Hello! Thailand รวบรวมรวบย่อในคลิปวีดีโอ 4นาที เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งในชีวิต พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องกลาง ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา และเราจะอัพเดทพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องปลายซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนนี้ วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2562 ที่ใกล้จะถึงนี้ นับว่าเป็นอีกหนึ่งปีสำคัญ ครั้งหนึ่งในชีวิตของคนไทยเรา
อันที่จริงแล้ว กำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในช่วงวันที่ 4– 6 พฤษภาคม 2562 นั้นเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องกลาง โดย
พิธีพระบรมราชาภิเษกเบื้องต้น
เริ่มขึ้นในช่วงเดือนเมษายน ของปีนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2562 โดยเวลา 11.52-12.38 น. มีพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์พร้อมกันทั่วประเทศ โดยผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดเป็นประธาน ส่วนพิธีพลีกรรมตักน้ำสำหรับจัดทำน้ำสรงพระมุรธาภิเษก กระทรวงมหาดไทยมอบหมายให้ผู้บริหาร คือ ปลัดกระทรวง และรองปลัดกระทรวง เป็นประธาน ต่อมาวันที่ 8 เมษายน เวลา 17.10-22.00 น. พิธีทำน้ำอภิเษก ณ พระอารามหลวงประจำจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ส่วนพิธีจัดทำน้ำสรงพระมุรธาภิเษกใน 6 จังหวัด กระทรวงมหาดไทยมอบหมายให้ผู้บริหาร คือ ปลัดกระทรวง และรองปลัดกระทรวง เป็นประธาน
ในวันที่ 9 เมษายน เวลา 12.00 น. มีกิจกรรมเวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษก ณ พระอารามหลวงประจำจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานฝ่ายฆราวาส ต่อมาวันที่ 10 เมษายน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชิญคนโทน้ำอภิเษกจากแต่ละจังหวัดไปเก็บรักษาที่กระทรวงมหาดไทย และวันที่18 เมษายน เวลา 10.00 น. ได้มีขบวนแห่เชิญน้ำอภิเษกเริ่มเคลื่อนขบวนจากกระทรวงมหาดไทยไปยังวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ผู้ที่อยู่ในขบวนแห่ประกอบด้วย ขบวนดุริยางค์กองทัพบก ขบวนธงชาติ รถแห่น้ำอภิเษก คณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้เชิญคนโท ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการทุกจังหวัด รถตำรวจนำขบวนและปิดท้ายขบวน โดยเวลา 17.19-21.30 น. ทำพิธีเสกน้ำอภิเษกรวม ณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ในวันที่ 19 เมษายน เวลา 07.30 น. ริ้วขบวนแห่เชิญคนโทน้ำอภิเษก จำนวน 86 ใบ จากวัดสุทัศนเทพวรารามฯ ไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ริ้วขบวนแห่ประกอบด้วย ขบวนดุริยางค์กองทัพเรือ ขบวนธงชาติ ผู้เชิญพานดอกไม้ธูปเทียนแพ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงมหาดไทย ผู้เชิญพุ่มทอง-พุ่มเงิน พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด รถแห่น้ำอภิเษก คณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้เชิญคนโท ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจกระทรวงมหาดไทย ขบวนดุริยางค์กองทัพอากาศ

และท้ายสุดของเดือน คือวันที่ 22-23 เมษายน พิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ จารึกดวงพระบรมราชสมภพ แกะพระราชลัญจกร และจารึกพระสุพรรณบัฏพระบรมวงศ์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นการเตรียมริ้วขบวน และทำพิธีการเตรียมน้ำอภิเษก และน้ำสรงพระมุรธาภิเษก วันที่ 22-23 เมษายน มีพิธีการจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ แกะพระราชลัญจกร และจารึกพระสุพรรณบัฏพระบรมวงศ์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากนั้นจึงเข้าสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องกลาง
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องกลาง
เริ่มเมื่อวันที่ 4-6 พฤษภาคม ก่อนหน้านั้น วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีสุทิดา ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงได้รับการสถาปนา ทรงดำรงตำแหน่งพระอิสริยยศ ฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ทรงพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี
ต่อมาวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรเสด็จพระราชดำเนินถวายราชสักการะพระบรมราชานุสรณ์ พระลานพระราชวังดุสิต ปฐมบรมราชานุสรณ์ สะพานพระพุทธยอดฟ้า และเสด็จพระราชดำเนินบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์

วันที่ 3 พฤษภาคม 2562 มรการประกาศการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในเวลา 10.00 น. เชิญพระสุพรรณบัฏ ดวงพระราชสมภพและพระราชลัญจกร ไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ จากนั้นในช่วงเย็น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร นมัสการพระรัตนตรัย ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถวายบังคมพระบรมอัฐิและพระอัฐิ และจุดเทียนชัย หลังจากนั้นพระสงฆ์ประกาศการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเจริญพระพุทธมนต์
วันที่ 4 พฤษภาคม 2562 เวลา 10.00 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคล ประกาศพระองค์เป็นศาสนูปถัมภก ถวายบังคมพระบรมอัฐิและพระอัฐิ สดับปกรณ์ และเฉลิมพระราชมณเฑียร โดยมีพระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล ทรงสรงมุรธาภิเษก ณ ชาลาพระที่นั่งจักพรรดิพิมาน และทรงรับน้ำอภิเษก ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ และทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ขัตติยราชวราภรณ์ และพระแสง ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ทรงเป็น “พระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์” หลังเข้าพิธีสรงพระมุรธาภิเษก ทรงรับน้ำอภิเษก และทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎ ในวันนี้ โดยทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” ต่อมา เวลา 14.00 น. ทรงเสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย หลังจากนั้น เวลา 16.00 น. ทรงเสด็จฯ โดยขบวนราบใหญ่ไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ปราสาทพระเทพบิดร และพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เจ้าพนักงานเวียนเทียนสมโภช ณ หมู่พระมหามณเฑียร เฉลิมพระราชมณเฑียร เถลิงพระแท่นราชบรรจถรณ์ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

วันที่ 5 พฤษภาคม 2562 เป็นพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย สถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ และเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราสถลมารค โดยพิธีเริ่มตั้งแต่ 9.00 น. ตามเวลา มีการประกอบพระราชพิธี เฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์เลี้ยงพระเทศน์ ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย

ในเย็นวันนั้น เวลา 16.30 น. เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค โดยเสด็จจากพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท ออกจากพระบรมมหาราชวังทางประตูวิเศษไชยศรี ไปตามถนนราชดำเนินใน ถนนราชดำเนินกลาง เลี้ยวซ้ายเข้าถนนตะนาวไปยังวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร จากนั้นออกจากวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เลี้ยวขวาไปยังถนนพระสุเมรุ เลี้ยวขวาเข้าถนนราชดำเนิน เลี้ยวซ้ายถนนอัษฎางค์ที่แยกคอกวัว ตรงไปยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ออกจากวัดราชบพิธฯ เลี้ยวขวาเข้าถนนเจริญกรุง ตรงไปยังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ ออกจากวัดพระเชตุพนฯ เลี้ยวขวาเข้าถนนมหาราช เลี้ยวเข้าไปยังพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง รวมระยะทางเสด็จ 6.77 กม. ซึ่งเปิดให้ประชาชนเฝ้ารับเสด็จตลอดเส้นทาง

วันที่ 6 พฤษภาคม 2562 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ตามเวลา 16.30 น.ให้ประชาชนเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นเวลา17.30 น. เสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ให้คณะทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล โดยทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบขอบใจคนไทยทั้งชาติว่า “ข้าพเจ้าและพระราชินีรู้สึกยินดีและปลื้มใจมากที่ได้เห็นประชาชนทั้งหลายมีไมตรีจิตพร้อมเพรียงกันมาร่วมแสดงความปรารถนาดีในวาระบรมราชาภิเษกของข้าพเจ้าครั้งนี้ ความพร้อมเพรียงของท่านทั้งหลาย ในการแสดงไมตรีจิตแก่ข้าพเจ้าในครั้งนี้ จงเป็นนิมิตหมายอันดีที่ทุกคนทุกฝ่ายจะพร้อมกันบำเพ็ญกรณียกิจ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติของเราต่อไป ขอขอบใจในคำอวยพรซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ในนามทุกคน และขอสนองพรให้ทุกท่านมีความผาสุกสวัสดี พร้อมทั้งความสำเร็จในสิ่งอันพึงปรารถนาโดยทั่วกัน”
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องปลาย
หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องกลาง จะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องปลาย ซึ่งจะเป็นการโดยเสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งพระกรุณาโปรดเกล้าฯ โดยจะจัดขึ้นในช่วงการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม วันที่ 12 ธันวาคม 2562 ถือเป็นประเพณีอันงดงาม และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของไทยที่สืบทอดมายาวนานจนถึงปัจจุบัน
ข้อมูลจากเว็บไซต์คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระบุว่า ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค หมายถึง ริ้วขบวนเรือพระราชพิธีที่จัดขึ้นสำหรับพระเจ้าอยู่หัว และ เรือพระราชพิธี คือ เรือพระที่นั่งของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่ประทับในระหว่างเสด็จพระราชดำเนินไปในการต่าง ๆ มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยสืบทอดต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ จนถึงปัจจุบัน และ เรียกอย่างเป็นทางการว่า “กระบวนพยุหยาตราชลมารค”
ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคมีการจัดริ้วกระบวนโดยแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ ขบวนพยุหยาตราใหญ่ และขบวนพยุหยาตราน้อย ซึ่งเรือพระที่นั่งจะแวดล้อมไปด้วยริ้วขบวนเรือของขุนนาง และทหารในกองกรมต่าง ๆ ที่เรียกว่าเรือหลวง โดยการจัดเรียงลำดับเรือต่าง ๆ เป็นไปตามแบบแผนของการจัดทัพที่มีมาแต่โบราณ แบ่งออกเป็น 5 ตอน คือ ขบวนนอกหน้า ขบวนในหน้า ขบวนเรือพระราชยาน ขบวนในหลัง และขบวนนอกหลัง เต็มไปด้วยความสวยงาม ความโอ่อ่าตระการตา และความมีระเบียบสมกับเป็นประเพณีของชาติ ที่มีอารยธรรมอันสูงส่งมาแต่โบราณกาล ระยะห่างจากการจัดพระราชพิธีดังกล่าวครั้งสุดท้ายในสมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2469 จึงห่างจากพระราชพิธีนี้ในวันที่ 24 ตุลาคมนี้ ถึง 93 ปีด้วยกัน
โดยจัดรูปขบวนเรือตามแบบโบราณราชประเพณีเช่นเดียวกับของปี พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นการจัดขบวนเรือในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี แบ่งการจัดริ้วขบวนเป็น 5 ริ้ว 3 สาย เสมือนดั่งธงชาติไทย ประกอบไปด้วย เรือพระราชพิธี 52 ลำ โดยใช้กำลังพลจากกองทัพเรือกว่า 2,200 นาย เข้าประจำเรือพระราชพิธี โดยมีเส้นทางจากท่าวาสุกรี ถึงท่าราชวรดิฐ โดยริ้วสายกลาง เป็นเรือสายสำคัญ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ นอกจากนี้มี เรืออีเหลือง (เรือกลองนอก) เรือแตงโม (เรือกลองใน) ซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือ พร้อมด้วยเรือตำรวจ 3 ลำ และเรือแซง 1 ลำ และเรืออื่น ๆ เช่น เรือรูปสัตว์ เรือแซง เรือดั้งฯ
โปรดติดตามพิธีบรมราชาภิเษกการเสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ที่ใกล้จะถึงนี้ โดยHello Thailand! จะรวบรวมไฮไลท์เหตุการณ์สำคัญมานำเสนอ
หมายเหตุ
1. ข้อมูลจากเว็ปไซต์ https://phralan.in.th/coronation คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
2. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุว่า กระบวนพยุหยาตราชลมารค หรือ กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นคำเดียวกันโดยคำว่าทางเป็นคำบุรพบท หรือคำเชื่อมซึ่งหมายถึง‘ด้วย’หรือ‘โดย’