นอกจากด้านการเมืองการปกครอง บูรพกษัตริย์ และ พระบรมวงศานุวงศ์ไทย หลายพระองค์ยังมี พระปรีชา หลากหลายด้าน ครั้งนี้ HELLO! ขอพาไปย้อนรอยพระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์ของพระมหากษัตริย์และ พระบรมวงศานุวงศ์ 3 พระองค์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ภายในงาน ‘มหกรรมวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2565’ (NSTFair Thailand 2022) ซึ่งมีการจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติ (Royal Pavilion) พระมหากษัตริย์และ พระบรมวงศานุวงศ์ไทย ณ อาคาร 9-10 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 13 – 21 สิงหาคม 2565

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 “พระราชบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”
ทรงวางรากฐานที่จะนำวิทยาการใหม่ ๆ ของตะวันตก ตลอดจนความรู้ทางวิทยาศาสตร์แผนใหม่ และเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหารประเทศ ทรงตั้งพระทัยติดตามศึกษาหาความรู้ และทรงพระปรีชาในศาสตร์หลายแขนง เพื่อนำพาสยามสู่อารยประเทศ โดยพระอัจฉริยภาพของพระองค์ที่เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศได้แก่ ทรงคำนวนสุริยุปราคาไว้ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ ทั้งยังทราบได้อย่างแตกฉานว่าเส้นศูนย์ของสุริยุปราคาจะผ่านมาใกล้ที่สุด ณ ตำบลหว้ากอ โดยที่พระองค์ทรงคำนวณขึ้นมาด้วยพระองค์เอง ดังนั้นทางประชาคมดาราศาสตร์สากล จึงได้เรียกสุริยุปราคาครั้งนั้นว่า King of Siam’s Eclipse หรืออุปราคาของพระเจ้ากรุงสยาม อันเป็นการเทิดพระเกียรติในพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์ของพระองค์อย่างสูงสุด

นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นผู้ริเริ่มความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์มากมายในสยามยุคนั้น ได้แก่ นำเข้ากล้องถ่ายรูปตัวแรก ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของวิทยาการถ่ายภาพในประเทศไทย, ทรงตั้งเวลามาตรฐานของสยามตามระบบการนับเวลาสากล, ทรงนำเข้าเครื่องพิมพ์และก่อตั้งโรงพิมพ์ เพื่อจัดพิมพ์ราชกิจจานุเบกษา, การปฏิรูปเงินตรา จากเงินพดด้วงเป็นเหรียญลักษณะกลมแบน และทรงตั้งโรงกษาปณ์สิทธิการ ภายในพระบรมมหาราชวัง เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย”
ทรงใช้วิทยาศาสตร์บันดาลความสมบูรณ์ เพราะทรงตระหนักถึงความจำเป็นในการดูแลดินให้อุดมสมบูรณ์ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม จึงได้ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริในการป้องกัน แก้ไข ปรับปรุงทรัพยากรดินให้เป็นในแนวทางที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรไทยทั่วหน้า ด้านเหตุนี้คนไทยและนานาประเทศจึงเทิดพระเกียรติพระองค์ในฐานะจอมปราญ์แห่งดิน สำหรับโครงการในพระราชดำริเกี่ยวกับดิน อาทิ โครงการแกล้งดิน โครงการหญ้าแฝก โครงการทดลองแก้ปัญหาดินเปรี้ยว จังหวัดนครนายก เป็นต้น


นอกจากนี้ยังทรงมีพระอัจฉริยภาพและทรงโปรดปรานด้านการถ่ายภาพอย่างมาก ดังที่จะเห็นภาพพระองค์ห้อยกล้องไว้ที่พระศออยู่เสมอ โดยสามารถจำแนกรูปถ่ายมากมายได้เป็น 2 ประเทศคือภาพถ่ายแนวจิตศิลป์ และภาพแสดงพระปณิธานในการพัฒนาประเทศ

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี “เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ และองค์สิริศิลปิน”
ทรงได้รับการยกย่องจากประชาคมโลกในฐานะนักวิทยาศาสตร์ ที่มีบทบาทสำคัญต่อวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสาธารณสุขของประเทศไทยและนานาชาติตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา ทรงทุ่มเทพระวรกายทรงงานอย่างหนักในการวางรากฐานด้านการรักษามะเร็งสำหรับคนไทย และทรงปกป้องประชาชนให้ห่างจากภัยมะเร็งในทุกวิถีทาง ทรงค้นพบพระองค์เองว่ามีอีกสิ่งหนึ่งที่ทรงรักและทรงมีความสุขทุกครั้งเมื่อได้ทรงงานนั้นคือ “งานศิลปะ” โดยทรงเป็นเจ้าฟ้าพระองค์แรกในประวัติศาสตร์ของพระราชวงศ์ไทย ที่ทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยกระทรวงวัฒนธรรมได้ทูลเกล้าถวายพระสมัญญา “สิริศิลปิน” มีความหมายว่า ศิลปินผู้ทรงสร้างสรรค์งานศิลปะงดงามหลายแขนง อันเป็นศรีมิ่งขวัญและเป็นมงคลยิ่ง ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์งานศิลปะ เพื่อนำไปต่อยอดหารายได้สมทบทุนมูลนิธิในพระดำริ จนเป็นที่ประจักษ์และจารึกอยู่ในดวงใจของไทยทุกคน


ภายในงานจัดแสดงภาพวาดฝีพระหัตถ์อันสวยงามให้ประชาชนเข้าชมอย่างใกล้ชิด ทรงสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้โดยทรงใช้สัญลักษณ์ คือ “เสือ” หมายถึง ความสัมพันธ์และความผูกพันอย่างลึกซึ้งในความเป็นผู้นำของอาณาจักร คือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร
สำหรับนิทรรศการเทิดพระเกียรติ และการจัดแสดงภาพวาดฝีพระหัตถ์จัดแสดงในงานมหกรรมวิทย์ฯ’ 65 สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมชมงาน ณ อาคาร 9-10 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 13 – 21 สิงหาคม 2565 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thailandnstfair.com