เมื่อเวลา 16.05 น. วันที่ 1 สิงหาคม 2565 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงเปิดงาน วันสตรีไทย ประจำปี 2565 ณ ทรู ไอคอน ฮอลล์ ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม โดยมี นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานวันสตรีไทย ประจำปี 2565 และ นางพาสินี ลิ่มอติบูลย์ ประธานกรรมการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด และคณะ เฝ้าฯ รับเสด็จ

ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ผู้ทำคุณประโยชน์ สตรีไทยดีเด่น ประจำปี 2563 – 2565 เฝ้าฯ รับพระราชทานเข็มที่ระลึก และเกียรติบัตร เสร็จแล้ว ทรงจุดเทียนเปิดงาน ‘วันสตรีไทย ประจำปี 2565‘ และพระราชทานพระราชดำรัส ใจความว่า “ตั้งแต่ข้าพเจ้าจำความได้ ก็ได้เห็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระราชอุตสาหะปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ เคียงข้าง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน และพัฒนาประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน
ในบรรดาพระราชกรณียกิจนานัปการนี้ ยังมีงานที่ทรงรับเป็นพระราชภาระอย่างสำคัญ นั่นคือ การส่งเสริมให้สตรีไทยในท้องถิ่นต่าง ๆ สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านเป็นอาชีพเสริม ควบคู่ไปกับอาชีพหลักคือเกษตรกรรม ทรงเชื่อมั่นว่า คนไทยทุกคนมีศิลปะอยู่ในสายเลือดและจิตวิญญาณของการเป็นช่างฝีมือ ดังที่ได้พระราชทานพระราชดำรัสไว้ครั้งหนึ่งว่า ทรงภูมิใจเสมอมาว่าคนไทยมีสายเลือดของช่างฝีมืออยู่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ชาวนาหรืออาชีพใด อยู่แห่งหนตำบลใด คนไทยมีความละเอียดอ่อนและฉับไวต่อการรับศิลปะทุกชนิด ขอเพียงแต่ให้ได้มีโอกาสฝึกฝน ก็จะแสดงความสามารถออกมาให้เห็นเด่นชัด

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สืบสาน รักษา และสร้างสรรค์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ทั้งให้หาครูและผู้เชี่ยวชาญมาช่วยฝึกอบรม รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาผลงาน ร่วมกับชาวบ้านในท้องถิ่นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จนกลายเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้เพิ่มให้แก่ทุกครัวเรือน นับเป็นต้นกำเนิดของโครงการศิลปาชีพพิเศษ และมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในปัจจุบัน
พระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติบำเพ็ญมาตลอดระยะเวลาอันยาวนานนั้น ล้วนมีส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิต ฐานะความเป็นอยู่ตลอดจนบทบาทและสถานภาพของสตรีไทยให้สูงขึ้น ทรงเป็นทั้งแบบอย่างอันประเสริฐและแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ ให้สตรีไทยตระหนักถึงศักยภาพของตน และสามารถพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ นำไปใช้สร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่ตนเอง แก่ครอบครัว แก่สังคม และแก่ประเทศชาติได้
ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษานี้ ข้าพเจ้าจึงขอเชิญชวนให้สตรีไทยและเยาวสตรีไทยทุกคน ตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง และตั้งใจพยายามพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพราะเราทุกคนต่างก็มีศักยภาพที่จะเป็นพลังสร้างสรรค์สังคมไทย และพัฒนาชาติบ้านเมืองได้ด้วยกันทั้งสิ้น และจะเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณได้อย่างดีที่สุดสมกับที่ทรงอุทิศพระองค์ดังพระราชสมัญญา แม่ของแผ่นดิน มาโดยตลอด และจะทรงเป็นแม่ในใจของคนไทยตราบชั่วนิรันดร์กาล”
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชพระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันสตรีไทย ประจำปี 2565

จากนั้น เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และนิทรรศการของสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และทอดพระเนตรกิจกรรมของหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมงาน เมื่อสมควรแก่เวลา จึงเสด็จฯ กลับ
โอกาสนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ฉลองพระองค์สากลนิยมซึ่งตัดเย็บจากผ้าไหมสีฟ้า อันเป็นสีวันพระราชสมภพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระอุระด้านซ้ายประดับเข็มกลัดพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงประดับเพชร ทรงพระกุณฑลเพชรประดับไข่มุก เข้าชุดกับสร้อยพระศอและสร้อยข้อพระหัตถ์ไข่มุก

สำหรับประวัติ วันสตรีไทย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตให้วันที่ 1 สิงหาคม ของทุกปีเป็น ‘วันสตรีไทย’ และพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ ‘ดอกกล้วยไม้ คัทลียา ควีนสิริกิติ์’ เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำวันสตรีไทย ตั้งแต่พุทธศักราช 2546 เป็นต้นมา สภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และภาคีเครือข่าย จึงร่วมกันจัดงานวันสตรีไทย สืบเนื่องมาเป็นประจำทุกปี

ส่วนการจัดงานปีนี้มีการจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม 2565 ภายใต้ชื่อ ’พระบารมีส่องหล้า ต่อยอดการพัฒนาสตรีไทย’ และคัดเลือก ‘สตรีไทยดีเด่น’ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติสตรีไทยที่ประกอบคุณงามความดีทำประโยชน์แก่ชุมชน และสังคม
ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุนศักยภาพสตรีไทย ในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ รวมถึงการรวมพลังกลุ่มองค์กรสตรีทั่วประเทศ ด้วยการร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน พร้อมใจกันทำความดีถวายเป็นพระราชกุศล.