ตามประกาศสำนักพระราชวังเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีหมายกำหนดการ เสด็จ ฯ เยือนสหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 4 – 7 พฤษภาคม เพื่อทรงร่วม พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และ สมเด็จพระราชินีคามิลล่า เมื่อเวลา 08.03 น.วันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา (ตามเวลากรุงลอนดอน) ในหลวง และ ราชินี ฯ ประทับเครื่องบินพระที่นั่งของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เที่ยวบินที่ TG 8886 เสด็จฯ ถึงท่าอากาศยานลอนดอนสแตนสเตด (London Stansted) กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร โดยมี นายธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน, นายไซมอน ไบรท์ ผู้แทนพระองค์สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ, นายไมเคิล จอห์น ฮอลโลเวย์ ผู้แทนพิเศษของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาสหราชอาณาจักร เฝ้าฯ รับเสด็จ

หลังจากมีพระราชปฏิสันถารกับผู้เฝ้าฯ รับเสด็จแล้ว ประทับรถยนต์พระที่นั่งซึ่งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน จัดถวาย เสด็จฯ ไปยังโรงแรมเดอะ แลนด์มาร์ค ลอนดอน (The Landmark London) โรงแรมที่ประทับระหว่างการเสด็จฯ เยือนสหราชอาณาจักร โดยมีอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน, ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือ, ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก, ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศ พร้อมข้าราชการสถานเอกเอกอัครราชทูต และคู่สมรส รวมทั้งกรรมการบริหารโรงแรมเดอะ แลนด์มาร์ค ลอนดอน และคณะผู้บริหารโรงแรมเฝ้าฯ รับเสด็จ

ในการนี้ จะทรงร่วมงานเลี้ยงรับรองพระประมุข ประมุข และผู้แทนของประเทศต่าง ๆ ณ พระราชวังบักกิงแฮม ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 และจะทรงร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลล่า ณ มหาวิหารเวสต์มินตอร์ ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 เป็นการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

ทั้งนี้ บัญชีเฟซบุ๊ก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี : We love Her Majesty Queen Suthida Fanpage ระบุว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี “ฉลองพระองค์ผ้าขิดไหม ลายดอกไม้” พร้อมให้ข้อมูลว่า “ขวิด แปลว่า ผ้ายกดอกเรียก ผ้าขวิด หรือ ผ้าขิด เป็นกิริยาในการทอผ้า โดยการงัดซ้อนขึ้นหรือสะกิดซ้อนขึ้นเพื่อทำลวดลาย การทอผ้าขิดเป็นการสร้างลวดลายบนผืนผ้าด้วยการเพิ่มเส้นด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปเหมือนการจก แต่ลายขิดทำติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผืนผ้า เส้นด้ายยืนจะถูกสะกิดขึ้นโดยใช้ไม้แผ่นบาง ๆ เรียกว่า “ไม้ค้ำ” และสอดเส้นด้ายพิเศษเข้าไปตลอดหน้ากว้างของผืนผ้าเพื่อสร้างลวดลายที่ต้องการ ลวดลายขิดสามารถทำจากเครื่องมือที่เรียกว่า “เขา” โดยช้อนเส้นด้ายยืนขึ้นเพื่อสอดเส้นด้ายพิเศษ เส้นด้ายพุ่งและเส้นด้ายยืนจะขัดกันตามจังหวะที่ต้องการจนเกิดเป็นลวดลายต่าง ๆ ที่เห็นจากทั้งด้านหน้าและด้านหลังของผืนผ้า ความหลากลายของลายทอทั้งประเภท จำนวน และขนาดของลายที่ประกอบไปด้วยลายเรขาคณิต ลายประดิษฐ์ ลายที่เกี่ยวกับศาสนา ลายจากดอกไม้ใบไม้ตามธรรมชาติิ ลายรูปสัตว์ต่าง ๆ ลายเครื่องมือเครื่องใช้ ซึ่งลายเหล่านี้สะท้อนถึงภูมิปัญญาและขนบธรรมเนียมของท้องถิ่น ผ้าขิดมีหลายชนิด เช่น ขิดกาบ ขิดขอ ขิดช้าง ขิดดาว ขิดดอกแก้ว ขิดดอกบัว ขิดดอกต้าง ขิดดอกผักแว่น ขิดตาไก่ ขิดตามน ขิดม้า ขิดลอด ขิดส้อยพร้าว ขิดหมากมอน ขิดหมากโมง ขิดแอวขัน ขิดอิ้งหมากหวาย ขิดส้อยหมาก ขิดอุ้มหน่วย เทคนิคนี้ในสากลคือ continuous supplementary weft”

นอกจากนี้ ในโอกาสเสด็จฯ เยือนสหราชอาณาจักรวันแรก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ยังประดับเข็มกลัดเพชรและทับทิมรูปผีเสื้อที่พระอุระด้านซ้าย เข้ากับพระกุณฑล ข้อพระกร และพระธำมรงค์ทับทิม ทรงกระเป๋าย่านลิเภาสีดำ.

อ่านบทความเกี่ยวกับ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เพิ่มเติม