Home > Royalty > สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จฯแทนพระองค์ในงาน ‘ศิลป์แผ่นดิน’ครั้งที่ 7

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ ฯ แทนพระองค์ทรงเปิด ‘เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์’ ศิลปกรรมชิ้นเอกทรงคุณค่าในงาน ‘ศิลป์แผ่นดิน’ ครั้งที่ 7 โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรองศาสตราจารย์นราพร จันทร์โอชา ภริยา พร้อมด้วยคณะทูตานุทูตจากประเทศต่างๆประจำประเทศไทยรวม 20 ประเทศ และคณะรัฐมนตรีเฝ้าฯ รับเสด็จ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต

ท่านผู้หญิงสุภรภ์เพ็ญ หลวงเทพนิมิต รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงาน กล่าวว่าในปี พ.ศ. 2559 นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สถาบันสิริกิติ์ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ฯ จัดสร้างเรือนยอด ณ บริเวณสนามด้านทิศตะวันออกของพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามศิลปะชิ้นเอกนี้ว่า ‘เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์’ อันหมายถึงเรือนยอดที่สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติในโอกาสอันเป็นมงคลยิ่งใหญ่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี ในพุทธศักราช 2559 และในโอกาสมหามงคลที่จะทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา 5 ธันวาคม 2560 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ 28 กรกฎาคม 2555 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จะทรงเจริญพระชันษาครบ 5 รอบ 4 กรกฎาคม 2560 และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี ทรงเจริญพระชันษาครบ 5 รอบ 5 เมษายน พุทธศักราช 2554

ความงามอันโดดเด่นทางศิลปะของเรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์

1.เป็นการสร้างเรือนยอด 9 ยอดครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการสร้างเรือนยอดเพียง 5 ยอด

2.เป็นอาคารที่มีโครงสร้างภายในและเครื่องประดับตกแต่งทั้งหมดเป็นโลหะหลังแรกในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทยและกรุงรัตนโกสินทร์ ตกแต่งด้วยหินอ่อนคาราร่าเหมืองเดียวกับพระที่นั่งอนันตสมาคม และปิดทองประดับกระจก

3.มีพรหมพักตร์ 4 ทิศประดับกระจก พระพรหมเป็นเทพบนสวรรค์ หันพระพักตร์ไป 4 ทิศเพื่อดูแลทุกข์สุขของมนุษย์ เปรียบประหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทอดพระเนตรทุกข์สุขของราษฎรถ้วนหน้า

4.มีสระอโนดาด 4 ทิศ มีศีรษะสัตว์พ่นน้ำออกมา คือ ช้าง ม้า สิงห์โต วัว ในคติเรื่องเขาพระสุเมรุกล่าวว่าโลกมนุษย์ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ ที่เชิงเขามีสระอโนดาดที่ให้น้ำหล่อเลี้ยงมนุษยโลกทั้งหมด และเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำ 4 สาย คือคงคา ยมุนา สินธุ พรหมบุตร

5.ช้างเผือกประจำรัชกาลที่ 9 รวม 10 ช้าง เรียงอยู่รายรอบพร้อมชื่อจารึก และอยู่ในอากัปกิริยาที่แตกต่างกัน แต่ทุกช้างล้วนชูงวงเพื่อสมโภชยินดี

6.บันไดทางขึ้นประดับตกแต่งด้วยศีรษะของมนุษยนาค หล่อด้วยโลหะอย่างวิจิตร ทุกทิศไม่เหมือนกันและไม่เหมือนที่ไหนในโลก

7.เสาทั้ง 48 ต้นแบ่งเป็นเสาร่วมนอกและเสาร่วมใน เสาร่วมนอกเป็นเสาที่มีท้องเสาประดับด้วยลายหงส์ใส่กรอบซุ้มโดยรอบทั้ง 4 ทิศ ตอนบนเป็นลายราชวัตร ปลายซุ้มประดับอุบะ ทั้งหมดเป็นงานโลหะหล่อลงรักปิดทอง สวยงามอร่ามตระการตา เสาร่วมในทำเป็นครุฑยุดนาค ก่อนถึงเพดานเป็นฝาแนวตั้งเรียกว่าผนังคอสอง เขียนภาพพระพรหม

8.ราวลูกกรงทำเป็นเทพพนมยืนเรียงรายโดยรอบเป็นครั้งแรก

สิ่งที่ยากที่สุดในการก่อสร้าง อ.อัครพล คล่องบัญชี หัวหน้าทีมงานกล่าวว่า “เป็นขั้นตอนและวิธีการทำงานเกี่ยวกับโลหะซึ่งไม่เคยทำมาก่อนและเป็นงานละเอียดอ่อน จึงต้องคินค้นรูปแบบวิธีการในการทำงานขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะ และชิ้นงานต้องถอดประกอบได้เพื่อสะดวกในการดูแลรักษา ที่สำคัญคือโลหะเมื่อโดนความร้อนจะบิดรูป ฉะนั้นต้องหาวิธีการแก้ไข และเสาทุกต้นประดับด้วยกระจกสีปีกแมลงทับก่อนปิดด้วยโลหะฉลุลวดลายลงรักปิดทองซึ่งต้องทำต้นแบบเป็นงานแกะไม้ก่อน”

เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ อันสวยงามวิจิตรนี้ใช้เวลาก่อสร้างเกือบ 2 ปี โดยใช้เงินก่อสร้างจากรายได้การขายบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ‘ศิลป์แผ่นดิน’ นอกจากนี้ ยังมีอีกผลงานประณีตศิลป์ชิ้นสำคัญภายในพระที่นั่งอนันตสมาคม คือ ‘ห้องปีกแมลงทับ’ ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการศิลปกรรมชิ้นพิเศษที่ประดิษฐ์ตกแต่งด้วยปีกแมลงทับ ปีกแมลงทับทั้งหมดที่ใช้ในการนี้มาจากแมลงทับที่ทิ้งตัวตายเองตามธรรมชาติ ซึ่งจะมีความแข็งแรง ทนทาน สีสวยเหลือบเงาตามธรรมชาติ

พิพิธภัณฑ์ ‘ศิลป์แผ่นดิน‘ จัดแสดงผลงานศิลปหัตถกรรมอันงดงามฝีมือของลูกหลานชาวไร่ชาวนาที่เข้ามาฝึกฝีมือที่โรงฝึกศิลปาชีพ (ซึ่งได้รับการยกสถานะขึ้นเป็น สถาบันสิริกิติ์ ในปี 2553) ผลงานที่สร้างขึ้นล้วนเป็นประณีตศิลป์ชั้นสูง มีความวิจิตรบรรจงถึงระดับฝีมือช่างหลวง หรือช่างแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้แก่ ช่างถมทอง ช่างเครื่องเงินเครื่องทอง ช่างคร่ำ ช่างลงยาสี ช่างปักผ้า ช่างแกะสลักไม้ ช่างเขียนลาย ฯลฯ ผลงานแต่ละชิ้นล้วนทรงคุณค่ายิ่ง แสดงถึงเอกลักษณ์เกียรติศักดิ์ และเกียรติภูมิของงานประณีตศิลป์ไทยที่ประกาศให้ชาวโลกได้ชื่นชม นับเป็นงานศิลป์ของแผ่นดินโดยแท้

……………………………………………………..

PHOTOS: สำนักพระราชวัง

Tags
royalty
Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.