Home > Royalty > Thailand > ‘ในหลวง’ พระราชทานเงินกว่า 800 ล้านบาท ร่วมสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไป ทรงเปิดอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา การนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานอำนวยการจัดหาทุนอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษาทรงรอเฝ้าฯ รับเสด็จ

พร้อมด้วย ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลศิริราช ผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะกรรมการอำนวยการจัดหาทุน ตลอดจนประชาชนจำนวนมาก เฝ้าฯ รับเสด็จ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี  และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงวางพานพุ่มดอกไม้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก แล้วเสด็จฯ ไปยังศาลาศิริราช 100 ปี ทรงวางพานพุ่มดอกไม้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงกราบ ทรงศีล ประธานสงฆ์ถวายศีล จบแล้ว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ รศ.นพ.ไชยรัตน์ เพิ่มพิกุล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ศ.พญ.มณี  รัตนไชยานนท์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลและผู้อำนวยการโรงเรียนแพทย์ศิริราชเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรแด่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ศ.นพ.ธวัชชัย อัครวิพุธ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรแด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 

ต่อจากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานอำนวยการจัดหาทุนอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา และขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดอาคาร ฯ พร้อมทั้งทอดพระเนตรนิทรรศการ ‘นวมินทรบพิตรศิริราชานุสรณ์’ และพื้นที่ภายในอาคารฯ ตามลำดับ

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ  ไปยังแท่นพิธี ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมกระทั่ง แตร ดุริยางค์ ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ แล้วประทับพระราชอาสน์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก เสร็จแล้วพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา กราบบังคมทูลเบิกผู้ให้การสนับสนุนในการจัดสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ผู้มีอุปการคุณและผู้ทำคุณประโยชน์เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานของที่ระลึก

เสร็จแล้ว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ รศ.นพ.ไชยรัตน์  เพิ่มพิกุล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึกแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ศ.พญ.หญิงมณี  รัตนไชยานนท์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและผู้อำนวยการโรงเรียนแพทย์ศิริราชเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึกแด่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี  ศ.นพ.ธวัชชัย  อัครวิพุธ รองคณบดีฝ่ายบริหารคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึกแด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 

ทรงเปิดอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา
ทรงเปิดอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา

ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ออกจากศาลาศิริราช 100 ปี ไปยังอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ชั้น 1 และทอดพระเนตรนิทรรศการ ‘นวมินทรบพิตรศิริราชานุสรณ์’ ประกอบด้วย ศูนย์รังสีรักษา ศูนย์รังสีวินิจฉัย หอผู้ป่วยวิกฤติ และระบบหุ่นยนต์จ่ายยา

แล้วเสด็จไปยังชั้น B2 ศูนย์รังสีรักษา ทอดพระเนตรเครื่องมือรังสีรักษา (ซึ่งเป็นเครื่องฉายรังสีเร่งอนุภาคอิเล็กตรอน พร้อมระบบภาพนำวิถีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เครื่องแรกและเครื่องเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง) ก่อนเสด็จฯ ไปยังห้องประชุมใหญ่ชั้น 26 ทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธยในสมุดที่ระลึก 

ทรงเปิดอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา

แล้วเสด็จเข้าห้องประทับรับรอง ประทับพักพระอริยาบถ ตามพระราชอัธยาศัย สมควรแก่เวลาเสด็จฯ ไปยังบริเวณฉายพระบรมฉายาลักษณ์ ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะกรรมการจัดสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา  เสร็จแล้วเสด็จออกไปยังชั้น G เสด็จพระราชดำเนินกลับ โดยมีประชาชนจำนวนมากรอเฝ้าฯ รับเสด็จ พร้อมส่งเสียงถวายพระพร ‘ทรงพระเจริญ’ ด้วยความจงรักภักดีดังกึกก้องตลอดเส้นทางเฝ้าฯ รับเสด็จ

ประวัติโรงพยาบาลศิริราช และอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา

โรงพยาบาลศิริราชเป็นโรงพยาบาลหลวงแห่งแรกที่ ‘พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้จัดตั้งขึ้น พร้อมพระราชทานนามว่า ‘โรงศิริราชพยาบาล’ ในปี พ.ศ. 2431 โดยทำการบำบัดรักษาผู้ป่วยไข้ทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณของไทย

ทรงเปิดอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา

ปัจจุบันในแต่ละปีโรงพยาบาลศิริราชมีผู้เข้ารับบริการรักษาเป็นจำนวนมาก แบ่งเป็น ผู้ป่วยนอก ปีละประมาณ 3 ล้านคน และผู้ป่วยในปีละ 8.7 หมื่นคน ส่งผลให้โรงพยาบาลศิริราชไม่สามารถรองรับปริมาณผู้ป่วยที่มีจำนวนมากขึ้น ประกอบกับอาคารหลายหลังมีพื้นที่ให้บริการจำกัด ไม่สามารถขยายการบริการและตอบสนองต่อการพัฒนาด้านการรักษาด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า โครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์พร้อมระบบสาธารณูปโภคจึงเกิดขึ้น

การนี้ ในปี 2556 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อศูนย์การแพทย์ว่า ‘อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา’ ซึ่งมีความหมายว่า “อาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิม พระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงเป็นใหญ่ รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา”

ทรงเปิดอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา

ต่อมาปี 2560 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเงินจำนวน 100 ล้านบาทจากการจำหน่ายสมุดไดอารี่ภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์สมทบทุนสร้างอาคารฯ และปี 2562 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินจำนวน 700 ล้านบาทที่ประชาชนได้ร่วมกันทูลเกล้าฯ ถวายในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเงินรายได้จากการจัดงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว ‘สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์’ เพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์

สำหรับอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา เป็นอาคารสูง 25 ชั้น เป็นอาคารที่สูงที่สุดในโรงพยาบาลศิริราช สามารถบริการแบบเต็มศักยภาพโดยรองรับผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นประมาณ 5 แสนรายต่อปี ผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2 หมื่นรายต่อปี ขณะที่เตียง ICU เพิ่มขึ้นถึง 62 เตียง ภายในอาคารมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย มีการแบ่งส่วนงานบริการเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ ประกอบด้วย งานบริการผู้ป่วยนอก งานบริการผู้ป่วยใน และงานบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษ.

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.