Home > Royalty > Thailand > ‘ในหลวง – ราชินีฯ’ ทอดพระเนตรการแสดงออร์เคสตร้า ‘Royal Concert’

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการแสดงคอนเสิร์ต ออร์เคสตร้า Royal Concert – Orchestral Compositions by HRH Princess Sirivannavari ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยมี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้อำนวยการแสดงฯ และองค์อุปถัมภ์ มูลนิธิรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พร้อมด้วย คณะกรรมการมูลนิธิฯ เฝ้าฯ รับเสด็จ

ออร์เคสตร้า

สำหรับการแสดงคอนเสิร์ต Royal Concert มูลนิธิรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้าฯ จัดแสดงขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา 28 กรกฎาคม 2565 โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงรับเป็นผู้อำนวยการแสดง และโปรดให้วง Royal Bangkok Symphony Orchestra (RBSO) นำบทพระนิพนธ์ 4 บทเพลงมาบรรเลง อำนวยเพลงโดย Michel Tilkin (มิเชล เทนคิน) ผู้อำนวยการด้านดนตรี RBSO ร่วมด้วยศิลปินเดี่ยวเปียโน Titos Gouvelis (ทีโทส กูเวลีส) ศิลปินนักเปียโนชาวกรีก และ Niklas Liepe (นิคลาส ลีเปอร์) ศิลปินนักไวโอลินชาวเยอรมัน

ออร์เคสตร้า

การแสดงเริ่มรายการด้วยบทนิพนธ์ MYTHOS POETICA Suite for Orchestra เป็นดนตรีบรรยายเรื่องราวตามบทกวีนิพนธ์ที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงนิพนธ์ขึ้นโดยทรงได้รับแรงบันดาลพระทัยมาจากตำนานกรีกโบราณ บทเพลงบรรยายถึงเรื่องราวความรักในฉากพิพิธภัณฑ์ ระหว่างที่ชายหนุ่มนักสะสมงานศิลปะกำลังเยี่ยมชมผลงานแฟชั่นชั้นสูง เขาตกหลุมรักหญิงสาวที่มีความงดงามราวกับเทพธิดากรีก เธอมีดวงตาที่เปล่งประกายดั่งดวงดาวในท้องฟ้า แม้ว่าจะเป็นไปไม่ได้ที่จะครองรักกัน แต่มีเพียงสิ่งเดียวที่แน่นอน คือ ช่วงเวลาแห่งความสุขที่ทั้งสองได้มีร่วมกัน อยู่ในความทรงจำที่ไม่มีวันลบเลือน

MYTHOS POETICA ประกอบด้วย 5 ท่อน เหมือนเช่นบทเพลงพระนิพนธ์เพลงชุดสำหรับออร์เคสตราบทอื่น มีการใช้เครื่องดนตรี ‘Reform’ ที่พระองค์ทรงประดิษฐ์ขึ้น และยังคงเอกลักษณ์การใช้วงออร์เคสตราผสมวงดนตรีร็อก ที่ผสานด้วยดนตรีไฟฟ้าและเครื่องกระทบ (Percussion) รวมถึงเทคนิคการบรรเลงดนตรีที่หลากหลายเช่นเคย โดยมีท่อนเดี่ยวไวโอลินอยู่ใน Chapter I และ ท่อนเดี่ยวเปียโนประชันกับวงออร์เคสตราใน Chapter III 

ออร์เคสตร้า

ต่อด้วยบทเปียโนคอนแชร์โต Le Mariage de minuit Fantasie pour piano et orchestra เล่าถึงฉากแต่งงาน โดยนำบทเพลง Mythos Poetica มานิพนธ์ให้นักเปียโนได้แสดงความสามารถ ใช้เทคนิคขันสูงเพื่อเล่นประชันกับวงออร์เคสตรา ตามด้วยไวโอลินคอนแชร์โตแนวร่วมสมัย NEFRERETTA Concerto for Violin and Orchestra ประกอบด้วยบทเพลง 4 ท่อน ที่เต็มไปด้วยเนื้อหาและสีสันแห่งวัฒนธรรมไอยคุปต์ โดยมีไวโอลินทำหน้าที่พาผู้ฟังล่องลอยกลับไปสู่อดีตอันเรืองรอง ร่วมด้วยสุ่มเสียงอาราบิก เสียงกลองนานาชนิด และเครื่องกระทบ ที่ช่วยสร้างจินตภาพถึงความครึกครื้นของชุมชนต่าง ๆ อันคราคร่ำไปด้วยผู้คนและพ่อค้าวานิชจากทั่วทุกสารทิศ

ปิดท้ายที่ NEFRERETTA Suite for Orchestra บทเพลงพระนิพนธ์สุดยิ่งใหญ่สำหรับวงออร์เคสตร้า สะท้อนถึงพระจริยวัตรของพระองค์ผู้ทรงพระนิพนธ์ ที่มีความสนพระทัยเป็นพิเศษในด้านศิลปะ อารยะธรรม โบราณคดี และประวัติศาสตร์ เรียงร้อยผ่าน 4 ท่อน ประกอบด้วย Exotic New Tomb สุ่มเสียงลีลาดนตรีโบราณ, Flash of Two Worlds ความสง่างามที่หมุนเวียนไปตามเครื่องดนตรีต่าง ๆ, Oriental Libre (Oriental Love) อบอุ่นตรึงใจด้วยเสียงเปียโนที่เอ่ยถึงความรักอันหมายถึงการเดินทาง และ Divine Infinity สรุปความยิ่งใหญ่ของบทพระนิพนธ์ ด้วยเอกภาพของเครื่องดนตรีทุกทุกชิ้น กระหึ่มกึกก้องด้วยการผสานเทคนิคดนตรีคลาสสิคเข้ากับดนตรีร็อคร่วมสมัย

ออร์เคสตร้า

ในการนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการแสดง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ท.ภักดี แสง-ชูโต ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์ เชิญดอกไม้พระราชทานแก่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และทีมศิลปิน ประกอบด้วย มิเชล เทนคิน, ทีโทส กูเวลีส, นิคลาส ลีเปอร์ และ บิง ฮาน (Bing Han) นักไวโอลินสาวชาวจีน หัวหน้าวง RBSO ท่ามกลางเสียงปรบมือกึกก้องจากผู้ชม

Royal Bangkok Symphony Orchestra (RBSO)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับวงดุริยางค์รอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้าไว้ในพระราชูปถัมภ์ ตั้งแต่เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในปี พ.ศ. 2525 ต่อมามีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิชื่อ มูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อปี พ.ศ. 2528 และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อ Royal Bangkok Symphony orchestra (RBSO) จนถึงปัจจุบัน

ต่อมาเมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2561 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดงานดนตรีของวงรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า ให้เจริญก้าวหน้าและเผยแพร่ผลงานดนตรีสืบไป ด้วยพระปรีชาสามารถด้านดนตรี ที่ทรงได้รับแรงบันดาลพระทัยตั้งแต่เมื่อครั้งทรงพระเยาว์จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทำให้ทรงตระหนักและซาบซึ้งในคุณค่าของดนตรี

ที่ผ่านมาทรงนิพนธ์บทเพลงแล้ว จำนวน 8 บทเพลง และทรงตั้งพระทัยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาวงรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า ให้เป็นวงออร์เคสตร้าชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีความสามารถเทียบเท่าวงออร์เคสตร้าระดับนำในประเทศยุโรป ทรงรับเป็นองค์ประธานคณะกรรมการด้านดนตรีของวงรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า โดยทรงวางแผนงานการจัดการแสดงประจำปี โปรแกรมการแสดง รวมถึงการคัดเลือกนักดนตรีเข้าเป็นสมาชิกของวงรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้าอีกด้วย

ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า และประธาน บี.กริม. ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า “การแสดง Royal Concert ในครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนกัญญา ทรงพระกรุณารับเป็นผู้อำนวยการแสดง ทรงใส่พระทัยในทุกรายละเอียดตั้งแต่การออกแบบฉาก เวที แสง เสียง ทั้งยังทรงดูแลนักดนตรี และเข้าชมการฝึกซ้อม พร้อมพระราชทานคำแนะนำโดยไม่ถือพระองค์ ด้วยทรงทุ่มเทและมุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับวงดุริยางค์ซิมโฟนี ให้ทัดเทียมกับวง ออร์เคสตร้า ชั้นนำระดับโลก การแสดง Royal Concert จึงถือเป็นคอนเสิร์ตที่สร้างความปลื้มปีติทั้งกับผู้ชมและนักดนตรีอย่างแท้จริง”.

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.