อมต่อการบริการให้สะดวกสบายมากขึ้น โดยนอกจากรีโนเวทสถานที่ จะมีการเชื่อมต่อสายสัญญาณต่าง ๆ สายแลนคอมพิวเตอร์ ส่วนอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์พื้นฐาน เพราะเป็นห้องตรวจเบื้องต้น โดยจะใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลมีอยู่เดิม และจะจัดซื้อเพิ่มเติมด้วย คาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือนก็จะเสร็จสมบูรณ์ สามารถเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้”

ประชาชนจำนวนมากมารอใช้บริการในแผนกโอพีดี

ความท้าทายตั้งแต่รับตำแหน่งผู้อำนวยการ

ปิดท้าย นพ.เกรียงไกร เล่าถึงปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมาว่า “การเป็นผู้บริหารโรงพยาบาลต้องเจอปัญหาอุปสรรคใหม่ ๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด ซึ่งพวกเราไม่เคยเจอมาก่อน วันแรกที่ผมมารับตำแหน่ง ปัญหาแรกคือการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกัน หน้ากากอนามัย เราเหลืออยู่ไม่ถึง 5,000 ชิ้น ขณะที่บุคลากรต้องใช้ถึง 1,500 – 2,000 ชิ้นต่อวัน ในฐานะผู้บริหารจึงต้องหาอุปกรณ์ป้องกัน เพื่อให้บุคลากรปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย สร้างความมั่นใจและความศรัทธา ให้เจ้าหน้าที่ทุกคนมีความเชื่อมั่นและก้าวไปด้วยกัน

“ทุกอย่างต้องมีการเรียนรู้ทั้งหมด แต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายทำให้วิกฤตเป็นโอกาส โรงพยาบาลได้รับความไว้วางใจและสนับสนุจากทุกคน ในปัจจุบันหลังจากโควิดซาลงแล้วก็มีประชาชนมารับบริการในโรคต่าง ๆ จำนวนมากด้วยความเชื่อมั่นของโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์”

นพ.กมลรัชฎ์ จงธนากร

ความแออัดของแผนกโอพีดี

ในฐานะหัวหน้ากลุ่มงานประกันสุขภาพ นพ.กมลรัชฎ์ จงธนากร กล่าวถึงความแออัดในแผนกโอพีดีเพิ่มเติมว่า “โอพีดีในอาคาร 72 พรรษา มหาราชินี ปัจจุบันมีผู้มารับบริการมากกว่า 3,400 คนต่อวัน โอพีดีของกลุ่มงานประกันสุขภาพ ได้แก่ โอพีดีเวชปฏิบัติ โอพีดีประกันสังคม และห้องตรวจเบิกจ่ายตรงกรมบัญชีกลาง เฉพาะในส่วนของกลุ่มงานประกันสุขภาพมีผู้มาใช้บริการวันละประมาณ 400 คน ซึ่งมีปริมาณความหนาแน่นค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับตอนเปิดใช้ในปี พ.ศ. 2548 มีผู้มาใช้บริการประมาณ 1,000 คน และห้องตรวจในกลุ่มงานประกันสุขภาพประมาณ 100 คน”

“สังเกตว่าก้าวกระโดดขึ้นมามาก ทำให้ผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการรักษาระยะห่างได้ยาก มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ต้องรองรับผู้ป่วยที่หนาแน่น ต้องใช้จำนวนเจ้าหน้าที่เพิ่มมากขึ้น แออัดมากขึ้น ในห้องตรวจเวชปฏิบัติเริ่มต้นเรามีผู้ป่วยแค่วันละ 100 คน จำนวนผู้ป่วยที่ก้าวกระโดดทำให้เราต้องซอยห้องตรวจขึ้นมาเป็น 2 เท่า ซึ่งช่วงโควิดที่ผ่านมาแผนกโอพีดีมีเจ้าหน้าที่ติดเชื้อ 8 คน ประกอบด้วยแพทย์ 2 คน พยาบาล 3 คน และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ อีก 3 คน”

“เราจึงมีแนวทางแก้ปัญหาด้วยการนำอาคาร 2 ซึ่งก่อสร้างมาแล้วกว่า 40 ปี และปัจจุบันไม่ได้ใช้ประโยชน์ มาปรับปรุงเพื่อขยายเป็นพื้นที่โอพีดี ชั้น 1 ประกอบไปด้วยห้องตรวจเวชปฏิบัติ 10 ตรวจ ห้องยา การเงิน และแผนกเวชระเบียน ชั้น 2 เป็นห้องตรวจประกันสังคม เบิกจ่ายตรงกรมสวัสดิการ และคลินิกปฐมภูมิ ชั้น 3 ศูนย์ประกันสังคม ชั้น 4 เป็นแผนกวิชาการ”

“เนื่องจากพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า เราก็จะสามารถรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีความสะดวก มีการเว้นระยะห่าง มีระบบที่ลื่นไหลดีมากขึ้น ซึ่งนอกจากตัวอาคารสถานที่แล้ว ต้องมีพัฒนาระบบให้บริการที่สอดคล้องกับมาตรฐาน โดยจะเริ่มปรับปรุงใช้ตั้งแต่ไตรมาส 4 ใช้งบประมาณในการปรับปรุงประมาณ 30 ล้านบาท”

คุณนิตยา ศักดิ์สุภา

เจ้าหน้าที่รับมือผู้ป่วยมากกว่า 3,000 คนต่อวัน

ด้าน คุณนิตยา ศักดิ์สุภา หัวหน้าพยาบาล เล่าการรับมือกับผู้ป่วยในส่วยของพยาบาลว่า “มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบให้บริการทั้งผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน มีพยาบาลที่อยู่ในสังกัดราว 600 กว่าท่าน ปัญหาในส่วนของโอพีดีคือมีผู้มารับบริการเยอะมาก ผู้ป่วยเริ่มต้นตั้งแต่ 05.30 น. ทั้งเจาะเลือด จองคิว ประมาณ 06.00 น. จึงเริ่มเปิดให้ยื่นบัตรนัด ตอนนั้นเราจะมีพยาบาลคัดกรองก่อนเข้าสู่ห้องตรวจต่าง ๆ ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลตั้งแต่ขั้นตอนการคัดกรอง เวชระเบียน และประกันสุขภาพ จุดที่จะดูแลคืออายุรกรรม ศัลยกรรม เวชปฏิบัติที่จะดูแลผู้ป่วยวันหนึ่งประมาณ 3,000 กว่าคน”

“เก้าอี้สำหรับนั่งรอตรวจจะแน่นมากทุกวัน ทำให้มีโอกาสติดเชื้อสูง ทั้งที่ปัจจุบันพยายามแยกผู้ป่วยบริการทางเดินหายใจ คัดกรองแล้วก็ยังมีโอกาสที่จะพลาด ซึ่งหากมีการปรับปรุงอาคาร 2 ขยายแผนกโอพีดีจนแล้วเสร็จ จะเป็นประโยชน์มาก เพราะที่จะกว้างมากขึ้น เป็นสัดส่วน มีที่นั่งรอประมาณ 100 ที่ ช่วยในเรื่องความปลอดภัยและการดูแลทั่วถึงมากขึ้น”

นับเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของโรงพยาบาลกรุงประชารักษ์ที่อยากพัฒนาทั้งคุณภาพบริการและการแพทย์ เพื่อให้คนไทยทุกคนที่มาใช้บริการได้รับทั้งความสะดวกและปลอดภัย ผู้ที่สนใจสร้างพื้นที่แห่งความปลอดภัยทั้งต่อประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ สามารถร่วมบริจาคได้ที่ ‘มูลนิธิโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์’ ธนาคารไทยพาณิชย์ 019-205299-7 หรือธนาคารกรุงไทย 951-0-09541-1 สามารถติดต่อรับใบเสร็จเพื่อลดหย่อนภาษี 1 เท่าได้ที่มูลนิธิโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ชั้น 9 อาคาร 72 พรรษา มหาราชินี โทร. 0-2291-0150/ 0-2289-7368

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.