พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (พระนามแบบย่อ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ) พระบรมราชินีนาถใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชชนนีใน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวง รัชกาลที่ 10 พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันของราชอาณาจักรไทย

วันพระราชสมภพ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง
พระราชประวัติ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระนามเดิม ‘หม่อมราชวงศ์ สิริกิติ์ กิติยากร’ เป็นพระธิดาองค์ใหญ่ของ ‘พลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ’ กับ ‘หม่อมหลวงบัว กิติยากร’ (ราชสกุลเดิม สนิทวงศ์) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ณ บ้านของ ‘พลเอก เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์’ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) บ้านของพระอัยกาฝ่ายพระราชมารดามีพระเชษฐา 2 คน คือ ‘ม.ร.ว.กัลยาณกิติ์ กิติยากร’ และ ‘ม.ร.ว.อดุลกิติ์ กิติยากร’ และมีพระขนิษฐา 1 คนคือ ‘ท่านผู้หญิงบุษบา สธนพงศ์’
พระนาม ‘สิริกิติ์’ ได้รับพระราชทานจาก ‘สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี’ มีความหมายว่า ‘ผู้เป็นศรีแห่งกิติยากร’

พระชนม์ชีพในช่วงวัยพระเยาว์
หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ‘หม่อมเจ้านักขัตรมงคล’ ทรงออกจากราชการทหาร โดยรัฐบาลแต่งตั้งให้ไปรับราชการในตำแหน่งเลขานุการเอก ประจำสถานทูตสยาม ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอมริกา ส่วนหม่อมหลวงบัวซึ่งมีครรภ์แก่คงพำนักอยู่ในประเทศไทย จนให้กำเนิดหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์แล้วจึงเดินทางไปสมทบ มอบหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ให้อยู่ในความดูแลของ เจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์ และท้าววนิดาพิจาริณี ผู้เป็นบิดาและมารดาของหม่อมหลวงบัว
หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ต้องอยู่ห่างไกลบิดามารดาตั้งแต่อายุยังน้อย บางคราวต้องระหกระเหินไปต่างจังหวัดตามเหตุการณ์ผันผวนทางการเมือง เช่น ในพ.ศ. 2476 หม่อมเจ้าอัปษรสมาน กิติยากร พระมารดาของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ได้ทรงรับนัดดาตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไปสงขลาด้วย
ปลายพ.ศ. 2477 หม่อมเจ้านักขัตรมงคลทรงลาออกจากราชการกลับประเทศไทยพร้อมครอบครัว อันมีหม่อมหลวงบัว หม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ บุตรคนโต และหม่อมราชวงศ์ บุษบา บุตรีคนเล็กผู้เกิดที่สหรัฐอเมริกา แล้วมารับหม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ บุตรคนรอง กับ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์จาก หม่อมเจ้าอัปษรสมาน กลับมาอยู่รวมกันที่ตำหนักซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนกรุงเกษม ปากคลองผดุงกรุงเกษม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
การศึกษา
- พ.ศ. 2479 – 2483 โรงเรียนราชินี
- พ.ศ. 2483 – 2489 โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์
- พ.ศ. 2491 – 2493 Riante Rive เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โรงเรียนประจำที่มีชื่อเสียงในการสอนวิชาพิเศษแก่กุลสตรี คือ ภาษา ศิลปะ ดนตรี ประวัติวรรณคดี และประวัติศาสตร์

ราชาภิเษกสมรส
หลังจากสงครามสงบแล้ว นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นคือ ‘นายควง อภัยวงศ์’ ได้แต่งตั้งให้หม่อมเจ้านักขัตรมงคลเป็นอัครราชทูตประจำประเทศอังกฤษ หม่อมเจ้านักขัตรมงคลจึงทรงพาครอบครัวทั้งหมดไปด้วยในกลางพ.ศ. 2489 ระหว่างที่อยู่ในประเทศอังกฤษ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เรียนเปียโน ภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสกับครูพิเศษ แต่อยู่ที่อังกฤษได้ไม่นาน พ.ศ. 2490 หม่อมเจ้านักขัตรมงคลก็ทรงย้ายไปเป็นอัครราชทูตประจำประเทศฝรั่งเศสและเดนมาร์ก ก่อนจะกลับมาเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศอังกฤษอีกครั้งหนึ่ง ระหว่างนี้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ยังคงตั้งใจเรียนเปียโนอย่างขะมักเขม้นเพื่อเตรียมสอบเข้าวิทยาลัยการดนตรีที่มีชื่อเสียงของกรุงปารีส
พ.ศ. 2491 ขณะที่หม่อมเจ้านักขัตรมงคลและครอบครัวอยู่ในปารีส ได้รับเสด็จ ‘สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช’ ซึ่งโปรดเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโรงงานทำรถยนต์ในกรุงปารีสอยู่เสมอ จนเป็นที่คุ้นเคยและต้องพระราชอัธยาศัย ฉะนั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประสบอุปัทวเหตุทางรถยนต์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ต้องประทับรักษาพระองค์ในสถานพยาบาล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หม่อมหลวงบัวพาบุตรี ทั้งสองคือหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์และหม่อมราชวงศ์บุษบาเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทเยี่ยมพระอาการเป็นประจำ จนพระอาการประชวรทุเลาลงและเสด็จกลับพระตำหนักได้
ต่อมาอีก 1 ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หม่อมเจ้านักขัตรมงคลและครอบครัวมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แล้วสมเด็จพระราชชนนีรับสั่งขอหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ต่อหม่อมเจ้านักขัตรมงคลและทรงประกอบพิธีหมั้นเป็นการภายใน ในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 ทรงใช้พระธำมรงค์ที่สมเด็จพระราชบิดาทรงหมั้นสมเด็จพระราชชนนีเป็นพระธำมรงค์หมั้น แล้วโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ศึกษาต่อไปจนถึงกำหนดตามเสด็จกลับมาถวายพระเพลิงพระบรมศพ ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล’ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2493
ระหว่างอยู่ประเทศอังกฤษ ม.ร.ว.สิริกิติ์ได้ศึกษาต่อทั้งวิชาภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส รวมถึงวิชาเปียโนกับครูพิเศษ หลังจากนั้นไม่นาน บิดาย้ายไปประเทศเดนมาร์กและฝรั่งเศสตามลำดับ ขณะที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ยังคงเรียนเปียโนและตั้งใจจะศึกษาต่อในวิทยาลัยการดนตรีที่มีชื่อเสียงของกรุงปารีสจนจบ ขณะอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ม.ร.ว.สิริกิติ์มีโอกาสรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร พระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งพระองค์เสด็จประพาสกรุงปารีสเพื่อทอดพระเนตรโรงงานทำรถยนต์
กระทั่งวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 มีพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม ‘สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า’ ทรงเป็นประธานพระราชทานน้ำพระพุทธมนต์และ เทพมนตร์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ได้ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย และในวันนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เป็น ‘สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์’
ต่อมาในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับเฉลิมพระบรมนามาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และทรงเฉลิมพระยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เป็น ‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี’

พระราชโอรสและพระราชธิดา
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ (ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี) ประสูติ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
- สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ (พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศร ราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว)
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดาฯ (สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดาฯ ปัจจุบันเฉลิมพระอิสริยยศ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิริธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี)
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ (สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี)

เฉลิมพระนามาภิไธย ‘พระบรมราชินีนาถ’
ปลาย พ.ศ. 2498 สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ผู้ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทยเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงแต่งตั้งสมเด็จพระบรมราชินีให้ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาแทน เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2499 และในวันที่ 5 ธันวาคม ปีเดียวกันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทรงพระผนวชตามโบราณราชประเพณี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งสมเด็จพระบรมราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ภายหลังเมื่อทรงลาผนวชแล้ว ได้ทรงสถาปนาพระราชอิสริยยศสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีขึ้นเป็น ‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ’ อันมีความหมายว่าทรงเป็นที่พึ่งของประชาชน นับเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์ที่ 2 ของไทยต่อจาก ‘สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ’ ซึ่งทรงปฏิบัติราชการแทนพระองค์เมื่อครั้ง ‘พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ เสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรป

พระราชกรณียกิจ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยสังเขป
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชชนีพันปีหลวง ทรงประกอบพระราชกรณียกิจมากมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตพสกนิกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ด้านการส่งเสริมอาชีพ และความเป็นอยู่ของเด็ก สตรี และผู้ที่อยู่ชายขอบ หนึ่งในโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างมากคือ ‘โครงการส่งเสริมศิลปาชีพ’ ซึ่งภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ก่อตั้งเป็นมูลนิธิ พระราชทานนามว่า ‘มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในพระบรมราชินูปถัมภ์’ และเปลี่ยนเป็น ‘มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ’ เมื่อ พ.ศ. 2528 อันเป็นการส่งเสริมอาชีพและขณะเดียวกันยังอนุรักษ์และส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทยหลากหลายสาขา
นอกจากนี้ยังทรงเอาพระทัยใส่ในกิจการ ด้านสาธารณสุข โดยได้ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทย และหากเสด็จฯ เยือนต่างประเทศ ก็มักจะทรงถือโอกาสเสด็จฯ ทอดพระเนตรกิจการกาชาดของประเทศนั้น ๆ เพื่อทรงนำมาปรับปรุงกิจการสภากาชาดไทยอยู่เสมอ
ใน ด้านการเกษตร ทรงเน้นในเรื่องของการค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชใหม่ ๆ ทั้งพืชเศรษฐกิจ พืชสมุนไพร รวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช และพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งแต่ละโครงการจะเน้นให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง มีราคาถูก ใช้เทคโนโลยีง่าย ไม่สลับซับซ้อน เกษตรกรสามารถดำเนินการเองได้ อาทิ โครงการฟาร์มตัวอย่าง ตามพระราชดำริฯ ซึ่งปัจจุบันมีการขยายโครงการไปมากกว่า 49 แห่งทั่วประเทศ
พระราชกรณียกิจอีกด้านที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้ความสำคัญเสมอคือ ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์ป่าไม้ผ่านโครงการ ‘บ้านเล็กในป่าใหญ่’ รวมถึง ‘โครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล เกาะมันใน’ ที่พระองค์พระราชทานเกาะมันใน จ.ระยอง จัดเป็นศูนย์กลางอนุรักษ์และเพาะขยายพันธุ์เต่าทะเล พระราชทานชื่อว่า โครงการสมเด็จฯ อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล และ โครงการแก้ไขปัญหาช้างป่าตามแนวพระราชดำริฯ เป็นต้น

พระอาการประชวร สมเด็จพระพันปีหลวง
เช้าตรู่วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเวียนพระเศียรและเซขณะทรงออกพระกำลัง ณ โรงพยาบาลศิริราชที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชประทับอยู่ คณะแพทย์ตรวจพระองค์โดยวิธีสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็กแล้วแถลงว่า ทรงประสบภาวะพระสมองขาดเลือด (ischemic stroke) พระองค์จึงประทับรักษาพระวรกายอยู่ ณ โรงพยาบาลศิริราชและทรงงดเว้นพระราชกิจนับแต่นั้น
วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ปรากฏพระองค์ ขณะเสด็จฯ ตามพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชออกจากโรงพยาบาลศิริราช โดยทรงโบกพระหัตถ์ให้แก่ประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ ก่อนเสด็จกลับพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
ทั้งนี้ สำนักพระราชวัง มีแถลงการณ์ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2562 เรื่อง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ ไปประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ความว่า “คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้รายงานว่า คณะแพทย์ ฯ ได้ขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย เมื่อวันที่ 7 กันยายน พุทธศักราช 2562 เพื่อติดตามพระอาการ และถวายการตรวจเพิ่มเติมตามกำหนดการเดิมที่ได้วางไว้” จึงประกาศมาให้ทราบโดยทั่วกัน สำนักพระราชวัง 8 กันยายน พุทธศักราช 2562

เฉลิมพระนามาภิไธย ‘พระบรมราชชนนีพันปีหลวง’
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 5 พฤษภาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมราชชนนี ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า ‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง’.

ในโอกาสมหามงคล วันเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นการส่วนพระองค์ พร้อมด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์.