วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 เมื่อรถยนต์พระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคลื่อนออกไปช้าๆนาทีนั้นมีใครคนหนึ่งตะโกนขึ้นดังๆ ว่า “…อย่าละทิ้งประชาชน….” ทำให้ทรงตั้งสัจจะในพระราชหฤทัยว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้”
ชีวิตส่วนพระองค์
วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2491 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้รับบาดเจ็บ ส่งผลมายังพระเนตรทำให้ทรงพักฟื้นอยู่นาน เป็นจุดเริ่มต้นของความรักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาของ ม.จ.นักขัตรมงคล กิติยากร เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส ต่อมาในเดือนกรกฎาคมประชาชนชาวไทยก็ได้รับข่าวอันน่าชื่นชมยินดี ด้วยมีพระราชพิธีทรงหมั้นจัดขึ้นเป็นการภายใน ณ โรงแรมวินด์เซอร์ ในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 และในวันเกิดของพระคู่หมั้นครบรอบ 17 ปี ในค่ำวันที่ 12 สิงหาคม 2492 ก็มีงานพระราชทานเลี้ยงฉลองที่สถานทูตไทยในกรุงลอนดอน
หลังพระราชพิธีทรงหมั้นผ่านไป 7 เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯนิวัติประเทศไทยทางชลมารค โดยมีพระคู่หมั้นและครอบครัวรวมถึงข้าราชบริพารตามเสด็จฯ หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลประมาณ1 เดือน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้นในวันที่ 28 เมษายน 2493 โดยสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสพระราชทาน ณ วังสระปทุม ซึ่งเป็นวันที่ชาวไทยได้ชื่นชมพระบารมีของพระเจ้าอยู่หัวและพระคู่หมั้นเยาว์ชันษาเพียง 17 ปีเศษที่กลายมาเป็นพระราชินีอย่างเต็มตัว ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยแสดงให้เห็นพระราชจรรยาที่จะทรงดำเนินในระบอบประชาธิปไตยเฉกเช่นคนทั่วไป

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีของไทย จารึกพระปรมาภิไธยว่า ‘พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร’ มีพระปฐมบรมราชโองการพระราชทานอารักขาแก่พสกนิกรชาวไทยทั้งหลายว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ส่วนสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ พระอัครมเหสีทรงได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นเป็น ‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินี’ จากนั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อจนจบการศึกษา ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์และพระปฐมบรมราชโองการนั้น ก็ได้รับพิสูจน์จากปวงชนชาวไทยว่าทรงปฎิบัติตามนั้นทุกประการ ตั้งแต่บัดนั้นจนกระทั่งทุกวันนี้
พระเกียรติคุณแผ่ไพศาลทั่วทุกสารทิศ
ในระหว่างปี พ.ศ. 2498 – 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯเยือนประเทศต่างๆในทวีปเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย รวม 27 ประเทศ เพื่อทรงเจริญสัมพันธไมตรีอย่างเป็นทางการตามธรรมเนียมการทูตในระหว่างปี พ.ศ. 2502 ถึง 2510 ในการเสด็จฯเยือนต่างประเทศครั้งนั้น ทั้งสองพระองค์ทรงประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น ทำให้ชาวต่างชาติรู้จักประเทศไทยดียิ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นที่ยกย่องอย่างสูงในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งองค์การสหประชาชาติและองค์กรอื่นๆ ได้ทูลเกล้าฯถวายรางวัลและปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกมากมายในหมู่พระมหากษัตริย์ของโลก
ในการฉลองทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีครานั้น สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน ในฐานะทรงเป็นผู้แทนพระราชวงศ์ที่เสด็จฯมาถวายพระพรในวันนั้น ได้มีพระราชดำรัสยกย่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าทรงเป็น “ทั้งเพื่อนและเพื่อนร่วมงานที่ได้รับความเคารพนับถือที่สุด….ทรงเป็นแรงบันดาลใจให้กับปวงข้าพระพุทธเจ้า…..ซึ่งขอยกย่องไว้อย่างสูง” อีกด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งพระราชหฤทัยแน่วแน่ที่จะทรงเสียสละความสุขสบายส่วนพระองค์ เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่เดือดร้อน ทรงใช้เวลาว่างจากพระราชภารกิจเสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรตามท้องถิ่นทุรกันดารต่างๆไม่ว่าจะทรงลำบากสักเพียงใด เมื่อทรงพบกับราษฎรที่มาเฝ้าฯรับเสด็จ ก็จะมีพระราชดำรัสถามทุกข์สุขอย่างใกล้ชิดสนิทสนม พร้อมกับพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคให้แก่ราษฎรอย่างทั่วถึง ทรงแก้ไขปัญหาของราษฎรให้ลุล่วงทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว
70 ปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงานอย่างหนัก หากจะถามว่า“หนักเกินหน้าที่พระมหากษัตริย์หรือไม่? “ก็คงต้องตอบว่า “ใช่”
……………………………………………………..
PHOTOS: สำนักพระราชวัง