Home > Royalty > Thailand > ‘ในหลวง-ราชินีฯ’ เสด็จฯ ไปวางพวงมาลา และพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ ม.จ.ภีศเดช รัชนี

เมื่อเวลา 17.29 น. วันที่ 24 ก.ค. 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปในการ พระราชทานน้ำหลวงสรงศพ ท่านภี – ม.จ.ภีศเดช รัชนี ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

พระราชทานน้ำหลวงสรงศพ ม.จ.ภีศเดช รัชนี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปในการพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ ท่านภี – ม.จ.ภีศเดช รัชนี
พระราชทานน้ำหลวงสรงศพ ม.จ.ภีศเดช รัชนี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงวางพวงมาลาส่วนพระองค์

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงวางพวงมาลาส่วนพระองค์ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงวางพวงมาลาของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และทรงวางพวงมาลาส่วนพระองค์

พระราชทานน้ำหลวงสรงศพ ม.จ.ภีศเดช รัชนี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงวางพวงมาลาส่วนพระองค์ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงวางพวงมาลาของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และทรงวางพวงมาลาส่วนพระองค์

โอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศมณฑป ฉัตรเครื่องสูงทองแผ่ลวดตั้งประดับ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ ประโคมเวลาพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ และทรงรับศพอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมเวลากลางคืน กำหนด 7 วัน

พระราชทานน้ำหลวงสรงศพ ม.จ.ภีศเดช รัชนี
พระราชทานน้ำหลวงสรงศพ ม.จ.ภีศเดช รัชนี

สำหรับ ม.จ.ภีศเดช รัชนี หรือ ‘ท่านภี’ ทรงเป็นพระโอรสใน ‘พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์’ ต้นราชสกุล ‘รัชนี’ กับ ‘ม.จ.พรพิมลพรรณ รัชนี’ (ราชสกุลเดิม วรวรรณ) ประสูติเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2464 และมีพระกนิษฐาร่วมพระมารดาหนึ่งพระองค์คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต เป็นพระปนัดดา (เหลน) ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (วังหลวง) และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (วังหน้า) และเป็นพระนัดดา (หลาน) ในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (กรมพระราชวังสถานมงคลพระองค์สุดท้าย) นับเป็นพระราชวงศ์องค์สุดท้ายในสายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี พร้อมคณะองคมนตรี, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ รศ.นราพร จันทร์โอชา ภริยา ร่วมพิธี พระราชทานน้ำหลวงสรงศพ ท่านภี – ม.จ.ภีศเดช รัชนี

ท่านภีทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านประวัติศาสตร์ กฎหมาย และเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทรงสมัครเป็นทหาร สายลับของกองทัพอังกฤษ ระหว่าง พ.ศ. 2485 – 2489 หลังสงครามได้เสด็จกลับประเทศไทย จากนั้นใน พ.ศ. 2490-2505 ทรงงานในตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่ายโฆษณา บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย และเป็นผู้ริเริ่มการจัดทำเชลล์ชวนชิมเป็นครั้งแรก

ทรงเป็นผู้ติดตามใกล้ชิด โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มาตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ 8 และทรงดำรงตำแหน่ง ‘ผู้อำนวยการโครงการหลวง’ ตั้งแต่เริ่มโครงการใน พ.ศ. 2512 จนกระทั่ง ‘โครงการหลวง’ เปลี่ยนสถานภาพเป็น ‘มูลนิธิโครงการหลวง’ จึงทรงดำรงตำแหน่ง ‘ประธานมูลนิธิโครงการหลวง’ ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 จนถึง พ.ศ. 2560 โดยทรงงานสนองพระราชดำริด้วยความมุ่งมั่น ทำให้ชาวไทยภูเขามีอาชีพ สร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวจากการปลูกพืชเขตหนาวทดแทนฝิ่น เป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่สูงขยายความสำเร็จไปในพื้นที่สูงอื่นทั้งในและต่างประเทศ

คณะบุคคลสำคัญ อาทิ นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี, นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และ คุณชายอดัม – ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล ร่วมพิธี พระราชทานน้ำหลวงสรงศพ

นอกจากนี้ ท่านภียังได้รับการถวายรางวัล ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรผู้ทรงภูมิปัญญาและมีคุณูปการต่อภาคการเกษตรไทย ปี 2554 จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากทรงมีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ในระดับประเทศ และระดับนานาชาติด้านชีวิตส่วนพระองค์ ทรงเสกสมรสกับ ม.ร.ว.ดัชรีรัช วรวรรณ (ท่านผู้หญิง ดัชรีรัช รัชนี) มีโอรสและธิดารวม 3 คน ได้แก่ ม.ร.ว.ดัจฉราพิมล รัชนี, ม.ร.ว.ภวรี สุชีวะ และ ม.ร.ว.ธีรเดช รัชนี

ท่านภี ถึงชีพิตักษัย เนื่องจากปอดอักเสบติดเชื้อ ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันเสาร์ ที่ 23 กรกฎาคม 2565 เวลา 03.40 น. ชันษา 101 ปี

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก โครงการหลวง

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.