สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 5 เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยม (ภายหลังได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา) มีพระอิสริยยศเมื่อแรกประสูติคือพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี พระราชสมภพในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันศุกร์เดือนอ้าย แรม 7 ค่ำ ปีกุน เบญศก จ.ศ.1225 ซึ่งตรงกับวันที่ 1มกราคม พ.ศ.2407
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์กรมขุนพินิตประชานารถเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระฐานันดรศักดิ์จึงเปลี่ยนเป็นพระเจ้าน้องนางเธอพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี
เมื่อพระเจ้าน้องนางเธอพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรีเจริญพระชันษาขึ้นมีพระสิริโฉมงดงามเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเข้ารับราชการเป็นพระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5 ขณะที่มีพระชนมายุ 15 พรรษา โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาพระองค์ให้เป็นพระนางเธอพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรีและในปีถัดมาก็ได้รับการสถาปนาเป็นพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระราชเทวี ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธฯ พระราชโอรสในพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระวรราชเทวีขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ต่อไป พร้อมทั้งสถาปนาพระอิสริยยศของพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระวรราชเทวีขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระอัครราชเทวี ในฐานะเป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่ ซึ่งเป็นพระยศพระอัครมเหสีเช่นเดียวกับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสทวีปยุโรปใน พ.ศ.2440 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระอัครราชเทวีทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งทรงปฏิบัติราชการแผ่นดินได้เรียบร้อยเป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น ‘สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระบรมราชินีนาถ’ ซึ่งถือว่าทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์และของราชอาณาจักรสยามหรือประเทศไทยในขณะนั้น
เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธสยามมกุฎราชกุมารได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เฉลิมพระปรมาภิไธยว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการประกาศเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระบรมราชชนนีว่า‘สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนี’บางครั้งออกพระนามว่า‘สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง’
พระราชกรณียกิจในฐานะสมเด็จพระบรมราชินีนาถ
ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจไว้มากมายนานัปการทั้งด้านการศึกษาการศาสนาการทหารการเกษตรและการสาธารณประโยชน์ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งโรงเรียนสำหรับเด็กหญิงแห่งที่สองขึ้นในกรุงเทพมหานครและพระราชทานชื่อว่า ‘โรงเรียนสตรีบำรุงวิชา’และในพ.ศ.2447ทรงเปิดโรงเรียนสำหรับกุลธิดาของข้าราชสำนักและบุคคลชั้นสูงคือ‘โรงเรียนสุนันทาลัย’ให้การอบรมด้านการบ้านการเรือนกิริยามารยาทและวิชาการต่างๆอีกทั้งทรงจ่ายเงินเดือนครูและค่าใช้สอยต่างๆสำหรับเป็นค่าเล่าเรียนแก่กุลบุตรกุลธิดาของข้าราชการใหญ่น้อยและราษฎรอีกเป็นจำนวนมากทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ตั้งโรงเรียนและจ่ายเงินเดือนครูในโรงเรียนต่างๆ
ทรงสนับสนุนการก่อตั้งโรงพยาบาลศิริราชซึ่งนับว่าเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทยและพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ตั้งโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ขึ้นในโรงพยาบาลแห่งนี้สำหรับเป็นสถานศึกษาวิชาพยาบาลและผดุงครรภ์ของสตรีทั้งยังทรงจ่ายเงินเดือนแพทย์มิชชันนารีช่วยเหลือค่าใช้จ่ายตลอดจนค่าอาหารของนักเรียนและพระราชทานพระราชทรัพย์ให้แก่หญิงอนาถาที่มาคลอดบุตรในโรงพยาบาลศิริราชเพื่อเป็นค่าใช้สอยทุกคน
พระองค์ทรงเป็นผู้นำชักชวนสตรีไทยให้เลิกการคลอดบุตรในลักษณะที่ต้องอยู่ไฟมาใช้วิธีการพยาบาลแบบสากลที่สุขสบายและได้ผลดีกว่า นอกจากนี้พระองค์ยังมีพระราชดำริจัดตั้งสภาอุณาโลมแดงและได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดสร้างขึ้นในพ.ศ.2436 เพื่อเป็นศูนย์กลางบรรเทาทุกข์ช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยซึ่งต่อมาภายหลังที่ได้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศสเรื่องเขตแดนริมฝั่งแม่น้ำโขงอันนำมาซึ่งการบาดเจ็บให้กับทหารและราษฎรจำนวนมาก สภาอุณาโลมแดงได้เป็นศูนย์กลางในการบรรเทาทุกข์ลงอย่างมากหลังจากวิกฤติการณ์ดังกล่าวสภาอุณาโลมแดงจึงใช้ชื่อว่าสภากาชาดสยามซึ่งแปรเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และสภากาชาดไทยในปัจจุบัน
ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่ออาณาประชาราษฎร์ไว้มากมายนานัปการจนกระทั่งเสด็จสวรรคตในวันที่20ตุลาคมพ.ศ.2462สิริพระชนมายุ56พรรษา
สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระองค์ที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 พระนามเดิมคือหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์กิติยากรพระธิดาพระองค์ใหญ่ในหม่อมเจ้านักขัตรมงคลกิติยากร (ภายหลังเป็นพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้านักขัตรมงคลกรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) ประสูติแต่หม่อมหลวงบัวกิติยากร (ราชสกุลเดิมสนิทวงศ์) เมื่อวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2475 ณ บ้านของพลเอกเจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์(หม่อมราชวงศ์สท้านสนิทวงศ์) อันเป็นบ้านของพระอัยกาฝ่ายพระมารดา
สำหรับพระนาม‘สิริกิติ์’ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีความหมายว่า‘ผู้เป็นศรีแห่งกิติยากร’พ.ศ.2489 ครั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ต้องเสด็จไปทรงดำรงตำแหน่งอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำราชสำนักเซนต์เจมส์ประเทศอังกฤษทั้งนี้ได้ทรงพาครอบครัวทั้งหมดไปอยู่ด้วยในเวลานั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์มีอายุได้ 13 ปีเศษและเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้ว
ขณะที่อยู่ในประเทศอังกฤษหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้ศึกษาต่อทั้งวิชาภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสและวิชาเปียโนกับครูพิเศษ หลังจากนั้นไม่นานพระบิดาย้ายไปประจำ ณ ประเทศเดนมาร์กและฝรั่งเศสตามลำดับ ระหว่างที่อยู่ในประเทศฝรั่งเศสหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้มีโอกาสรับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) ซึ่งเสด็จฯไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งพระองค์เสด็จประพาสกรุงปารีสเพื่อทอดพระเนตรโรงงานทำรถยนต์ทั้งนี้เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชโปรดการดนตรีและศิลปะเป็นพิเศษขณะที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ก็สนใจศิลปะเช่นเดียวกัน ประกอบกับรูปโฉมที่งดงามและกิริยามารยาทที่เรียบร้อยจึงเป็นที่พอพระราชหฤทัยในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชยิ่งนัก และได้ทรงหมั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์กิติยากรเป็นการภายในเมื่อวันที่19กรกฎาคม พ.ศ.2492 เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2493
พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์กิติยากรจึงจัดขึ้น ณ พระตำหนักใหญ่ในวังสระปทุมโดย ทรงลงพระปรมาภิไธยในทะเบียนสมรสและโปรดให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์กิติยากรพร้อมทั้งสักขีพยานลงนามในทะเบียนสมรส หลังจากนั้นสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จออกในพระราชพิธีถวายน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและทรงรดน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์แก่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์กิติยากรในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสตามโบราณราชประเพณี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์กิติยากรขึ้นเป็น ‘สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์’
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณตามโบราณราชประเพณีเมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้วย่อมโปรดให้สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระอัครมเหสีขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินีดังนั้นพระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินี
เมื่อ พ.ศ.2499 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชประสงค์จะทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุระหว่างวันที่ 22ตุลาคมถึง 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2499 เป็นระยะเวลา 15 วัน จึงต้องมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนั้นจึงมีพระราชดำริว่าสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีเป็นผู้มีพระปรีชาสามารถในอันที่จะรับพระราชภารกิจในคราวนี้ได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ทรงพระผนวช
ต่อมาในวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2499 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการประกาศให้เฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีว่า‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ’นับว่าทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์ที่2แห่งกรุงรัตนโกสินทร์และราชอาณาจักรไทย
พระราชกรณียกิจในฐานะสมเด็จพระบรมราชินีนาถ
ทรงอุทิศพระองค์โดยการทรงงานตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเพื่อให้ราษฎรหลุดพ้นจากความยากจนด้วยการพระราชทานอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ในการทรงงานดังกล่าวทรงเริ่มต้นและทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์อยู่เป็นเวลานานต่อมาข้าราชบริพารได้รวบรวมมีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินโดยเสด็จพระราชกุศลนำเงินขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในพระบรมราชินูปถัมภ์เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2519 ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็นมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถทรงรับเป็นประธานกรรมการบริหารของมูลนิธิฯและทรงงานศิลปาชีพมาอย่างต่อเนื่องอันเป็นการส่งเสริมอาชีพ
ขณะเดียวกันยังอนุรักษ์และส่งเสริมงานศิลปะพื้นบ้านที่มีความงดงามหลายสาขาเช่นงานทอผ้าไหมประเภทต่างๆงานปักซอยแบบไทยการจักสานย่านลิเภางานประดับปีกแมลงทับเป็นต้นนอกจากนี้ยังเอาพระราชหฤทัยใส่ในกิจการด้านสาธารณสุขโดยได้ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทยและหากเสด็จฯเยือนต่างประเทศก็มักจะทรงถือโอกาสเสด็จฯไปทอดพระเนตรกิจการกาชาดของประเทศนั้นๆเพื่อทรงนำมาปรับปรุงกิจการสภากาชาดไทยอยู่เสมอ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเคียงคู่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นระยะเวลาเกือบ 70ปี จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคตในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 แต่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถก็ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและเพื่อปวงชนชาวไทยสืบไป