วันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา กลุ่มควาญช้างจากเพนียดช้างจังหวัด พระนครศรีอยุธยานำช้างที่มีลักษณะมงคลคชลักษณ์จำนวน 11 เชือก มาถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่เบื้องหน้าประตูมณีนพรัตน์ การเดินทางครั้งนี้เป็นความร่วมมือจากมูลนิธิพระคชบาล และกลุ่มคชสารคู่แผ่านดินซึ่งเป็นผู้เลี้ยงช้างทั่วประเทศ กว่า 200 คน นำช้าง 11 เชือก จากวังช้างอยุธยา โดยใช้เวลาซ้อมเพียง 12 วัน โดยฝึกตามตำราหลวง เพราะไม่เคยมีเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา
นาย ลายทองเหรียญ มีพันธ์ ประธานมูลนิธิพระคชบาล และเจ้าของวังช้างอยุธยาแลเพนียด ควาญช้างนำขบวนเพื่อเข้าสักการะพระบรมศพฯ
ช้างที่มาร่วมพิธี คัดเลือกช้างที่มีลักษณะมงคลงดงาม มาจากทั่วประเทศ ทั้งจากเชียงใหม่ สุรินทร์ อยุธยา และอื่นๆ ซึ่งมีพลายวัง เป็นช้างนำขบวน มีควาญช้างนำ และถือได้ว่าเป็นคนสำคัญในการเหตุการณ์นี้คือ ลายทองเหรียญ มีพันธ์ เจ้าของมูลนิธิช้างที่จัดขี่ช้างมาถวายสักการะในครั้งนี้

ช้างมงคลงดงามในเครื่องแต่งองค์คชาภรณ์ ส่วนผู้ดูแลแต่งกายชุดขุนศึก
ช้างมงคล 11 เชือกที่มาถวายสักการพระบรมศพในครั้งนี้ไม่ใช่ช้างเผือกแต่ใช้การทาดินสอพองและแต่งเครื่องทรงช้างศึกให้อย่างสง่างาม
ช้างที่ถือว่าเป็นช้างเผือกนั้นจะต้องมีลักษณะต้องตามตำราคชลักษณ์ 7 ประการ คือ มีตา ขนหาง ขนรอบตัว เล็บ เพดานปาก ผิว และอัณฑโกศ(อวัยวะเพศ) เป็นสีขาวหรือสีหม้อดินใหม่ โดยทางสำนักพระราชวังจะมีผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบว่าเชือกไหนเป็นช้างเผือก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเรื่องการดูลักษณะช้างเผือก โดยมากจะเป็นการถ่ายทอดความรู้กันมาทางสายตระกูล เช่น ตระกูลคชาชีวะ ในอดีตเมื่อครั้งที่ป่าบ้านเรายังอุดมสมบูรณ์มีการพบช้างเผือกอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งในแผ่นดินของพระมหากษัตริย์พระองค์ใดที่พบช้างเผือกเป็นจำนวนมาก แสดงว่าพระองค์นั้นถึงพร้อมด้วยบุญญาภินิหารบารมีมาก และมักจะถวายนามว่า พระเจ้าช้างเผือก เช่น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งจากเอกสารปรากฏนามพระยาช้างต้น 12 ช้าง ปัจจุบันความที่พื้นที่ป่าไม้ลดน้อยลงทุกทีทำให้โอกาสที่จะได้พบช้างเผือกลดน้อยตามไปด้วย

ช้างมงคล 11 เชือกงดงามในเครื่องแต่งองค์คชาภรณ์
สำหรับในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีการพบช้างเผือกทั้งสิ้น 21 ตัว ปัจจุบันเหลือเพียง 11 ตัว โดยมีศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ที่จังหวัดลำปาง รับหน้าที่ดูแลช้างสำคัญรวม 6 ตัว เป็นเพศผู้ทั้งหมด อีก 4 ตัว อยู่ที่โรงช้างต้น ภายในเขตพระราชวังภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร เป็นช้างพังทั้งหมด และอีก 1 ตัว เป็นช้างเผือกแรกที่ได้มาในรัชกาลปัจจุบัน ทั้งยังเป็นช้างเชือกโปรด คือ “พระเศวตอดุลยเดชพาหน” คุณพระเป็นช้างพลายอายุ 53 ปี ได้มาจากจังหวัดกระบี่ เมื่อ พ.ศ.2499 พระเศวตอดุลยเดชพาหนได้ล้มลงแล้วในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2553 ณ โรงช้างต้น วังไกลกังวล หัวหิน
ชาวคชสารที่มาร่วมพิธี ต่างถือพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบามสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คู่กับพระเศวตอดุลยเดชพาหนเพื่อแสดงความจงรักภักดี และถวายสักการะอาลัย


เหล่าช้างก็ยืนสงบนิ่ง ทำท่าสักการะ ยกขาหน้า ชูงวง และหมอบกราบถวายอาลัย
ขบวนช้างเดินไปยังหน้าประตูอย่างสง่างามพร้อมเพรียงกัน เมื่อถึงหน้าประตูมณีนพรัตน์ เหล่าช้างก็ยืนสงบนิ่ง ทำท่าสักการะ ยกขาหน้า ชูงวง และหมอบกราบถวายอาลัย และคณะคชสารร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี โดยมีประชาชนที่รอบบริเวณร่วมร้องด้วยด้วยความตื่้นตันใจกับภาพที่เห็น
……………………………………………..
Photos : ชูศักดิ์ วรพิทักษ์ , ศราวุธ มิ่งขวัญ