เมื่อไม่นานมานี้…นับเป็นโอกาสที่ดีของชาวไทยที่ได้มีโอกาสชมความงดงามและการเปลี่ยนของสยามประเทศตั้งแต่สมัยโบราณ เมื่อศูนย์การค้า ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อกร่วมกับ บริษัท สำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์ จำกัด จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายโบราณและศิลปวัตถุร่วมสมัย ‘ สยามผ่านมุมกล้องจอห์น ทอมสัน พ.ศ.2408 – 2409’ โอกาสสุดท้ายของการชม ‘60 ภาพถ่ายโบราณ’ ที่หาดูได้ยากภายใต้การสนับสนุนจากสถาบันเวลคัมแห่งกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดย ‘ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์’ ประธานคณะกรรมการจัดนิทรรศการและภัณฑารักษ์ ณ ห้องอาร์ซีบี แกลลอเรีย ชั้น 2 ศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ก่อนส่งคืนเจ้าของลิขสิทธิ์
วรพงศ์ สุขธีรอนันตชัย และ ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์
บริเวณด้านหน้าของนิทรรศการภาพถ่ายฯ
ช่างภาพชาวสกอตแลนด์ ‘จอห์น ทอมสัน’ (John Thomson) เดินทางเข้ามาประเทศไทยในช่วง พ.ศ. 2408 – 2409 โดยเป็นช่างภาพชาวต่างชาติที่มีโอกาสฉายพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เพราะ พระองค์โปรดเกล้าฯให้จอห์นเข้าเฝ้าฯ เพื่อฉายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์โดยเฉพาะในพระบรมมหาราชวัง ถึงแม้ว่าจอห์นจะไม่ใช่ช่างภาพคนแรกที่ได้ถ่ายในพระราชสำนักแต่ภาพของเขาสามารถนำมาตีพิมพ์ซ้ำได้ และพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 4 ที่ถูกส่งไปถึงกษัตริย์ของอังกฤษและประธานาธิบดีในสมัยนั้นก็มาจากฝีมือจอห์น ทอมสัน ทำให้ประเทศเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วโลก
การจัดแสดงนิทรรศการห้องแรกภาพถ่าย หัวข้อ ‘พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ และสามัญชน’
ภายในนิทรรศการแบ่งออกเป็น4 ห้อง เริ่มต้นที่ ห้องแรกจัดแสดงภาพถ่ายในหัวข้อ ‘พระมหากษัตริย์พระราชวงศ์ และสามัญชน’ ห้องที่ 2ภาพถ่าย ‘พระราชพิธีและสิ่งเกี่ยวเนื่อง’ห้องที่ 3 เป็นภาพถ่าย ‘พระนครและหัวเมืองต่างๆ’ ห้องสุดท้ายเป็นภาพถ่าย‘นครวัด กัมพูชา และเมืองชายฝั่งประเทศจีน
การจัดแสดงนิทรรศการห้องที่ 4 ‘ภาพถ่ายนครวัดกัมพูชา และเมืองชายฝั่งประเทศจีน’
’แม้จะผ่านกาลเวลามาแล้วกว่า 150 ปีพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 หลายภาพยังมีความคมชัดมาก พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 5เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ก่อนจะทรงเข้าพระราชพิธีโสกันต์ (โกนจุก) รวมถึงพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 4ทรงฉลองพระองค์ชุดครุยทองคำตามโบราณราชประเพณี ชุดโจงกระเบนคาดรัดพระองค์ทองคำ ประทับบนพระที่นั่ง ตั้งเครื่องประกอบพระอิสริยยศเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่เคยจัดแสดงในงานเอ็กซ์โป ณ กรุงปารีส เมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา รวมถึงภาพพาโนรามาของสยามที่ถ่ายจากพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามให้เห็นทิวทัศน์ของแม่น้ำเจ้าพระยา ก็เป็นภาพสำคัญที่สุดของจอห์น ทอมสันที่ใช้ภาพถ่าย 3 ภาพมาต่อกัน แสดงให้เห็นทั้งขนบธรรมเนียมในวัง ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านยุคนั้น
เครื่องกระเบื้องกังไส
นอกจากนี้ยังมีศิลปวัตถุที่นำมาจัดแสดงประกอบภาพถ่าย อายุตั้งแต่130 – 150 ปี ไม่ว่าจะเป็น เครื่องเงินถมทอง เครื่องเงินกะไหล่ทอง เครื่องกระเบื้องกังไส ฯลฯ ซึ่งจะเห็นว่าภาพถ่ายบุคคลแต่ละภาพจะมีข้าวของเครื่องใช้จัดวางเป็นองค์ประกอบของภาพด้วย เนื่องจากสมัยก่อนจะไม่มีเครื่องราชอิสริยยศ เพิ่งจะเริ่มมีในสมัยรัชกาลที่ 5