พระประวัติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ (Princess Soamsawali) ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 ณ โรงพยาบาลกายส์ เขตเซาท์วาร์ก กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แรกประสูติทรงเป็นธิดาของ หม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร พระเชษฐาใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กับ ท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร (หม่อมเจ้าพันธุ์สวลี ยุคล) มีพระนามเดิมว่า ‘หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร’ โดยพระนาม โสมสวลี มีความหมายว่า “น้ำผึ้งพระจันทร์” ทรงมีพระขนิษฐา 1 คนคือ คุณน้ำผึ้ง – ม.ล.สราลี กิติยากร
พระชนม์ชีพในวัยเยาว์ พระองค์และคุณน้ำผึ้งเติบโตในวังเทเวศร์และได้รับการเลี้ยงดูอย่างสามัญ มีพระบิดาไปรับส่งที่โรงเรียน ทั้งนี้ ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เข้าศึกษาในระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา รุ่นที่ 5 ในปี พ.ศ. 2504 รุ่นเดียวกับ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี กระทั่งปี พ.ศ. 2510 ทรงลาออกจากโรงเรียนหลังจากสำเร็จการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และย้ายไปประทับที่เชียงใหม่ ตามบิดาที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยเข้าเรียนที่โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัยเป็นเวลา 2 ปี และเมื่อบิดาย้ายกลับมายังกรุงเทพมหานคร ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระยะหนึ่ง ก่อนย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนราชินีจนสำเร็จการศึกษาระดับ ม.ศ. 2 โดยโปรดวิชาภาษามากที่สุด

อภิเษกสมรส
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีอภิเษกสมรส ระหว่าง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร กับหม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี วังสระปทุม เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2520
พร้อมทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น ‘พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี’พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ต่อมา ทรงมีพระประสูติกาล สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2521

เฉลิมพระนาม
กระทั่งวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2534 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเฉลิมพระนามเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ โดยสร้อยพระนาม “พระวรราชาทินัดดามาตุ” หมายถึง “พระมารดาของพระราชนัดดาพระองค์แรกแห่งพระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐ”
ครั้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติและทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 พระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายใน ตามจารึกพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ด้วยเป็นพระมารดาผู้ทรงอภิบาลพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ กอปรกับทรงประกอบพระกรณียกิจสนองพระเดชพระคุณสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย

พระกรณียกิจ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถทรงมีความสนพระทัยในด้านสังคมสงเคราะห์ และการสาธารณสุข โดยใช้วังสวนกุหลาบเป็นสถานที่ทรงงาน และโปรดให้คณะบุคคลมาเข้าเฝ้าที่อยู่เสมอ ในการประทานสัมภาษณ์พิเศษรายการ “วู้ดดี้เกิดมาคุย” ทรงเคยรับสั่งถึงการถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ว่า พระองค์ทรงทำงานทุกวัน ใน 1 เดือนจะได้พักจริง ๆ ประมาณ 1 วัน และหลายคนก็มักจะถามพระองค์ว่าไม่เครียดหรือ แต่พระองค์ก็บอกว่าจะสามารถปรับอารมณ์ให้สนุกไปกับงานได้ โดยทรงคิดว่าไปงานแต่ละครั้งจะได้ความรู้ และประสบการณ์
“เคยลงหน่วยแพทย์หนักสุด ๆ ดูคนไข้ 700 คนต่อวัน ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวท่านสอนงานด้านหน่วยแพทย์ให้กับเรา และสอนเรื่องการวางตัว การดูแลคนไข้ หรือตอนที่ต้องไปดูงานศิลปาชีพ เราก็ต้องฝึกสานกระเป๋าเองด้วย แล้วก็ไปสอนชาวบ้านเอง การได้รับใช้พระเจ้าอยู่หัว ทำให้รู้ว่า ท่านให้ความสำคัญและรักประชาชนของท่านมาก” ทรงรับสั่ง
- โครงการ/มูลนิธิในพระอุปถัมภ์
- มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ทรงเป็นนายกกิตติมศักดิ์)
- มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา (ทรงเป็นนายกกิตติมศักดิ์)
- มูลนิธิศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากร
- มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย (ทรงดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์ตลอดพระชนม์ชีพ)
- มูลนิธิสงเคราะห์เด็กของศาลเยาวชนและครอบครัว
- มูลนิธิบ้านบางแค
- มูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย
- มูลนิธิสงเคราะห์เด็ก ของศาลเยาวชนและครอบครัว
- มูลนิธิสถาบันแสงสว่าง
- มูลนิธิธรรมจารินีวิทยา
- มูลนิธิสงเคราะห์เด็กของศาลเยาวชนและครอบครัว
- โครงการช่วยลดการติดเอดส์จากแม่สู่ลูก สภากาชาดไทย
- โครงการคืนชีวิตให้พ่อแม่เพื่อลูกน้อยที่ติดเอดส์
- กองทุนยาพระวรราชาทินัดดามาตุ สำหรับผู้ติดเชื้อเอดส์ สภากาชาดไทย
- กองทุนนมสำหรับเด็กในโครงการช่วยลดการติดเอดส์จากแม่สู่ลูก
- กองทุนโรคมะเร็งในเด็ก
- สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี
- สมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย
- สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่
- สมาคมพัฒนาแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย
- สภาแม่ดีเด่นแห่งชาติ
- โรงเรียนวรราชาทินัดดามาตุวิทยา
- วัดหนองน้ำขุ่น อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

ชีวิตส่วนพระองค์
พระองค์ชื่นชอบงานฝีมือฝึกฝนด้านหัตถกรรมอย่าง การร้อยพวงมาลัย, จัดดอกไม้ และเย็บปักถักร้อย โดยโปรดงานนิตติ้งมากที่สุด นอกจากนี้ยังโปรดการเล่นเครื่องดนตรี คือ กีตาร์ และเปียโน และยังสามารถทรงเครื่องดนตรีไทยได้บางชนิด ได้แก่ ระนาดเอก และฆ้องวง รวมถึงทรงมีพื้นฐานด้านบัลเลต์, ศิลปะการแสดง และการเต้นลีลาศ แต่สิ่งที่ทรงโปรดและเป็นที่รู้จักที่สุดคือการประกอบอาหารโดยปลายปี พ.ศ. 2553 ทรงประกอบอาหารแจกจ่ายไปยังประชาชนที่ประสบภัยในจังหวัดนครราชสีมา และหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชช่วงปลายปี พ.ศ. 2559 ทรงปรุงไก่ทอดประทานแก่ประชาชนที่มาร่วมถวายสักการะพระบรมศพด้วยพระองค์เอง
ก่อนประชวร พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถทรงประทับที่พักสองแห่งสลับกัน คือ วังเทเวศร์ และคอนโดใจกลางเมืองอีกแห่งหนึ่ง นอกจากโปรดการทำอาหาร พระองค์ยังโปรดการเลี้ยงปลาที่ริมแม่น้ำในวังเทเวศร์ และโปรดการดูแลกล้วยไม้ ซึ่งพระองค์ตรัสว่า กล้วยไม้ทุกต้นที่ประชาชนถวายให้ พระองค์จะให้นำมาปลูกไว้ ณ วังเทเวศร์ ส่วนสัตว์เลี้ยงทรงโปรดคือ ปลาทอง ไม่ว่าเสด็จไปประทับที่ใดก็ต้องเอาปลาทองที่ทรงเลี้ยงไปด้วย ทั้งนี้ พระองค์ยังทรงอุปการะ ‘คุณใบพลู – สิรพัชรา โสพัชรมณี’ ไว้ในพระอุปถัมภ์ ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก

ผลงานการแสดง
ในวัยเยาว์พระองค์เคยแสดงละครโทรทัศน์ครั้งแรกทางช่อง 4 บางขุนพรหม เรื่อง ขุนช้างขุนแผน ทรงรับบทเป็น นางพิมพิลาไลยในวัยเด็ก และเป็นนักแสดงประกอบในภาพยนตร์เรื่อง น้ำผึ้งขม (พ.ศ. 2517) ทั้งแสดงละครเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในบางวาระ นอกจากนี้พระองค์แสดงละครเวทีสองเรื่องคือ “รักษาป่า” และหลังจากอภิเษกสมรสกับอดีตพระราชสวามีก็ทรงแสดงละครเวทีเรื่อง “เกาะสวรรค์” ร่วมกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และหม่อมหลวงสราลี กิติยากร พระขนิษฐา
ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2557 ทรงร่วมแสดงในละครเวที เรื่อง ซูสีไทเฮา เดอะ มิวสิคัล ในบทนางนิวฮูลู่ ซึ่งเป็นมารดาของซูสีไทเฮา เพื่อหารายได้สมทบทุนมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยากของพระองค์ และในปลายปีเดียวกันนั้นพระองค์ได้ทรงร่วมแสดงในละครโทรทัศน์ทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เรื่อง รักเร่ ทรงรับบทเป็น พร้อมจิต ต่อมาใน พ.ศ. 2559 ทรงร่วมแสดงในละครเวทีเรื่อง ม่านประเพณี ประกาศิตอาญาสวรรค์ ในบทพระมหาเทวีสวรรค์

พระอาการประชวร
เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2561 สำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์เรื่อง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จไปประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ความว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ มีพระอาการปวด บวม และแดงที่บริเวณพระชงฆ์ (แข้ง) ซ้าย จึงได้กราบทูลเชิญเสด็จ ไปประทับรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ผลการถวายการตรวจพบสาเหตุจากการติดเชื้อของเนื้อเยื่อที่พระชงฆ์ (แข้ง) นั้น คณะแพทย์จึงได้ถวายพระโอสถปฏิชีวนะจนพระอาการดีขึ้นโดยลำดับ ครั้นวันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม 2561 ระหว่างประทับรักษาพระอาการปวดที่พระชงฆ์(แข้ง) นั้น มีพระอาการอ่อนแรงของพระหัตถ์และพระกรขวาเล็กน้อย ไม่มีพระอาการชา และทรงรู้พระองค์ดี คณะแพทย์ได้ถวายการตรวจเอกซเรย์พระสมองด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ และคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและให้การวินิจฉัยว่าเป็นภาวะพระสมองขาดพระโลหิตบางส่วน จึงได้กราบทูลขอประทานถวายพระโอสถต้านเกล็ดพระโลหิตและตรวจติดตามพระอาการอย่างใกล้ชิดต่อไป คณะแพทย์ได้กราบทูลขอประทานพระอนุญาตให้ประทับรักษาพระอาการประชวรและทรงงดพระกรณียกิจอีกระยะหนึ่ง
ทั้งนี้ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาได้รายงานว่า พระอาการโดยทั่วไปดีขึ้นมากจนเกือบเป็นปกติ สามารถเสด็จออกจากโรงพยาบาลกลับไปประทับที่วังเทเวศร์ได้ ในวันพุธที่ 19 กันยายน 2562 ตามแถลงการณ์สำนักพระราชวัง เรื่อง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จไปประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ฉบับที่ 3
ต่อมา เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562 สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ เรื่อง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จไปประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ฉบับที่ 4 ความว่า คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ได้รายงานว่า เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2562 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ทรงมีพระอาการปวดพระเศียร ร่วมกับพระวรกายด้านซ้ายอ่อนพระกำลังอย่างฉับพลัน คณะแพทย์ได้ถวายการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พบว่า มีพระโลหิตออกที่พระสมอง และความดันพระโลหิตสูง คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาด้วยพระโอสถและติดตามพระอาการอย่างใกล้ชิด คณะแพทย์ได้กราบทูลขอประทานพระอนุญาตให้ประทับที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และทรงงดพระกรณียกิจสักระยะหนึ่ง

พระกรณียกิจล่าสุด
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุธนารีนาถ นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ประธานกรรมการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ได้เสด็จทรงเยี่ยมชมงาน “เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) 2565 ณ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2565 เป็นพระกรณียกิจสุดท้าย.
Photo Credits
- https://thethaiger.com/th/news/784548/
- https://www.naewna.com/lady/504842
- https://www.thaiticketmajor.com/variety/ent/2695/
- https://www.nationtv.tv/entertainment/378518204
READ MORE: