Home > Events > ย้อนรอยสัมพันธ์สยามและชวาในสมัย ‘รัชกาลที่ 5’ ผ่านผืนผ้าบาติก

เนื่องในวันปิยมหาราช วันที่ 23 ตุลาคม 2564 หรือวันคล้ายวันสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดกิจกรรมเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณตลอดเดือนตุลาคมในรูปแบบออนไลน์ตามวิถีปกติใหม่ โดยมีไฮไลท์ที่งานเปิดนิทรรศการ “ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช: สายสัมพันธ์สยามและชวา” (QSMT Online Tour: The Third Batik Rotation) ซึ่งมีการเปลี่ยนวัตถุจัดแสดงใหม่เป็นครั้งที่ 3

นิทรรศการเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการครั้งแรก ผ่านการถ่ายทอดสด (Live) ทางเฟซบุ๊ก Queen Sirikit Museum of Textiles ของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม  2564 โดยได้รับเกียรติจาก ‘ฯพณฯ รัคมัต บูดีมัน’ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำประเทศไทย และ ‘คุณปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย’ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ร่วมกันกล่าวเปิดงาน

ฯพณฯ รัคมัต บูดีมัน เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำประเทศไทย กล่าวว่า “อินโดนีเซียและไทยมีประวัติศาสตร์ ค่านิยม และวัฒนธรรมร่วมกัน ซึ่งเป็นพื้นฐานที่มั่นคงของมิตรภาพระหว่างสองประเทศ พวกเราได้เห็นความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันยาวนานระหว่างสองประเทศตั้งแต่สมัยอาณาจักรโบราณในภูมิภาคนี้ การเสด็จเยือนชวาทั้ง 3 ครั้งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในศตวรรษที่ 19 และ 20 เป็นหลักฐานที่ชัดเจนถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ

ผ้าบาติกได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการว่าเป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมของอินโดนีเซียตั้งแต่ พ.ศ. 2552 หลังจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศให้ผ้าบาติกจากประเทศอินโดนีเซียเป็นผลงานชิ้นเอกด้านมุขปาฐะและมรดกวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพของมนุษยชาติ ดังนั้น ผ้าบาติกจึงถือว่าเป็นทั้งงานศิลปะและงานฝีมือ ซึ่งได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกมากขึ้น ในประเทศอินโดนีเซียเอง ผ้าบาติกถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ได้รับการสืบทอดและเก็บรักษาอย่างดีมาจนถึงปัจจุบัน” 

คุณปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย

ด้าน คุณปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ กล่าวว่า “นิทรรศการผ้าบาติกในพระปิยมหาราช : สายสัมพันธ์สยามและชวา จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการเสด็จเยือนชวาทั้งสามครั้ง และเพื่อตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาสามารถของพระองค์ที่ทรงรวบรวมวิทยาการและศิลปวัฒนธรรมมาปรับใช้ในการวางรากฐานพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืนสืบมาจนถึงปัจจุบัน

ในระหว่างการเสด็จเยือนชวา พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรกิจการต่าง ๆ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของชวา ซึ่งการเขียนผ้าบาติกถือเป็นงานหัตถศิลป์เลื่องชื่อของเกาะชวา มีลวดลายสวยงามเป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงทรงซื้อและมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย รวมทั้งสิ้นกว่า 300 ผืน แต่ละผืนมีความโดดเด่นทั้งในแง่ความงดงามของศิลปะและองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์การแต่งกายของชวา 

ผ้าบาติกดังกล่าวได้ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีโดยสำนักพระราชวังและยังไม่เคยนำออกมาจัดแสดงที่ใดมาก่อน จนกระทั่งพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำออกมาทำการศึกษาค้นคว้าและจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 รอบ ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนวัตถุจัดแสดงรอบที่ 3 หรือรอบสุดท้ายแล้ว”

ศาสตรัตน์ มัดดิน

 ในงานเปิดนิทรรศการออนไลน์มี ‘คุณศาสตรัตน์ มัดดิน’ ภัณฑารักษ์ เป็นผู้นำชม ซึ่งมีชิ้นไฮไลต์ อย่าง ผ้านุ่ง (โสร่ง) แบบบัง บิรู อูงัน จากเมืองลาเซ็ม หมายถึงผ้าบาติกที่ย้อมด้วยสีแดง สีน้ำเงิน และสีม่วง ผ้าผืนนี้แสดงถึงเอกลักษณ์ของผ้าบาติกเมืองลาเซ็มได้เป็นอย่างดี ลวดลายสื่อความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มลูกค้าสตรีเชื้อสายจีนและยุโรป ลายเถาไม้ที่เลื้อยขึ้นมาจากด้านล่างมีลักษณะคล้ายลายสาหร่าย (กังเกง) รับอิทธิพลมาจากลูกไม้ของฝั่งยุโรป

ผ้านุ่ง (กายน์ ปันจัง) ลายปาสแรน จากเมืองสุราการ์ตา หรือลายแม่โพสพหรือเทพีแห่งข้าว ผ้าผืนนี้เขียนลายร่มสื่อความหมายถึงการคุ้มครองป้องกัน ส่วนลายพัดหมายถึงความสงบสุข, ผ้าโพกศีรษะ (อิแกต เคพาลา) สันนิษฐานว่ามาจากเมืองจิเรบอน  ผ้าโพกศีรษะสำหรับบุรุษผืนนี้ เมื่อพิจารณาจากสีสันและลวดลาย เชื่อว่าผลิตที่เมืองจิเรบอน บริเวณชายฝั่งตอนเหนือของชวา เพื่อจำหน่ายให้ลูกค้าที่เมืองจัมบีบนเกาะสุมาตรา

ผ้านุ่ง (โสร่ง) แบบบัง บิรู อูงัน จากเมืองลาเซ็ม

พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้เปลี่ยนวัตถุจัดแสดงชุดเดิมออก เพื่อติดตั้งวัตถุจัดแสดงชุดที่ 3 ซึ่งเป็นผ้าบาติกผืนที่ไม่เคยจัดแสดงมาก่อน เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสชื่นชมความงดงามของผ้าบาติกในพระปิยมหาราชจากเมืองต่าง ๆ บนเกาะชวาอย่างทั่วถึงทางออนไลน์ โดยจัดแสดงแบบแยกตามภูมิภาคของท้องถิ่นที่สร้างสรรค์ชิ้นงาน ร่วมกับวิดีทัศน์ ตลอดจนคำอธิบายขั้นตอนการทำผ้าบาติก เพื่อให้ผู้ชมมีความรู้ความเข้าใจดียิ่งขึ้น

ผ้านุ่ง (กายน์ ปันจัง) ลายปาสแรน จากเมืองสุราการ์ตา

ผู้สนใจสามารถติดตามเบื้องหลังเบื้องลึกการติดตั้งวัตถุจัดแสดงรอบที่ 3 ของนิทรรศการ “ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช: สายสัมพันธ์สยามและชวา” พร้อมสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำงาน เพื่อให้ผู้ชมได้ทราบถึงขั้นตอนและรายละเอียดในการติดตั้งนิทรรศการได้ในวันพุธที่ 20 ตุลาคม เวลา 11.00 น. เป็นต้นไป

ผ้าโพกศีรษะ (อิแกต เคพาลา)

และในวันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม เวลา 11.00 น. เป็นต้นไป เปิดให้ช็อปสินค้าผ่านทางออนไลน์ ในกิจกรรม Shop from Home with QSMT: New Batik Collection สินค้าคอลเลกชันใหม่จากนิทรรศการ “ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช: สายสัมพันธ์สยามและชวา” และโปรโมชันเมื่อซื้อสินค้าบาติกจากคอลเลกชันเก่าและคอลเลกชันใหม่รวมกัน พร้อมมอบส่วนลด 5% ในระหว่างการเข้าร่วมกิจกรรม โดยจะจัดจำหน่ายผ่านการถ่ายทอดสด (Live) ทางเฟซบุ๊ก Queen Sirikit Museum of Textiles ของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ

Courtesy Photo Queen Sirikit Museum of Textiles

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.