หากเอ่ยถึง ‘ประวัติศาสตร์’ เชื่อว่าใครหลายคน ต้องกุมขมับ พร้อมกับทำหน้ามึนงง ก่อนจะตอบกลับด้วยเสียงแผ่วเบาว่า “เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ” เพราะต้องใช้เวลาศึกษาค้นคว้าข้อมูลเก่าๆ จากแหล่งอ้างอิงย้อนหลังไปหลายร้อยปี กว่าจะเข้าถึงและเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ทำให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว แท้ที่จริงคือเรื่องใกล้ตัวเรามากๆ โดยเฉพาะ ‘ประวัติศาสตร์ไทย’
แต่เมื่อกลางปีที่ผ่านมา คำว่า ‘วังหน้า’ กลายเป็นหนึ่งคำที่คุ้นหู หลังกรมศิลปากร ได้ริเริ่มโครงการการศึกษาสันนิษฐานรูปแบบพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และสื่อความหมายด้วยเทคโนโลยี ซึ่งมี ‘คุณใหม่ – สิริกิติยา เจนเซน’ รับทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโครงการฯ นำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในรูปแบบใหม่ต่อเนื่องกัน 3 ภาค


เริ่มจากภาคที่ 1 กับการจัดนิทรรศการ ‘วังน่านิมิต’ ระหว่างวันที่ 10 – 27 มิถุนายน 2561 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นิทรรศการเชิงรุกนอกพื้นที่วังหน้า (Outreach / Satellite Exhibition) โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือบอกเล่าประวัติความเป็นมาของพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งที่สยามประเทศมีพระมหากษัตริย์พร้อมกันสองพระองค์ สร้างองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์จากจินตนาการ ก่อนจะต่อยอดสู่ภาคที่ 2 “เวปไซต์” ในรูปแบบของนิทรรศการและคลังข้อมูลออนไลน์ เป็นการนำข้อมูลข้ออ้างอิงทั้งหมดที่คณะทำงานใช้สืบค้น มาเผยแพร่ในรูปแบบคลังข้อมูลเปิด ให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น



และเมื่อเร็วๆ นี้ ก็เดินทางมาถึง ภาคที่ 3 นิทรรศการพิเศษ “วังหน้านฤมิตในมิติแห่งกาลเวลา” ที่จัดขึ้น ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย และมุขกระสัน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยมีคุณใหม่ หนึ่งในทีมภัณฑารักษ์ ร่วมกับนาตาลี บูตัง และแมรี่ ปานสง่า ได้ให้เกียรตินำชมนิทรรศการฯ ในภาคสุดท้ายนี้ ซึ่งประกอบด้วยนิทรรศการ “นัยระนาบนอก อินซิทู : แปลงร่างอดีตในหลืบแห่งปัจจุบัน” (In Situ from the Outside: Reconfiguring the Past in Between the Present) ที่ต่อยอดมาจากนิทรรศการประวัติศาสตร์ ‘วังน่านิมิต’ ในภาคแรก


ทว่าครั้งนี้ คุณใหม่ตั้งใจโยงอดีตเข้าสู่บทสนทนาร่วมสมัยที่ท้าทายบทบาทดั้งเดิมของความเป็นพิพิธภัณฑ์ รื้อถอดแนวคิดที่มองประวัติศาสตร์เป็นลำดับเหตุการณ์ตายตัวตามหลักฐานที่พบ ทั้งในแง่รูปแบบและเนื้อหานิทรรศการ โดยร่วมสร้างบทสนทนาอันสำคัญที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทของเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในหลากพื้นที่ หลายช่วงเวลา พร้อมทั้งเน้นไปที่กระบวนการและการมองเห็นความสัมพันธ์ของผลงานศิลป์ ที่ได้เชิญ 7 ศิลปินร่วมสมัย นำโดยคุณธณัฐชัย บรรดาศักดิ์, คุณออน คาวารา, คุณอุดมศักดิ์ กฤษณมิษ, คุณนิพันธ์ โอฬารนิเวศน์, คุณปรัชญา พิณทอง, คุณฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช และหยัง โว มาร่วมถ่ายทอดผ่านการตั้งคำถามและสร้างสรรค์ผลงานโต้ตอบกับชั้นของเวลา รวมถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ซ้อนทับอยู่ในพื้นที่และสิ่งปลูกสร้างที่เคยได้ชื่อว่าเป็น ‘วังหน้า’



สอดรับกับเหตุผลที่คุณใหม่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นว่า “อยากให้ทุกคนมองประวัติศาสตร์ได้ในหลากหลายมิติ เพราะประวัติศาสตร์ไม่เคยหยุดนิ่งตามกาลเวลา ถ้าเราทุกคนช่วยกันเคลื่อนไหวประวัติศาสตร์ไปพร้อมๆ กัน โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงและทำความเข้าใจให้ได้เสียก่อน จะเป็นเรื่องที่ดีมาก”
นอกจากนี้ยังได้ขยายขอบเขตการจัดแสดง ผ่านกิจกรรมต่างๆ อีกมากมาย โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญ อาทิ นักภาษาศาสตร์ นักดนตรี นักผังเมือง สถาปนิก นักพฤกษศาสตร์ นักออกแบบ นักประวัติศาสตร์ศิลปะ มาร่วมนำเสนอผลงาน แสดงมุมมองและแรงบันดาลใจที่มีต่อประวัติศาสตร์ เช่น การเปิดวงเสวนาในหัวข้อ ผัสสะแห่งสิ่งที่จับต้องไม่ได้, นัยแห่งพระปรมาภิไธย และมองประวัติศาสตร์ผ่านสายตานักดนตรี,การแสดงของคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู และลิ้มรสอาหารมื้อพิเศษ จาก ‘เชฟตาม – ชุดารี เทพาคำ’ ที่จะมารังสรรค์อาหารจานใหม่จากตำรับเก่าแก่สมัยศตวรรษที่ 19 ในรูปแบบ Chef’s Table อีกทั้งได้นำสิ่งของจัดแสดงบางส่วนจาก “นิทรรศการวังน่านิมิต” กลับมานำเสนออีกครั้งอย่างน่าสนใจ

นิทรรศการพิเศษ “วังหน้านฤมิตในมิติแห่งกาลเวลา” เปิดให้ประชาชนเข้าชม ระหว่างวันที่ 6 มีนาคม –28 เมษายน 2562 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. – 16.00 น. (ปิดวันจันทร์ – อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย และมุขกระสัน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
Cr. HELLO! MAGAZINE PHOTO และ Fine Arts Department